xs
xsm
sm
md
lg

“คมสัน” โต้วาทกรรมเอาผิดย้อนหลังปมจริยธรรม ยันศาลฯ ยึดเจตนารมณ์ รธน.ป้องกันคนขาดคุณธรรมปกครองบ้านเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักฎหมายแจงแนวทางศาลฯ พิพากษาคดีการกระทำผิดมาตรฐานจริยธรรมไม่เป็นการลงโทษย้อนหลัง แต่เป็นการวินิจฉัยตามตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ป้องกันไม่ให้คนขาดคุณธรรมมาปกครองบ้านเมือง ซัดนักการเมืองสร้างวาทกรรมบิดเบือน จ้องแก้ไขรัฐธรรมนูญตัดมาตรฐานจริยธรรม

จากกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญในคดีการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม ทั้งกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นางสาวพรรณิการ์ วานิช นางสาว ปารีณา ไกรคุปต์ ว่า เป็นการพิพากษาการกระทำที่เกิดขึ้นย้อนหลังก่อนมีรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีคดีเกี่ยวกับมาตรฐานทางจริยธรรม และไม่เป็นธรรมแก่ผู้ถูกตัดสิน เนื่องจากเป็นการตัดสินย้อนหลังแค่ไหนเพียงใดก็ได้ นั้น เมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา นายคมสัน โพธิ์คง นักกฎหมาย อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ได้แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าว ผ่านบทความเรื่อง “การวินิจฉัยมาตรฐานทางจริยธรรมไม่เป็นการลงโทษย้อนหลัง” ที่เผยแพร่ทางเฟซบุ๊ก Komsarn Pokong มีเนื้อหาโดยสรุปว่า แนวทางคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและศาลฎีกาเกี่ยวกับการวินิจฉัยมาตรฐานทางจริยธรรมไม่เป็นการลงโทษย้อนหลัง ด้วยเหตุผลดังนี้

-การพิจารณาวินิจฉัยความประพฤติหรือการปฏิบัติที่เป็นการฝ่าฝืนจริยธรรม พิจารณาจากมโนสำนึกที่ควรมีของผู้มีตำแหน่งหรือหน้าที่โดยทั่วไป และหน้าที่ของประชาชนต่อสังคมตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

-ความประพฤติหรือการปฏิบัติที่เป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมนั้นเกิดขึ้นก่อนดำรงตำแหน่งหรือหน้าที่

-ก่อนเข้ารับตำแหน่งหรือหน้าที่ ต้องปัดเป่าหรือแก้ไขการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนจริยธรรม

-การปัดเป่าหรือแก้ไขการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม ต้องกระทำด้วยความสมัครใจของตนเอง ไม่ใช่กระทำเพราะถูกตรวจสอบหรือถูกฟ้องคดี

-ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญในการพิจารณาเรื่องร้องว่ารัฐมนตรีขาดคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามอันเนื่องมาจากการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมและมีอำนาจวินิจฉัยให้บุคคลนั้นพ้นจากตำแหน่งหรือหน้าที่ ส่วนศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีผิดมาตรฐานจริยธรรมและลงโทษการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม หากสงสัยว่ามีพฤติกรรมไม่น่าเชื่อถือ วินิจฉัยว่าผู้นั้นสมควรดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ ไม่ว่าผู้นั้นดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่ขณะนั้นหรือไม่

-การกำหนดเรื่องมาตรฐานจริยธรรมเป็นคุณสมบัติหรือการมีลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรีเป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญมีเจตนาป้องกันไม่ให้คนขาดคุณธรรมมาปกครองบ้านเมือง

-การพิจารณาความซื่อสัตย์สุจริตอันเป็นคุณสมบัติของรัฐมนตรีไม่ต้องอาศัยหาความรู้ความชำนาญโดยเฉพาะในทางนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ เพียงแค่ตระหนักรู้ตามแบบวิญญูชนทั่วไป

-การที่อัยการไม่ฟ้องคดีอาญาไม่ใช่ไม่มีปัญหาว่าน่าเชื่อถือหรือไว้วางใจทางการเมือง แต่การกระทำของที่ฝ่าฝืนจรรยาบรรณวิชาชีพซึ่งเป็นมาตรฐานจริยธรรมของผุ้ประกอบวิชาชีพ ก็เป็นพฤติการณ์ชัดแจ้งว่า เป็นบุคคลที่ไม่สมควรแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีเพราะเป็นการกระทำที่ผิดปกติวิสัยที่วิญญูชนประพฤติปฏิบัติ

-การยินยอมให้ผู้อื่นใช้อำนาจหน้าที่ เพื่อให้มีการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง เป็นการเอาประโยชน์ส่วนตนของตนเองหรือพวกพ้อง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เป็นการกระทำที่ขัดกับประโยชน์ประเทศชาติหรือส่วนรวม

“การมีวาทกรรมว่าการวินิจฉัยการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมเป็นการลงโทษย้อนหลังนั้นจึงเป็นการสร้างวาทกรรมที่บิดเบือนอันแสดงถึงระดับของคุณธรรมและศีลธรรมของผู้กล่าวที่มีอยู่อย่างบางเบา ผิดวิสัยของวิญญูชนของบุคคลโดยทั่วไป

“ทั้งนี้ เพราะมาตรฐานจริยธรรมบุคคลย่อมมีมโนสำนึกรู้ได้โดยไม่ต้องตรากฎหมาย การที่กำหนดกำหนดมีการลงโทษผู้ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมจึงเป็นเจตนาที่ดีที่จะไม่ให้คนไม่มีคุณธรรม หรือคนไม่ดีมาปกครองบ้านเมือง การกำหนดให้เรื่องมาตรฐานจริยธรรมเป็นคุณสมบัติหรือการมีลักษณะต้องห้ามจึงไม่ใช่การลงโทษย้อนหลัง แต่เป็นการวินิจฉัยในคุณสมบัติที่ติดตัวความเป็นคนดีของบุคคลที่เข้ามามีอำนาจปกครองบ้านเมืองว่าเขาเข้าลักษณะคนดีที่พึงประสงค์ให้มาปกครองบ้านเมือง ซึ่งถ้าบุคคลดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นคนดีที่พึงประสงค์ย่อมขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ปกครองบ้านเมือง

“ส่วนที่มีกระแสความคิดของนักการเมืองที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยตัดเรื่องมาตรฐานจริยธรรมออกไปนั้น ก็เป็นความคิดที่บรรดานักการเมืองทั้งหลายสะท้อนถึงคุณสมบัติที่ติดตัวและความคิดว่าเป็นคนดีได้แค่ไหนเพียงใด ที่สำคัญสะท้อนความคิดเกี่ยวกับมาตรฐานจริยธรรมของนักการเมืองเหล่านั้นว่า สุดท้ายก็คำนึงถึงประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้องมากกว่าผลประโยชน์ของชาติอันเป็นประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งสุดท้ายการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตัดเรื่องมาตรฐานจริยธรรมออก เพื่อให้เกิดปัญหาเรื่องคนดีมาปกครองบ้านเมือง ก็อาจมีคนไปร้องว่าเป็นเรื่องที่ต้องถูกวินิจฉัยว่าเป็นกระทำที่ขัดหรือฝ่าฝืนกับมาตรฐานจริยธรรมหรือไม่ได้เช่นกัน” นายคมสัน ระบุ

บทความฉบับเต็ม

การวินิจฉัยมาตรฐานทางจริยธรรมไม่เป็นการลงโทษย้อนหลัง

คมสัน โพธิ์คง

เรามักจะได้ยินกันอยู่เสมอๆ ในช่วงหลังนี้เกี่ยวกับเรื่องของการพิจารณาวินิจฉัยมาตรฐานทางจริยธรรมที่ใช้ตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของทูลเกล้าฯ เพื่อโปรดเกล้าแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยนายเศรษฐา ทวีสิน จนทำให้นายเศรษฐา ทวีสิน มีลักษณะต้องห้ามต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๐ วรรคหนึ่ง (๔) ประกอบมาตรา ๑๖๐ (๔) และ (๕) (คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๑๗/๒๕๖๗) หรือกรณีของนางสาวพรรณิการ์ วานิช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ กรณีกระทำการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงในลักษณะเป็นการกระทำอันมิบังควรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ลงในเว็บไซต์เฟซบุ๊ก ชื่อบัญชี "Pannika Chor Wanich" (คำพิพากษาฎีกาคดีแดงที่ คมจ. ๕/๒๕๖๖) หรือกรณีของนางสาว ปารีณา ไกรคุปต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ได้กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เข้าครอบครองที่ดินเนื้อที่จำนวนมากถึง ๖๖๕ ไร่ ๑ งาน ๕๓ ตารางวา เพื่อประกอบกิจการค้าขนาดใหญ่ในเขตปฏิรูปที่ดินโดยไม่มีเอกสารสิทธิใด (คำพิพากษาฎีกาคดีแดงที่ คมจ ๑/๒๕๖๓)

เมื่อมีคำพิพากษาในคดีเหล่านี้เรามักได้ยินการวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่เสมอๆ ว่า การพิจารณาวินิจฉัยรื่อง การฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมเป็นการพิจารณาและพิพากษาการกระทำที่เกิดขึ้นย้อนหลังก่อนมีรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีคดีเกี่ยวกับมาตรฐานทางจริยธรรม และไม่เป็นธรรมแก่ผู้ถูกตัดสิน เนื่องจากเป็นการตัดสินย้อนหลังแค่ไหนเพียงใดก็ได้ และเริ่มมีความคิดที่จะแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับมาตรฐานจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในรัฐธรรมนูญ ซึ่งผมมีความเห็นต่างกับความเห็นเหล่านั้นว่าเป็นเรื่องของการทำความเข้าใจในตัวบทกฎหมายที่จากวาทกรรมคลาดเคลื่อนอย่างมีนัยสำคัญ และเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากหลักการของเจตนารมณ์ของกฎหมาย จึงจำเป็นต้องเขียนเรื่องนี้เพื่อให้เกิดความเข้าใจว่าเห็นต่างอย่างไร

ในการทำความเข้าใจในเรื่องนี้ ผมต้องขออธิบายคำสำคัญ ๓ คำที่เกี่ยวข้อง คือ “จริยธรรม” “คุณสมบัติ” “ลักษณะต้องห้าม” และ “การกระทำต้องห้าม” เพื่อเปรียบเทียบกันให้เข้าใจในความหมายและลักษณะของเรื่องว่ามีความแตกต่างกันเสียก่อน จึงจะสามารถอธิบายความเข้าใจในเหตุผลดังกล่าวได้

“จริยธรรม” คือ ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ ศีลธรรม กฎศีลธรรม (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน) หรือ จริยธรรม หมายถึง คุณสมบัติทางความประพฤติ ที่สังคมมุ่งหวังให้คนในสังคมนั้นประพฤติมีความถูกต้องในความประพฤติภายในขอบเขตของมโนธรรมโดยหยั่งรากอยู่บนฐานของวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นหลักแห่งความประพฤติอันพัฒนาขึ้นและเป็นหน้าที่ที่สมาชิกในสังคมต้องรู้ว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิดและพึงประพฤติปฏิบัติต่อตนเอง ต่อผู้อื่น และต่อสังคม จริยธรรมไม่สามารถแยกเด็ดขาดจากศีลธรรมได้อย่างชัดเจน แต่กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน จริยธรรมเป็นกฎเกณฑ์ในทางเนื้อหาที่เกิดตามมโนสำนึกบนฐานของขนบ ธรรมเนียมและวัฒนธรรมที่ดีงาม จริยธรรมอาจส่งผลให้บุคคลที่มีตำแหน่งหรือหน้าที่ต้องพ้นจากตำแหน่งหรือหน้าที่ ซึ่งผลดังกล่าวอาจเกิดจากกฎหมาย กฎเกณฑ์ ขนบธรรมธรรมเนียมประเพณีของสังคม หรือมโนธรรมและจิตสำนึกของบุคคลนั้นก็ได้ จริยธรรมอาจนำไปใช้ในความหมายที่แตกต่างกันตามลักษณะและประเภทที่สัมพันธ์กับบุคคล ได้แก่ จรรยา คุณธรรม ศีลธรรม จรรยาบรรณ มโนธรรม มารยาท หรือธรรมาภิบาล โดยมาตรฐานทางจริยธรรมต้องมีลักษณะตามความเข้าใจของมโนสำนึกของบุคคลที่เป็นมาตรฐานหรือควรเป็นมาตรฐานของบุคคลที่เข้าลักษณะเดียวกัน ได้แก่ มาตรฐานจริยธรรม(จรรยาบรรณ)ของผู้ประกอบวิชาชีพหรืออาชีพต่างๆ หรือมาตรฐานจริยธรรมของข้าราชการ หรือมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฯลฯ

“คุณสมบัติ” คือ คุณงามความดีหรือลักษณะประจำตัวของบุคคล (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน) ลักษณะประจำของสิ่งต่างๆ หากเราพิจารณาในเรื่องนี้ให้ดีก็จะพบว่าคุณสมบัติของบุคคลนั้น เป็นเรื่องที่เป็นลักษณะติดตัวบุคคลในลักษณะประจำตัวสำหรับตำแหน่งหรือหน้าที่ที่ที่ผู้นั้นได้รับหรือจะได้รับ

“ลักษณะต้องห้าม” คือ คุณสมบัติหรือลักษณะเฉพาะตัวที่มีลักษณะขัดแย้งกับตำแหน่งหรือหน้าที่ของบุคคล ซึ่งปรากฏในขณะจะเข้ารับหรือเข้ารับตำแหน่งหรือหน้าที่นั้น หรือคุณสมบัติหรือลักษณะเฉพาะตัวที่มีลักษณะขัดแย้งหรือไม่สามารถใช้ประโยชน์กับสิ่งที่จะนำมาใช้ประโยชน์ การมีลักษณะต้องห้ามส่งผลให้บุคคลนั้นไม่ได้รับเลือกให้เข้าสู่ตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือต้องพ้นจากตำแหน่งหรือหน้าที่นั้นทันที

“การกระทำต้องห้าม” คือ ลักษณะการประพฤติหรือการปฏิบัติที่เกิดขึ้นที่ต้องห้ามหรือขัดแย้งกับตำแหน่งหรือหน้าที่ของบุคคล การกระทำต้องห้ามไม่เป็นเรื่องที่เป็นคุณสมบัติหรือลักษณะที่ติดตัวมา การกระทำต้องห้ามต้องเป็นเรื่องที่มีกฎหมายหรือกฎเกณฑ์กำหนด และการกระทำต้องห้ามที่เกิดขึ้นก่อนที่บุคคลจะเข้ารับตำแหน่งหรือหน้าที่นั้นสามารถขจัดการกระทำต้องห้ามได้ตามเงื่อนไขภายในระยะเวลาที่กฎหมายหรือกฎเกณฑ์กำหนดขึ้น ส่วนการกระทำที่ต้องห้ามที่เกิดขึ้นในระหว่างที่บุคคลผู้มีตำแหน่งหรือหน้าที่นั้นต้องถือว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้บุคคลนั้นต้องพ้นจากตำแหน่งหรือหน้าที่นั้นๆ ทันทีที่เกิดการกระทำต้องห้ามขึ้น


เมื่อพิจารณาข้อเปรียบเทียบดังกล่าวแล้วจะเห็นลักษณะ ที่มา และมาตรการที่แตกต่างกัน สังคมที่มีรากฐานจริยธรรมมายาวนานจะเป็นเรื่องสำคัญที่ส่งผลต่อการประพฤติปฏิบัติและการมีคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้าม และเราจะเห็นได้ว่าคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามหรือการกระทำต้องห้ามต่างก็มีที่มาในหลายเรื่องมาจากมาตรฐานจริยธรรม แต่ที่อาจแตกต่างกันก็เพราะผลของการฝ่าฝืนนั้นในทางกฎหมายอาจส่งผลที่แตกต่างกัน โดยผลบังคับและการแก้ไขอาจเกิดขึ้นโดยปัญหาของจริยธรรมส่วนใหญ่ต้องมีการแก้ไขเยียวยาด้วยการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขของขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม หรือประเพณี ที่ปฏิบัติสืบกันมาเป็นเวลายาวนานหรือที่เป็นมาตรฐานได้ ส่วนปัญหามาตรฐานทางจริยธรรมร้ายแรงที่มีกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ต่างๆที่กำหนดมาตรฐานจริยธรรมขึ้น ต้องแก้ไขปัดเป่าให้พ้นจากปัญหาจริยธรรมดังกล่าวก่อนเข้ารับตำแหน่งหรือหน้าที่ โดยบางกรณีกฎหมายหรือกฎเกณฑ์อากกำหนดแนวทางในการแก้ไขเยียวยาปัญหาดังกล่าวไว้ในกรณีที่สามารถแก้ไขได้ และในหลายกรณีก็ไม่อาจไม่กำหนดวิธีการหรือเงื่อนไขการแก้ไขปัญหาหรือเยียวยาไว้เนื่องด้วยเป็นเรื่องที่มีความร้ายแรงไม่สามารถแก้ไขปัญหาหรือเยียวยาได้ หรือเป็นเรื่องที่ทุกคนในสังคมต้องรู้หรือรับรู้ได้ว่าความประพฤติหรือการปฏิบัติที่ดีหรือชั่วนั้น ต้องอยู่ในมโนสำนึกของทุกคนในสังคมที่ต้องไม่ปฏิบัติในเรื่องนั้น และไม่ควรกระทำมาแต่ต้น เช่น ในศาสนาพุทธก็มีหลักปฏิบัติในพระธรรมวินัยของสงฆ์ ที่พระสงฆ์ที่กระทำผิดสิกขาบทหรือที่กล่าวกันง่ายๆว่า ผิดศีลหรือศีลขาด ในพระธรรมวินัยจะกำหนดระดับของการกระทำทีเป็นอาบัติไว้ ๒ ลักษณะ ๗ระดับ คือ ครุกาบัติและลหุกาบัติ โดยครุกาบัติประกอบอาบัติปราราชิกและอาบัติสังฆาธิเสส ส่วนลหุอาบัติ ประกอบด้วย อาบัติถุลลัจจัย อาบัติปาจิตตีย์ อาบัติปาฏิเทสนียะ อาบัติทุกกฎ อาบัติทุพภาสิต ซึ่งผู้ศึกษาในพระธรรมวัยย่อมทราบดีว่าในแต่ลักษณะและระดับนั้น บางระดับสามารถแก้ไขเยียวยาได้ตามพระธรรมวินัย แต่บางระดับไม่สามารถแก้ไขปัญหาเยียวยาได้ต้องพ้นจากการเป็นพระสงฆ์คือกรณีของอาบัติปราชิกที่มีลักษณะการกระทำถึง ๔ ลักษณะ คือ เสพเมถุน ถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้มาเป็นของตนเกินกว่า ๕ มาสก การพรากมนุษย์จากชีวิต และการกล่าวอุตตริมนุสธรรม ซึ่งผู้กระทำต้องอาบัติปาราชิกต้องพ้นจากการเป็นสงฆ์ทันที ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเยียวยาได้ นอกจากนั้นสามารถแก้ไขเยียวยาได้ตามวิธีการของแต่ละระดับตามที่พระธรรมวินัยกำหนดไว้ แต่อย่างไรก็ตาม ศีล ๕ นั้นเป็นคุณธรรมที่ฆราวาสพึงปฏิบัติ

ส่วนหลักจริยธรรมของนักการเมืองที่ดีและถือว่ามีคุณภาพแห่งจิตใจหรือมีจริยธรรมประจำใจเป็นที่ยอมรับของสังคมและประชาชน นั้น ควรประกอบด้วย (๑)เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง (๒) มีคุณธรรมและศีลธรรมประจำใจไม่เป็นผู้ประพฤติผิดมาตรฐานของความประพฤติที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ไม่เป็นคนโกหกพกลมหน้าไหว้หลังหลอก และต้องมีความจริงใจทั้งในคำพูดและการกระทำของตน และเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชน (๓) มีความสุภาพอ่อนน้อม ไม่ถือตัว (๔) การดำเนินชีวิตด้วยคุณลักษณะชีวิตที่ดีแบบเสมอต้นเสมอปลาย มีความเมตตากรุณาแก่ประชาชนผู้ทุกข์ร้อนหรือผู้ด้อยโอกาสในสังคม (๕) เป็นคนกล้าหาญ กล้าตัดสินใจ มีความรับผิดชอบ ไม่โยนความผิดให้ผู้อื่น (๖) มั่นคงในอารมณ์ อดกลั้น และมีจิตสำนึกให้ถูกต้องและชอบธรรมอยู่เสมอ (๗) ไม่มีนิสัยอันธพาลเป็นนักเลงหัวไม้หรือผู้มีอิทธิพล หรือไม่คบคนพาลมีความประพฤติผิดทั้งทางศีลธรรม คุณธรรม และกฎหมาย หรือไม่ใช้อำนาจหรืออิทธิพลข่มขู่บังคับผู้ที่ด้อยกว่า (๘) ประกอบแต่สัมมาชีพ มีความขยันขันแข็ง ไม่มีประวัติการทุจริตหรือประพฤติมิชอบหรือทำธุรกิจที่สังคมรังเกียจ (๙) เคารพกติกาของสังคม นักการเมืองต้องไม่มีความประพฤติที่ขัดหรืออยู่เหนือระเบียบกติกาสำคัญทางการเมืองหรือกฎหมายของบ้านเมือง (๑๐) ยุติธรรม ใช้อำนาจด้วยความเที่ยงธรรมตามเหตุผล กฎหมายและระเบียบแบบแผน (๑๑) ไม่เลือกปฏิบัติหรือลำเอียงแก่ประชาชนหรือผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาในลักษณะของการอุปถัมภ์หาประโยชน์หรือคะแนนเสียงโดยไม่เป็นธรรม (๑๒) มีอุดมการณ์และวิถีประชาธิปไตยอย่างแท้จริงและเข้าใจหลักประชาธิปไตยอย่างถ่องแท้ ไม่เป็นเพียงวาทกรรมในการแสวงหาประโยชน์หรืออำนาจ

หลักจริยธรรมดังกล่าวของนักการเมืองจึงเป็นเรื่องที่นักการเมืองที่ดีพึงประพฤติและปฏิบัติตนให้อยู่ในกรอบคุณธรรมที่ดีงาม ส่วนที่นำมากำหนดในกฎหมายหรือกฎเกณฑ์เกี่ยวกับมาตรฐานจริยธรรมนั้นก็เพื่อ ให้จริยธรรมนั้นถูกกำหนดให้ชัดเจนขึ้น แต่ในความจริงแล้วมนุษย์ทุกคนย่อมมีมโนสำนึกทราบหลักการดังกล่าวดีอยู่แล้วเพียงแต่จะนำมาประพฤติปฏิบัติหรือไม่เท่านั้น

ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากหลักการของคำทั้ง ๓ คำดังกล่าว จะเห็นได้ว่า คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามจึงเป็นเรื่องที่ติดตัวบุคคลมาก่อนการรับตำแหน่งหรือหน้าที่ ซึ่งหากปรากฏในขณะคัดเลือกจึงต้องห้ามไม่ให้เลือกบุคคลนั้น อย่างไรก็ตามการขาดคุณสมบัติหรือการมีลักษณะต้องห้ามอาจเกิดขึ้นในภายหลังหากมีข้อเท็จจริงเกิดขึ้นใหม่ทำให้บุคคลต้องขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามขึ้นในภายหลังก็ได้ เช่น การกำหนดคุณสมบัติให้มีสัญชาติไทย บุคคลอาจขาดคุณสมบัติในภายหลังรับตำแหน่งหรือหน้าที่ได้หากผู้นั้นถูกถอนสัญชาติไทยหรือสละสัญชาติไทย หรือในระหว่างอยู่ในตำแหน่งหรือหน้าที่ บุคคลนั้นไปกระทำการหรือมีความประพฤติตามที่กฎหมายหรือกฎเกณฑ์ต่างๆ กำหนดเป็นลักษณะต้องห้ามของตำแหน่งหรือหน้าที่นั้น เช่น ไปเสพยาเสพติดให้โทษหรือตกเป็นบุคคลล้มละลาย

ประเด็นที่สำคัญของบทความนี้ คือ การกระทำอันฝ่าฝืนต่อมาตรฐานจริยธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นั้น มีการวินิจฉัยได้ ๒ แนวทางกล่าวคือ

๑.การวินิจฉัยการกระทำหรือความประพฤติว่าเป็นผู้ฝ่าฝืนต่อมาตรฐานจริยธรรม ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑ ส่วนที่ ๒ การดำเนินคดีกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง มาตรา ๘๗ ซึ่งต้องเริ่มกระบวนการโดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. และพิจารณาตัดสินโดยศาลฎีกา ซึ่งมีการพิจารณาใน ๒ คดีสำคัญที่มีการวินิจฉัยการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนเข้ารับตำแหน่งหรือหน้าที่ คือ คดีของนางสาวปารีณา ไกรคุปต์ (คดีหมายเลขแดงที่ คมจ ๑/๒๕๖๕)ซึ่งขอสรุปสาระสำคัญที่ศาลได้ตัดสินได้ว่า การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ ส.ส. ซึ่งถือเป็นการฝ่าฝืนมาตราจริยธรรมร้ายแรงฯ ข้อ ๑๗ ประกอบ ข้อ ๓ ข้อ ๒๗ วรรคสองหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ผู้ถูกร้องครอบครองที่ดิน ๖๖๕ ไร่ ๑ งาน ๕๓ ตร.ว. เป็นพื้นที่สีส้ม โดยไม่มีเอกสารสิทธิใด ขณะที่ที่ดินบริเวณโดยรอบยื่นขอออกเอกสารสิทธิ สปก. ๔-๐๑ หลายแปลง จึงมีเหตุให้เชื่อได้ว่าผู้ถูกร้องประกอบธุรกิจฟาร์มเลี้ยงสัตว์ขนาดใหญ่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ย่อมต้องทราบว่ามีการปฏิรูปที่ดินเช่นเดียวกับคนอื่นต่อมาสำนักงานปฏิรูปที่ดินฯ ประกาศให้มีการยื่นขอปฏิรูปที่ดินอีกครั้ง และผู้มีสิทธิยื่นคำร้องต้องมีอาชีพเป็นเกษตรกรไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง โดยจะจัดสรรที่ดินให้ไม่เกินคนละ ๕๐ ไร่ ซึ่งผู้ถูกร้องก็ยังไม่เข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดิน เพราะมีที่ดินมากกว่าคนอื่น การเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดินอาจมีผลให้ผู้ถูกร้องสูญเสียที่ดินได้ และการที่ผู้ถูกร้องครอบครองที่ต่อจากบิดา โดยรู้ว่าเป็นที่เกษตรกรรม มีเจตนาไม่ส่งคืนเพื่อจัดสรรให้เกษตรกรและเลี่ยงการเข้ากระบวนการปฏิรูปมาตลอดจนกระทั่งมีการตรวจสอบผู้ถูกร้องจึงคืนที่ดินให้ทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไข ข้อเท็จจริงหาใช่สมัครใจส่งมอบเองตามที่อ้าง ประกอบกับผู้ถูกร้องเป็น ส.ส. ๔ สมัย ย่อมมีความรู้เกี่ยวกับที่ดินเขตปฏิรูป การครอบครองที่ดินของจำเลยยังเป็นการปิดโอกาสเกษตรกรรายอื่นไม่สามารถได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินได้เมื่อตรวจสอบสถานะผู้ถูกร้องมีรายได้จากการเป็น ส.ส. ๔ สมัย ใช้เวลาทำงานส่วนใหญ่ในรัฐสภา ไม่ใช่เกษตรกรอาชีพ มีกรรมสิทธิ์ที่ดินของตัวเองหลาย ๑๐ แปลง และมีที่อยู่อาศัยคนละพื้นที่กับที่ดินพิพาท การครอบครองที่ดินเขตปฏิรูปโดยทราบว่าไม่มีคุณสมบัติและไม่มีเอกสารสิทธิ ส.ส.ย่อมไม่ควรปฏิบัติ การกระทำของผู้ถูกร้องเสื่อมเสียเกียรติ และมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง ข้อ ๑๗ ที่ต้องรักษาชื่อเสียง ตำแหน่งหน้าที่ของ ส.ส. และไม่กระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์แม้ต่อมาจะส่งคืนที่ดินทั้งหมดก็ไม่ทำให้การฝ่าฝืนจริยธรรมฯ ที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นไม่เกิดขึ้นได้ ศาลฎีกาได้พิพากษาว่า ผู้ถูกร้องฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง มีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องพ้นจากตำแหน่งนับจากวันที่ ๒๕ มี.ค. ๖๔ ซึ่งเป็นวันที่ศาลฎีกา สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ๑๐ ปี และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้ถูกร้องตลอดไป มีผลให้ผู้ถูกร้องไม่มีสิทธิรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ส.ว. ผู้บริหารท้องถิ่น และดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๓๕ วรรคสี่ และ พรป.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๘๑, ๘๗ และมาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ข้อ ๓ ข้อ ๑๗ ประกอบข้อ ๒๗ วรรคสอง

(๒)คดีของนางสาวพรรณิการ์(ช่อ) วานิช (คดีหมายเลขแดงที่ คมจ ๕/๒๕๖๖)นั้นศาลฎรกาได้ให้เหตุผลโดยสรุปว่า ประชาชนย่อมมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยศาลฎีกาได้พิจารณาการกระทำของผู้ถูกร้องตามคำร้องซึ่งกระทำอย่างต่อเนื่องกันมาจึงต้องนำการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งหมดมาพิเคราะห์ร่วมกันเพื่อหยั่งทราบเจตนาของผู้ถูกร้องว่ามุ่งประสงค์อย่างไร ซึ่งการกระทำของผู้ถูกร้องตามคำร้อง ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าผู้ถูกร้องมีเจตนาพาดพิงถึงในหลวงรัชกาลที่ ๙ และมีการลงข้อความพาดพิงถึงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ (พระนามในขณะนั้น) อันเป็นการแสดงออกต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในทางที่ไม่เหมาะสมหรือมิบังควรอย่างยิ่ง เป็นการไม่เคารพในหน้าที่ของปวงชนชาวไทยที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แสดงให้เห็นถึงทัศนคติของผู้ถูกร้องที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ พฤติการณ์ของผู้ถูกร้องเป็นการแสดงออกถึงการไม่เคารพและเทิดทูนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา ๖ มาตรา ๕๐(๑) และมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ ๖ การที่ผู้ถูกร้องไม่ลบหรือนำภาพ ถ่าย และข้อความดังกล่าวทั้งหมดออกจากระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งที่สามารถกระทำได้เพื่อไม่ให้ปรากฎอยู่และเพื่อไม่ให้บุคคลใดสามารถเข้าถึงภาพถ่ายและข้อความทั้งหกกรณีดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย จึงเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๓๕ ประกอบพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๖๑ มาตรา ๘๗ และมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ ๖ ประกอบ ข้อ ๒๙ (๑) ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้ถูกร้องตลอดไป รวมถึงไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๓๕ (๓) และ (๔) แต่ยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการไม่ยึดมั่นและธำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ ๕ จึงยังไม่เห็นสมควรเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้ถูกร้อง

***บทวิเคราะห์*** ศาลฎีกาได้วางหลักการในการลงโทษการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมในคดีทั้งสองที่เหมือนกัน คือ

-การพิจารณาวินิจฉัยความประพฤติหรือการปฏิบัติที่เป็นการฝ่าฝืนจริยธรรม พิจารณาจาก มโนสำนึกที่ควรมีของผู้มีตำแหน่งหรือหน้าที่โดยทั่วไป และหน้าที่ของประชาชนต่อสังคมตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

-ความประพฤติหรือการปฏิบัติที่เป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมนั้นเกิดขึ้นก่อนดำรงตำแหน่งหรือหน้าที่

-ก่อนเข้ารับตำแหน่งหรือหน้าที่ ต้องปัดเป่าหรือแก้ไขการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนจริยธรรม ให้เสร็จสิ้นห่อนเข้ารับตำแหน่งหรือหน้าที่

-การปัดเป่าหรือแก้ไขการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม ต้องกระทำด้วยความสมัครใจของตนเอง ไม่ใช่กระทำเพราะถูกตรวจสอบหรือถูกฟ้องคดี

๒. การวินิจฉัยการกระทำหรือความประพฤติว่าเป็นผู้ฝ่าฝืนต่อมาตรฐานจริยธรรม และเป็นการมีลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๙๘ ประกอบกับมาตรา ๑๖๐ (๔)และ(๕) สามารถดำเนินการได้ตามหลักการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๘๒ และมาตรา ๑๗๐ วรรคสาม ซึ่งกรณีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จากสาเหตุการเสนอชื่อนายพิชิต ชื่นบาน ทูลเกล้าฯ โปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และมีสมาชิกวุฒิสภาจำนวน ๔๐ คนร้องต่อประธานวุฒิสภา และประธานวุฒิสภาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ ๑๗/๒๕๖๗ สรุปได้ว่า เมื่อข้อเท็จจริงพฤติการณ์ของนายพิชิต สาธารณชนรู้โดยทั่วไป เป็นเหตุให้ศาลฎีกาฯจำคุก ชัดแจ้งว่าไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง ผิดไปจากปกติวิสัยที่วิญญูชนปฏิบัติ เมื่อนายเศรษฐาเป็นนายกฯ นำความกราบบังคมทูลฯเพื่อพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ทั้งที่ข้อเท็จจริงประจักษ์ชัดว่า เป็นกรณีต้องห้ามตามมาตรา ๑๐๖ (๔) โดยมิได้ใช้วิจารณญาณเยี่ยงวิญญูชน และไม่ได้คำนึงถึงรัฐธรรมนูญ การที่นายกฯเสนอแต่งตั้งใครเป็นรัฐมนตรี ไม่ได้อาศัยความไม่ไว้วางใจส่วนตน เพราะ ครม.ต้องได้รับความไว้วางใจจากสภาฯ ซึ่ง ครม.หมายถึงนายกฯ และรัฐมนตรีต้องได้รับความไว้วางใจจากประชาชนด้วย อันเป็นการเชื่อถือทางความเป็นจริง โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เจตนาป้องกันไม่ให้คนขาดคุณธรรมมาปกครองบ้านเมือง ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๐ (๔) (๕) บัญญัติ จึงเป็นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามสำคัญของรัฐธรรมนูญ ที่ไม่เคยมีมาก่อนในรัฐธรรมนูญก่อนหน้าแม้นายกฯจะวินิจฉัยการเสนอบุคคล ที่ไว้วางใจ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐธรรมนูญ แต่บุคคลนั้นต้องมีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๖๐ แล้ว บุคคลนั้นต้องน่าเชื่อถือและไว้วางใจจากประชาชนตามมาตรฐานวิญญูชนด้วย ดังนั้นนายเศรษฐา จึงขาดคุณสมบัติซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ตาม ๑๖๐ (๔) ส่วนที่กล่าวอ้างว่า การเสนอ ครม. คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นเฉพาะกรณีคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๖๐ (๖) (๗) แต่การแต่งตั้ง ครม.ครั้งที่ ๒ ไม่ได้มีการสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกาเพิ่มเติม เห็นว่า การเสนอแต่งตั้ง ครม.ของนายเศรษฐา นอกจากหารือกฤษฎีกาแล้ว ในฐานะนายกฯต้องใช้วิจารณญาณว่า น่าเชื่อถือ ไว้วางใจ การที่นายเศรษฐา บอกว่า ภูมิหลังว่ามาจากการทำธุรกิจ มีประสบการณ์การเมืองจำกัด ไม่มีความรู้ทางนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ จึงไม่รู้ว่านายพิชิตขาดคุณสมบัติหรือไม่ รับฟังไม่ได้ เพราะหลักเกณฑ์พิจารณาความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ใช่ปัญหาความรู้ความชำนาญโดยเฉพาะ เพียงตระหนักรู้ตามแบบวิญญูชนทั่วไป ก็เพียงพอวินิจฉัยได้แล้ว การที่ปรากฏคำสั่งศาลฎีกาฯลงโทษนายพิชิต ที่สาธารณชนรู้โดยทั่วไป แม้อัยการสั่งไม่ฟ้องนายพิชิตกับพวกเป็นคดีอาญาคดีสินบน หรือผิดอาญาอื่นก็ตาม โดยมาตรฐานทางจริยธรรมฯ พิจารณาว่า การฟ้องหรือลงโทษอาญาบุคคลใดต้องพิจารณาให้ครบองค์ประกอบ การที่อัยการไม่ฟ้อง ไม่ใช่ไม่มีปัญหาว่าน่าเชื่อถือหรือไว้วางใจทางการเมือง การกระทำของนายพิชิตที่ศาลฎีกาฯสั่งลงโทษ เป็นพฤติการณ์ชัดแจ้งว่า ไม่สมควรอย่างยิ่ง ผิดปกติวิสัยที่วิญญูชนประพฤติปฏิบัติ ดังนั้นผู้เคยมีพฤติการณ์ดังกล่าว ไม่มีความไว้วางใจ แต่นายเศรษฐายังคงเสนอนายพิชิตเป็นรัฐมนตรี นายเศรษฐาจึงไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๖๐ (๔) ข้อที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่าการฝ่าฝืนปฏิบัติมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ๑๖๐ (๕) มีการเข้าพบบุคคลซึ่งนายพิชิตเป็นหัวหน้าทนายความประจำตัว จึงเป็นมูลเหตุจูงใจให้นายเศรษฐาต้องการเอื้อประโยชน์แก่คนดังกล่าว และเมื่อพบบุคคลดังกล่าวแล้ว ได้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง นายพิชิต เป็นรัฐมนตรี ทั้งที่เคยถอนชื่อ หรือให้นายพิชิต ถอนชื่อจากการเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรี เมื่อ ๑ ก.ย. ๒๕๖๖เป็นพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่า นายเศรษฐา ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ฝ่าฝืนอย่างร้ายแรง ยินยอมให้ผู้อื่นใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งนายกฯ เพื่อให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เอาประโยชน์ส่วนตนหรือประโยชน์ประเทศชาติ ขัดกับระหว่างส่วนตน กับส่วนรวม ทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เป็นการก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ดำรงตำแหน่งนายกฯ สมคบสมาคมกับผู้มีความประพฤติ หรือมีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย อันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่ของนายกฯ ขัดมาตรฐานทางจริยธรรมฯ นายเศรษฐา จึงมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๖๐ (๕) ด้วย การวินิจฉัยว่ารัฐมนตรีคนใด มีพฤติกรรมอันฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติทางจริยธรรมร้ายแรงตามมาตรา ๑๖๐ (๕) เป็นหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อการวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีผู้นั้นสิ้นสุดลงหรือไม่ตาม ๑๗๐ วรรคสาม ประกอบมาตรา ๘๒ ส่วนหน้าที่อำนาจของศาลฎีกา ส่วนรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๓๔ วรรคหนึ่ง (๑) และมาตรา ๒๓๕ วรรคหนึ่ง (๑) กำหนดให้วินิจฉัยคดีผิดมาตรฐานจริยธรรม หากสงสัยว่ามีพฤติกรรมไม่น่าเชื่อถือ วินิจฉัยว่าผู้นั้นสมควรดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ ไม่ว่าผู้นั้นดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่ขณะนั้นหรือไม่

***บทวิเคราะห์*** ศาลรัฐธรรมนูญได้วางหลักการเกี่ยวกับการวินิจฉัยการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมไว้ดังนี้

-ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญในการพิจารณาเรื่องร้องว่ารัฐมนตรีขาดคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามอันเนื่องมาจากการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมและมีอำนาจวินิจฉัยให้บุคคลนั้นพ้นจากตำแหน่งหรือหน้าที่ ส่วนศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีผิดมาตรฐานจริยธรรมและลงโทษการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม หากสงสัยว่ามีพฤติกรรมไม่น่าเชื่อถือ วินิจฉัยว่าผู้นั้นสมควรดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ ไม่ว่าผู้นั้นดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่ขณะนั้นหรือไม่

-การกำหนดเรื่องมาตรฐานจริยธรรมเป็นคุณสมบัติหรือการมีลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรีเป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญมีเจตนาป้องกันไม่ให้คนขาดคุณธรรมมาปกครองบ้านเมือง

-การพิจารณาความซื่อสัตย์สุจริตอันเป็นคุณสมบัติของรัฐมนตรีไม่ต้องอาศัยหาความรู้ความชำนาญโดยเฉพาะในทางนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ เพียงแค่ตระหนักรู้ตามแบบวิญญูชนทั่วไป

-การที่อัยการไม่ฟ้องคดีอาญาไม่ใช่ไม่มีปัญหาว่าน่าเชื่อถือหรือไว้วางใจทางการเมือง แต่การกระทำของที่ฝ่าฝืนจรรยาบรรณวิชาชีพซึ่งเป็นมาตรฐานจริยธรรมของผุ้ประกอบวิชาชีพ ก็เป็นพฤติการณ์ชัดแจ้งว่า เป็นบุคคลที่ไม่สมควรแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีเพราะเป็นการกระทำที่ผิดปกติวิสัยที่วิญญูชนประพฤติปฏิบัติ

-การยินยอมให้ผู้อื่นใช้อำนาจหน้าที่ เพื่อให้มีการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง เป็นการเอาประโยชน์ส่วนตนของตนเองหรือพวกพ้อง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เป็นการกระทำที่ขัดกับประโยชน์ประเทศชาติหรือส่วนรวม

การมีวาทกรรมว่าการวินิจฉัยการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมเป็นการลงโทษย้อนหลังนั้นจึงเป็นการสร้างวาทกรรมที่บิดเบือนอันแสดงถึงระดับของคุณธรรมและศีลธรรมของผู้กล่าวที่มีอยู่อย่างบางเบา ผิดวิสัยของวิญญูชนของบุคคลโดยทั่วไป ทั้งนี้ เพราะมาตรฐานจริยธรรมบุคคลย่อมมีมโนสำนึกรู้ได้โดยไม่ต้องตรากฎหมาย การที่กำหนดกำหนดมีการลงโทษผู้ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมจึงเป็นเจตนาที่ดีที่จะไม่ให้คนไม่มีคุณธรรม หรือคนไม่ดีมาปกครองบ้านเมือง การกำหนดให้เรื่องมาตรฐานจริยธรรมเป็นคุณสมบัติหรือการมีลักษณะต้องห้ามจึงไม่ใช่การลงโทษย้อนหลัง แต่เป็นการวินิจฉัยในคุณสมบัติที่ติดตัวความเป็นคนดีของบุคคลที่เข้ามามีอำนาจปกครองบ้านเมืองว่าเขาเข้าลักษณะคนดีที่พึงประสงค์ให้มาปกครองบ้านเมือง ซึ่งถ้าบุคคลดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นคนดีที่พึงประสงค์ย่อมขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ปกครองบ้านเมือง

ส่วนที่มีกระแสความคิดของนักการเมืองที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยตัดเรื่องมาตรฐานจริยธรรมออกไปนั้น ก็เป็นความคิดที่บรรดานักการเมืองทั้งหลายสะท้อนถึงคุณสมบัติที่ติดตัวและความคิดว่าเป็นคนดีได้แค่ไหนเพียงใด ที่สำคัญสะท้อนความคิดเกี่ยวกับมาตรฐานจริยธรรมของนักการเมืองเหล่านั้นว่า สุดท้ายก็คำนึงถึงประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้องมากกว่าผลประโยชน์ของชาติอันเป็นประโยชน์ส่วนรวมซึ่งสุดท้ายการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตัดเรื่องมาตรฐานจริยธรรมออก เพื่อให้เกิดปัญหาเรื่องคนดีมาปกครองบ้านเมือง ก็อาจมีคนไปร้องว่าเป็นเรื่องที่ต้องถูกวินิจฉัยว่าเป็นกระทำที่ขัดหรือฝ่าฝืนกับมาตรฐานจริยธรรมหรือไม่ได้เช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น