xs
xsm
sm
md
lg

“อัครา” แจง แนวทางแก้ปัญหาน้ำ จ.เพชรบูรณ์ ย้ำ กรมชลฯ มีแผนระยะยาว แก้ภัยแล้งและน้ำท่วมอย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (19 ก.ย.) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภา นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายจาก ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้มาตอบกระทู้ถามของ นายอัคร ทองใจสด สส.เพชรบูรณ์ พรรคพลังประชารัฐ ที่ถามถึงแนวทางการแก้ปัญหาน้ำในจังหวัดเพชรบูรณ์ที่ประสิทธิภาพยังไม่ดีพอ ที่จะรองรับต่อการใช้งานได้อย่างทั่วถึงในอีกหลายๆ พื้นที่ของจังหวัด รวมถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำนับเป็นสิ่งที่เร่งด่วนและสำคัญต่อการดำรงชีวิตของประชาชนเป็นอย่างมาก จึงอยากทราบว่า รัฐบาลจะมีแผนบริหารจัดการน้ำรวมถึงแผนงานโครงการแก้ไขปัญหาน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร รวมถึงการบรรเทาอุทกภัยและบรรเทาภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำอย่างสมบูรณ์ได้อย่างไร รวมถึงความก้าวหน้าโครงการฝายยางบ้านท่า ในอำเภอศรีเทพ อยู่ในขั้นตอนไหนแล้ว

ต่อมา นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตอบกระทู้ดังกล่าว ว่า รัฐบาลได้เตรียมแผนการรองรับภาวะโลกร้อนที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง ช่วงหน้าแล้งก็ประสบปัญหาน้ำไม่พอใช้ ช่วงหน้าฝนก็มีฝนตกชุก ปริมาณน้ำฝนสะสมทำให้เกิดอุทกภัยหลายพื้นที่ ทุกครั้งที่ได้มีการหารือร่วมกับ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ท่านได้มอบนโยบายให้ทุกกลุ่มของทุกหน่วยงานในกระทรวงเกษตรได้เห็นความสำคัญและร่วมกันวางแผนการบริหารจัดการน้ำระยะยาวทั้งภัยแล้งและปัญหาอุทกภัยซ้ำซาก

นายอัครา ชี้แจงต่อว่า กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทานมีแผนการบริหารจัดการน้ำทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ทั้งหมด 7.7 ล้านไร่ ปริมาณฝนเฉลี่ย 1,140 มิลลิเมตรต่อปี ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ย 4,241 ล้านลบ.ม.ต่อปี ซึ่ง จ.เพชรบูรณ์ มีแม่น้ำป่าสักเป็นแม่น้ำสายหลัก ที่ไหลจากทางตอนเหนือสู่ตอนใต้ รวมความยาว 350 กิโลเมตร และยังรวมถึงลำน้ำสาขาที่ไหลลงสู่แม่น้ำป่าสัก โดยปัจจุบันกรมชลประทาน ได้มีการพัฒนาแหล่งน้ำ ที่สามารถเก็บกักปริมาณน้ำไว้ให้พี่น้องประชาชนจังหวัดเพชรบูรณ์และจังหวัดอื่นๆ ใกล้เคียงได้ใช้ปริมาณทั้งสิ้น 251.41 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็น 6.5% ของปริมาณน้ำท่าใน จ.เพชรบูรณ์

โครงการที่กรมชลประทานได้ดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำไปแล้วมีจำนวนทั้งหมด 14 โครงการ ได้เก็บกักปริมาณน้ำไว้ให้พี่น้องประชาชนไว้ใช้ทั้งหมด 251.4 ล้าน ลบ.ม.และประชาชนที่ได้รับผลประโยชน์ รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 214,037 ไร่ ส่วนที่กรมชลประทานอยู่ระหว่างการดำเนินการมีทั้งสิน 9 โครงการ เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ทั้งหมด 7.97 ล้าน ลบ.ม.ทำให้ประชาชนในจังหวัดเพชรบูรณ์ได้รับผลประโยชน์ทั้งสิ้น 89,000 ไร่

นายอัครา ยังกล่าวต่อถึงพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ กรมชลประทานมีแผนงานโครงการแก้ไขปัญหาอุทักภัยและภัยแล้ง ทั้งสิ้น 40 โครงการ แยกเป็นโครงการที่เกี่ยวกับอ่างเก็บน้ำ 26 แห่ง เช่น อ่างเก็บน้ำบ้านปากช่อง ฝายจำนวน 1 แห่ง ระบบส่งน้ำจำนวน 4 แห่ง และโครงการเพิ่มศักยภาพจำนวน 9 แห่ง สำหรับ 40 โครงการนี้ ดำเนินการไป 10 โครงการเก็บกักน้ำได้ทั้งสิ้น 524.57 ล้าน ลบ.ม. ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลประโยชน์ 299,424 ไร่และเมื่อรวมโครงการดำเนินการทั้งหมดแล้วเสร็จ จะทำให้ประชาชนในจังหวัดเพชรบูรณ์ มีปริมาณเก็บกักน้ำทั้งสิ้น 783.95 ล้าน ลบ.ม. และพื้นที่รับประโยชน์เพิ่มขึ้นเป็น 602,461 ไร่

นอกจากนี้ ยังมียังแผนการดำเนินงานเกี่ยวกับการบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่เทศบาลเมืองหล่มสัก เพื่อบริหารจัดการปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่ลุ่มน้ำตอนบน จะเป็นแผนงานผ่านน้ำเลี่ยงเมืองเทศบาลเมืองหล่มสัก ระยะทางทั้งสิ้น 30 กิโลเมตร ถ้าดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถระบายน้ำได้ 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งโครงการนี้อยู่ในแผนการศึกษาในปี 2569

ส่วนแผนการดำเนินงานของกรมโยธาธิการและผังเมืองมีทั้งหมด 3 โครงการ

1. โครงการระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนตาลเดี่ยว ระยะที่หนึ่งโครงการนี้อยู่ที่อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ งบประมาณที่ขอทั้งสิ้น 193,369,800 บาท ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ 850 วัน ปัจจุบันผลการดำเนินงานแผนงานสำเร็จลุล่วงไป 64.07% และผลงาน 65.98%

2. โครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนตาลเดี่ยวระยะที่สอง อยู่ที่อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ งบประมาณที่ขอ 266,849,000 บาท ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการทำการทั้งสิ้น 900 วัน แผนงานทั้งสิ้น 8.17% และผลงาน 22.11%

3. โครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนหล่มเก่า ระยะที่หนึ่ง อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ของบประมาณทั้งสิ้น 217,659,000 บาท ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการทั้งสิ้น 185 วัน ผลการดำเนินงานแผนงาน 7.79% และผลงาน 4.59%

ส่วนกรณีที่ถามถึงน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ในส่วนของการประปา ดำเนินการจำนวนทั้งสิ้น 9 แผนงาน คือ การปรับปรุงระบบผลิต และระบบกระจายน้ำประปาประกอบไปด้วย โครงการที่ขอสนับสนุนงบประมาณทั้งสิ้น 1,008 ล้านบาท เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณในปี 2569 ซึ่งหลังจากที่โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล จะทำให้เรามีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 1570 ลบ.ม.ต่อชั่วโมง พื้นที่ได้รับผลประโยชน์ทั้งหมด 14,900 ครัวเรือน และจะทำให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ได้รับผลประโยชน์ครอบคลุมไปถึง 3 อำเภอ คือ อำเภอเมืองเพชรบูรณ์, อำเภอหล่มสัก และอำเภอหนองไผ่

นายอัครา กล่าวต่อถึงการสร้างฝายในจังหวัดเพชรบูรณ์ ตอนนี้มี 2 โครงการ คือ 1. ฝายยางบ้านท่า อำเภอศรีเทพ ดำเนินการในปี 2568-2570 วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 483 ล้าน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดหาผู้รับจ้างดำเนินการก่อสร้างในปี 2568 โครงการนี้เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถช่วยพื้นที่เก็บปริมาณน้ำและแจกจ่ายน้ำไปสู่พี่น้องประชาชนได้ทั้งสิ้นประมาณ 8,000 ไร่

2. ฝายยางบ้านพุเตย อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ดำเนินการในปี 2566-2568 วงเงินงบประมาณ 381 ล้านบาท ปัจจุบันดำเนินงานไปแล้วประมาณ 80% โครงการนี้เมื่อดำเนินการเสร็จสามารถช่วยฟื้นฟูเรื่องปัญหาน้ำ และช่วยให้พี่น้องเกษตรกรในพื้นที่สามารถใช้น้ำเพาะปลูกและอุปโภคบริโภคด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น