xs
xsm
sm
md
lg

ตีความ โปรเจกต์ 400 ล้าน อบจ.นนทบุรี ผลิตไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ จากบ่อขยะเก่า 2 ล้านตัน เหตุผู้รับสัมปทาน ยื่นขอพื้นที่เพิ่ม 120 ไร่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ฝ่าย กม.มหาดไทย ตีความ โปรเจกต์โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ ดูดก๊าซมีเทนจากบ่อขยะเก่ามาผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด ของ อบจ.นนทบุรี ที่ปิดไปนานแล้ว วงเงิน 400 ล้าน หลังเอกชนผู้รับสัทปทาน ยื่นขอดำเนินการเพิ่มเติมตามสัญญา เข้าข่ายเป็นการจัดทําโครงการใหม่ หลัง มท.1 ช่วงปี 60 ไฟเขียวให้ก่อสร้างท่อดักและรวบรวมก๊าซมีเทนเพิ่มเติม อีก 70 ไร่ เป็น 120 ไร่ เหตุผลิตพลังงานไฟฟ้าจำหน่ายได้ไม่เพียงพอ

วันนี้ (18 ก.ย.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการการนําก๊าซ จากหลุมฝังกลบขยะมูลฝอยเดิม ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นนทบุรี มาใช้ประโยชน์ในการผลิตพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญา ตามสัญญาเลขที่ 1/2562

เกี่ยวกับสัญญาก่อสร้างและบริหารจัดการโครงการฯ มูลค่ากว่า 400 ล้านบาท ซึ่งใช้เทคโนโลยีการนําก๊าซจากหลุมฝังกลบเผาเป็นพลังงาน 2 ล้านตัน (ขยะในหลุมฝังกลบที่ปิดไปแล้ว) 6.24 เมกะวัตต์ / ขายไฟฟ้า 5 เมกะวัตต์ ตามระยะเวลาดำเนินการก่อสร้าง 13 ปี ซึ่ง รมว.มหาดไทย ยุคนั้นลงนามเห็นชอบเมื่อปี 2561

ภายหลัง สํานักงานอัยการสูงสุด (อสส.) แนะให้กับ อบจ.นนทบุรี นำเรื่องดังกล่าวหารือมายัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีอำนาจตีความและวินิจฉัย ตามประกาศ มท.เรื่องการจัดการมูลฝอย ปี 2560

ทั้งนี้ สัญญาเดิม ปี 2558 และแก้ไขปี 2560 ได้ดำเนินการในพื้นที่ 50 ไร่ แต่ปัจจุบันก๊าซมีเทน มีแนวโน้มลดลง ทำให้ไม่เพียงพอสำหรับการผลิตพลังงานไฟฟ้า

“เอกชนที่รับประโยชน์เป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายเดิม ได้เสนอ อบจ.นนทบุรี เพื่อขอเช่าพื้นที่เดิม เพื่อก่อสร้างท่อดักและรวบรวมก๊าซมีเทนเพิ่มเติม อีก 70 ไร่ เป็น 120 ไร่”

รวมทั้งขอปรับมูลค่าโครงการ ผลประโยชน์และการจำหน่ายไฟฟ้าให้ อบจ.นนทบุรี ซึ่งได้เสนอ อสส. เพื่อพิจารณาร่างสัญญา ซึ่งเข้าข่ายเป็นโครงการใหม่

ขณะที่ สํานักงานคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน (สํานักงาน ก.ก.พ.) มีความเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการรับซื้อไฟฟ้าตามประกาศ ก.ก.พ. เรื่อง การจัดหาไฟฟ้าโครงการผลิตขยะชุมชน ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FT) พ.ศ. 2559 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

“แต่อาจต้องดําเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุน ในกิจการของรัฐหรือตามกฎหมายอื่นที่กระทรวงมหาดไทยกําหนด”

ล่าสุด คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมาย มท. คณะที่ 1 เห็นว่า กรณีเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาก่อสร้างและบริหารจัดการโครงการฯ ถือเป็นการแก้ไขสัญญาเดิมในส่วนที่เป็นสาระสําคัญหลายประการ

ทั้งจํานวนพื้นที่ที่เอกชนผู้ให้สัญญาได้รับการให้สิทธิใช้ประโยชน์ มูลค่าการลงทุน ค่าตอบแทนการใช้ที่ดิน ค่าธรรมเนียมการใช้ที่ดิน อัตราค่าตอบแทนรายเดือน มูลค่า หลักประกันการปฏิบัติงานตามสัญญา

ตลอดจนวงเงินที่ผู้ให้สัญญาต้องนําส่งเข้ากองทุนประกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชน โดยเฉพาะพื้นที่ในการดําเนินโครงการได้มีการขอเพิ่มพื้นที่เพิ่มเติมอีกจํานวน 70 ไร่ รวมเป็น จํานวน 120 ไร่

และเมื่อพิจารณาตามโครงการก่อสร้างและบริหารจัดการ ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาเห็นชอบให้ อบจ.นนทบุรี ดําเนินโครงการดังกล่าวนั้น

“ได้มีการกําหนดรายละเอียดและขอบเขตโครงการเอาไว้ โดยเฉพาะพื้นที่ในการดําเนินโครงการดังกล่าว ซึ่งได้มีการระบุพื้นที่ในการจัดทําโครงการไว้จํานวน 50 ไร่”

กรณีดังกล่าวจึงเป็นการแก้ไขสัญญาที่มี รายละเอียดนอกเหนือไปจากรายละเอียดและขอบเขตจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ความเห็นชอบโครงการไว้

จึงอาจมิใช่เพียงการแก้ไขสัญญาเดิม แต่อาจเข้าลักษณะเป็นการจัดทําโครงการใหม่ ที่จะต้องดําเนินการตามหลักเกณฑ์ ขั้นตอนและกระบวนการ ของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดการมูลฝอย พ.ศ. 2560 กําหนด

ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ อสส. เรื่อง ร่างสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม (ครั้งที่ 1) สัญญาก่อสร้างและบริหารจัดการโครงการการนําก๊าซจากหลุมฝังกลบ ขยะมูลฝอยเดิมของ อบจ.นนทบุรีมาใช้ประโยชน์ในการผลิตพลังงานไฟฟ้า สัญญาเลขที่ 1/52562

โครงการดังกล่าว เอกชนได้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพจากหลุมฝังกลบขยะขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 6.24 เมกะวัตต์ และจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เป็นเวลามากกว่า 1 ปีแล้ว

ซึ่งโครงการตั้งอยู่ภายในสถานกำจัดขยะมูลฝอยของ อบจ.นนทบุรี อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี ที่รองรับขยะมูลฝอยชุมชนจากประมาณ 40 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วจังหวัดนนทบุรี ปริมาณกว่า 1,500 ตันต่อวันมากำจัด.


กำลังโหลดความคิดเห็น