“มาริษ” จับเข่าคุยทูตกลุ่มประเทศ ACMECS 5 ประเทศหารือแนวทางการร่วมแก้ปัญหาแม่น้ำโขงท่วม-น้ำแล้ง - ยืนยันประเทศไทยพร้อมเป็นหัวหอกระดมกำลังเสริมสร้างความสามารถการบริหารจัดการแม่น้ำโขงร่วมกัน
นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หารือร่วมกับเอกอัครราชทูตกลุ่มสมาชิกยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง: Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy หรือ ACMECS (แอ็กเม็กส์) จำนวน 5 ประเทศประจำประเทศไทย ประกอบด้วย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย เพื่อริ่เริ่มความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยลุ่มน้ำโขง ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ แสวงหาความร่วมมือกับกลุ่มประเทศ ที่ได้รับผลกระทบต่อแม่น้ำโขงโดยเร็วที่สุด
นายมาริษ ยืนยันว่า ประเทศไทย พร้อมเป็นหัวหอก ในการระดมสรรพกำลัง ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำระหว่างประเทศ โดยจะใช้กรอบความร่วมมือของประเทศในอนุภูมิภาค ACMECS เป็นกลไกสำคัญ ในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งของแม่น้ำโขงในระยะยาว รวมถึงใช้กลไกสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง หรือ Mekong Institute) และคณะกรรมการแม่น้ำโขง หรือ Mekong River Commission : MRC ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ความรู้ด้านวิชาการ และเสริมสร้างขีดความสามารถในการบริหารจัดการแม่น้ำโขงร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้า การขุดลอกแม่น้ำ การพัฒนาพื้นที่รับน้ำ และโครงสร้างพื้นฐานในการบริหารจัดการแม่น้ำโขงต่อไปในอนาคต
“ขอขอบคุณท่านเอกอัครราชทูตประเทศสมาชิก ACMECS ประจำประเทศไทย ได้แก่ กัมพูชา เมียนมา ลาว เวียดนาม ที่มาร่วมหารือพร้อมตอบรับข้อริเริ่มในการร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยลุ่มน้ำโขงในวันนี้ เพราะความทุกข์ของพี่น้องประชาชนรอไม่ได้ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จึงได้มอบหมายให้ผมแสวงหาความร่วมมือจากกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจากแม่น้ำโขงโดยเร็วที่สุด” นายมาริษ กล่าว
ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง: Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy หรือ ACMECS ริเริ่มในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ปี 2546 และเป็นกรอบความร่วมมือที่ประเทศไทย เป็นประเทศผู้ประสานงาน โดยกรอบความร่วมมือนี้มาจากแม่น้ำสำคัญ 3 สายในภูมิภาคที่ไหลผ่านประเทศสมาชิก ได้แก่ แม่น้ำอิรวดี ที่ไหลผ่านประเทศเมียนมา, แม่น้ำเจ้าพระยา ไหลผ่านประเทศไทย และแม่น้ำโขง ไหลผ่านประเทศไทย, สปป.ลาว, กัมพูชา และเวียดนาม มีเป้าหมายหลักเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เช่น การค้าการลงทุน การท่องเที่ยว และการเกษตร โดยที่ประเทศไทย เห็นโอกาสในการสนับสนุนประเทศเพื่อนบ้าน พัฒนาประเทศได้ดีขึ้นตามนโยบาย “prosper-thy-neighbour” หรือ การทำนุบำรุงเพื่อนบ้านให้เจริญ เพราะหากทุกคนมีความเป็นอยู่ที่ดี ก็จะเกื้อหนุนประโยชน์แก่ประชาชนร่วมกันได้มาก