ไอลอว์จัดเสวนา "จาตุรนต์" หวั่น ประชามติรอบแรกไม่มีผลทาง กม. เหตุสภาฯ ยังไม่เริ่มแก้ รธน. "อังคณา" เดาใจ สว.ไม่ถูก เอายังไงกับพ.ร.บ.ประชามติ เห็นพ้อง "ณัฐพงษ์" ชวนสังคมกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทำปธ.สภาฯ บรรจุวาระ
วันนี้ (19ก.ย.) เมื่อเวลา 18.00 น. ที่รัฐสภา โครงการอินเทอร์เนตเพื่อประชาชน (ไอลอว์) จัดเสวนา ‘รัฐธรรมนูญใหม่ ทันสามปี ต้องมี สสร.’ ในกิจกรรมรัฐธรรมนูญใหม่ ไปกันต่อ สสร.เลือกตั้ง โดยมีนายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.), นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.), นางอังคณา นีละไพจิตร สว. ร่วมเสวนา
โดยนายจาตุรนต์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ตอนนี้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประชามติจะเสร็จทันใช้ในเดือนกุมภาพันธ์หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับ สว. ปัญหาคือการทำประชามติครั้งแรก พอทำจริงๆ จะมีใครไปร้องเรียนและศาลรัฐธรรมนูญจะว่าอย่างไร เพราะไม่มีการรองรับตามรัฐธรรมนูญ การทำประชามติก่อนที่สภาฯ จะแก้รัฐธรรมนูญไม่มีในสารบบ เพียงแต่คณะกรรมการของรัฐบาลชุดที่แล้วเชื่อว่าต้องทำ
นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า ดังนั้น ต้องแก้ปัญหาคือพรรคการเมืองอย่างน้อย 2 พรรค คือพรรค พท. และอดีตพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เสนอแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่สภาไม่ได้บรรจุ จึงกลายเป็นปัญหา ดังนั้น หากสภาฯ ต้องการแก้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องทำประชามติก่อน ปัญหาตอนนี้คือรัฐสภายังไม่ได้แสดงความต้องการ รวมถึงนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ยังไม่บรรจุวาระ ถ้าจะให้กระบวนการไปได้เร็วและทำประชามติครั้งแรก ที่ทำแล้วมีผลแน่ๆ คือประธานสภาฯ ต้องบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่วาระและมีมติ ซึ่งเสียงเกินครึ่งสภาผู้แทนราษฎรน่าจะทำได้ แต่ สว.ต้องได้เสียงเกิน 1 ใน 3 ส่วนจะบรรลุได้อย่างไรนั้น เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันคิดและต้องมีการหารือในสภาและให้ประธานสภาฯ ตอบ ตนคิดว่าน่าจะมีช่องทาง เพราะเมื่อมีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไปที่ประธานสภาฯ แล้ว แต่ไม่บรรจุก็น่าจะทวงถามได้
“ถ้าจะทำประชามติ 3 ครั้ง ทำอย่างไรให้ทำได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งมีการเลือกตั้ง อบจ. จะได้ทำประชามติไปพร้อมกัน เพื่อไม่ให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย แต่ปัญหาคือการทำประชามติในขณะที่สภายังไม่พิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ อาจมีคนไปร้องเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ แม้ประชาชนจะลงมติผ่าน เห็นชอบ แต่ก็ไม่มีผล และหากผ่านไปแล้ว สว.ไม่มาลงมติก็ไม่มีผล ทั้งนี้การทำประชามติ 3 ครั้ง เพราะกลัวว่า สว. ชุดที่แล้วจะถือเป็นข้ออ้างว่าไม่ทำประชามติก่อน ปัญหาจึงเป็นผลผูกพันจากการที่รัฐธรรมนูญให้ สว. มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ดังในรอบใหม่นี้ จึงต้องดูว่า สว. ที่มาแบบใหม่จะเป็นอย่างไร และจะมี สว. มาร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงพอหรือไม่” นายจาตุรนต์ กล่าว
ขณะที่นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลคือเรื่องไทม์ไลน์การทำประชามติ 3 ครั้ง เกรงว่าจะไม่ทันการเลือกตั้งครั้งหน้า เรื่องนี้ติดที่ประธานรัฐสภาจริงๆ ที่ยังไม่บรรจุวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะมองว่ากับฝ่ายกฎหมายของรัฐสภาที่เสนอว่าต้องทำประชามติก่อน ตั้งแต่สมัยนายชวน หลีกภัย อดีตประธานสภา มาถึงนายวันมูหะมัดนอร์ ตนและพรรค ก.ก.เห็นว่าในเรื่องความจำเป็นทางกฎหมายไม่จำเป็นต้องทำประชามติ 3 ครั้ง เพราะคำวินิจัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้บอกว่าต้องทำ 3 ครั้ง แต่ที่ต้องมาถกกันคือความจำเป็นทางการเมืองที่ประธานสภาไม่บรรจุวาระ ดังนั้น จึงต้องช่วยกันรณรงค์ทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้สังคมช่วยกันกดดันว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบได้หรือไม่ นอกจากนั้นตนยังมีข้อห่วงใยในเรื่องคำถามประชามติ ที่จะเป็นปัญหาต่อไปด้วย
ด้านนางอังคณา กล่าวว่า ตอนที่ร่าง พ.ร.บ. ประชามติเข้าสภาฯ คิดว่าหากพิจารณา 3 วาระน่าจะเป็นประโยชน์ แต่หลายคนบอกว่ายังมีเวลา หลายคนย้ำในเรื่องเสียงข้างมาก และอ้างกฎหมายที่ไม่เกี่ยวข้องต่างๆ เวลานี้ อยู่ระหว่างตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ ประชามติ ตอนนี้ดูไม่ออกว่ามี สว.ติดใจเรื่องเสียงข้างมากหรือไม่ ซึ่งจะทำให้กระบวนการล่าช้าหรือไม่ และต้องมีการตั้งกมธ.ร่วมระหว่าง สส. และสว.ขึ้นมาพิจารณาใหม่หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ร่างพ.ร.บ.ประชามติมาถึงขั้น สว.แล้ว แต่รัฐสภายังไม่บรรจุวาระ ว่าถึงเวลาที่ต้องแก้รัฐธรรมนูญหรือยัง ตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องตั้งคำถาม นอกจากในสภาแล้ว ภาคประชาชนต้องร่วมกดดันมายังประธานรัฐสภาด้วย