xs
xsm
sm
md
lg

เวที “Green Talk” หนุนนวัตกรรม “ก่อสร้างสีเขียว” เพื่อโลก ตั้งเป้าไทยเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“เข็มเหล็ก-กลุ่มธุรกิจก่อสร้าง” จัดเวที “Green Talk” ชู “เศรษฐกิจหมุนเวียน” นำผลิตภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ กระตุ้นคนไทยรักษ์โลก เสนอทางออกปรับพฤติกรรมหนุนนวัตกรรมใหม่ แนะภาครัฐช่วยส่งเสริมด้านนโยบาย

วันนี้ (18 ก.ย. 2567) บริษัทเข็มเหล็ก จำกัด นำโดยนายประเสริฐ ธรรมมนุญกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และคณะ จัดงานสัมมนาชื่อว่า Green Talk ในวัน 88 Green Day เพื่อแสวงหาแนวทางให้กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจก่อสร้างมุ่งไปสู่การพัฒนาประเทศไทยให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยเป็นการรวมตัวของผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา คณาจารย์ นักธุรกิจ กลุ่มเครือข่ายวัสดุก่อสร้าง ที่มาร่วมแบ่งปันองค์ความรู้ด้านการก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร โดยแสวงหาแนวทางความร่วมมือกับภาครัฐ

นายประเสริฐ กล่าวถึงที่มาของงานนี้ว่า เป็นความตั้งใจของเรากลุ่มธุรกิจก่อสร้าง ที่ต้องการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำให้ได้ บริษัทเข็มเหล็กเองก็มีผลิตภัณฑ์ด้านการก่อสร้างที่พยายามผลักดันด้านนี้มาโดยตลอด และยังเกี่ยวข้องกับหนึ่งในปัจจัย 4 คือ ที่อยู่อาศัย จึงอยากให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญในการการปลดปล่อยคาร์บอนตั้งแต่แรกเริ่ม บริษัทเข็มเหล็กยังคงเดินหน้าผลักดันเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการเป็นผู้นำในการร่วมก่อตั้ง “สมาคมโลว์คาร์บอนคอนสตรัคชั่นแอนด์เทคโนโลยี” หรือ LCTA

ขณะที่นายสุขสันติ์ หอพิบูลสุข ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างยั่งยืน จะต้องมีความเกี่ยวข้องกันของคำว่า เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และ วัสดุสีเขียว (Greener Material) สิ่งที่กําลังจะทำกันอยู่ในวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ หรือเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ ต้องตอบโจทย์เรื่องความเป็นสีเขียว

นายสุขสันต์ อธิบายว่า กระบวนการทำธุรกิจประกอบไปด้วย 1.เศรษฐกิจเส้นตรง (Linear Economy) ที่เป็นการนำทรัพยากรมาใช้แล้วไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก ซึ่งสุดท้ายจะกลายเป็นขยะ 2.เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ทรัพยากรหมุนเวียนมาใช้ได้อีก

“ณ วันนี้เป็นเศรษฐกิจเส้นตรง ท้ายที่สุดก็เกิดเป็นขยะ และก็เกิดเป็นปัญหาให้กับชุมชน หลายประเทศทั่วโลกจึงหันกลับมามองกันใหม่ว่า เราไม่ควรจะทำธุรกิจเป็นแบบเส้นตรง ถ้าเราจะรักษ์โลก พูดง่ายๆ อาจจะนำผลิตภัณฑ์ที่ได้ในปัจจุบัน เมื่อใช้เสร็จแล้วก็เอากลับไปใช้งานใหม่ เหล่านี้คือกระบวนการที่เราเรียกว่าเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน ทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมที่จะทำโครงการเหล่านี้ ถ้าเป็นวงจรแบบนี้ก็จะเกิดการหมุนเวียนได้ ในต่างประเทศเห็นชัดเจนว่าทุกภาคส่วนสนับสนุนเรื่องการทำธุรกิจที่เป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน จะได้รับผลประโยชน์จากภาครัฐคือการลดหย่อนภาษี เมื่อเขาได้รับผลประโยชน์จากภาครัฐก็จะพยายามสร้างผลิตภัณฑ์ที่รักษ์โลกเอากลับมาขาย คนในประเทศเองจะต้องตระหนักว่าถ้าไม่ซื้อผลิตภัณฑ์แบบนี้ก็จะต้องรับปัญหาโลกร้อน ทุกภาคส่วนจึงต้องร่วมกันจึงจะทำให้เกิดขึ้นได้” นายสุขสันต์ กล่าว


นายสุขสันต์ ย้ำว่า สิ่งสำคัญคือ นวัตกรรม เพราะถ้าไม่มีนวัตกรรมใหม่ๆ เศรษฐกิจหมุนเวียนก็ทำได้ยาก ฉะนั้น อาจารย์ในมหาวิทยาลัยหรือนักวิจัยในหน่วยงานของภาครัฐหรือภาคเอกชนต้องร่วมกันคิด สร้างองค์ความรู้เพื่อที่จะสามารถที่จะนำขยะเหล่านี้กลับมาเป็นใช้ใหม่ให้ได้ พร้อมยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์ของบริษัทเข็มเหล็กที่มีจุดเด่นคือเป็นสีเขียวกว่าเทคโนโลยีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ถูกทำมาเรียบร้อยแล้วจากโรงงาน ช่วยลดกระบวนการที่จะต้องผลิตหน้างาน เช่น การขุดดินที่จะต้องใช้พลังงาน เรื่องของมลพิษ การจราจรที่ติดขัด เป็นต้น

ส่วน ผศ.ดร.พรเทพ เหมือนพงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวนวัฒนวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงประเด็นที่ต้องมีพื้นที่สีเขียว ที่จะทำให้เราเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ โดยให้ความสำคัญกับ “รุกขกร” คือคนที่ทำหน้าที่ดูแลต้นไม้ ต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ในเขตเมือง ซึ่งเรียกง่ายๆ ว่า “หมอต้นไม้” เป็นอาชีพใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นราว 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากต้นไม้มีบทบาทสำคัญในการช่วยดูดซับและกักเก็บคาร์บอน ดังนั้นการดูแลต้นไม้โดยเฉพาะในเขตเมือง จึงเป็นส่วนช่วยในการช่วยดูดซับคาร์บอนลงมาจากชั้นบรรยากาศได้ ทุกวันนี้ประเทศไทยมีรุกขกรน้อยมาก ไม่ถึง 100 คน การดูแลต้นไม้ทั้งประเทศจึงเป็นงานที่ค่อนข้างจะหนักทีเดียว

ดร.พร้อม อุดมเดช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหลักสูตรสถาปัตยกรรมสหวิทยาการนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวถึงออกแบบสถาปัตยกรรม ว่า การออกแบบเป็นไม้แรกที่จะนำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ จึงต้องมองทั้งสังคมที่ปลดปล่อยคาร์บอนออกมาน้อย และมีการดูดซับเอาคาร์บอนออกจากสภาพบรรยากาศได้มาก ซึ่งประสิทธิภาพของอาคารจึงมีความเกี่ยวข้องกัน ในเรื่องของการออกแบบให้เหมาะสม ภาครัฐก็ต้องมีนโยบายที่เกี่ยวข้อง ช่วยส่งเสริมทั้งผู้ผลิต ผู้ก่อสร้างและผู้ออกแบบ

ด้าน ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน กล่าวว่า อุตสาหกรรมก่อสร้างมีคาร์บอนค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงต้องหั่นเป็นท่อนๆ เรื่องแรกคือการพัฒนาวัสดุ หากจะให้กรีนคงเป็นไปไม่ได้ แต่ว่ากรีนเนอร์ เขียวขึ้นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และคลีนเนอร์ สะอาดขึ้น คือสิ่งที่ต้องมีการใช้วิจัยและการนวัตกรรมปรับเพิ่มขึ้น พฤติกรรมของคนแต่ละคนมีคาร์บอนอยู่แล้ว เพียงแต่ใส่ใจเข้าไป ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเล็กน้อย โลกนี้จะดีขึ้น เพราะโลกเรามีเพียงแค่ใบเดียวเราไม่มีโลกสํารอง


กำลังโหลดความคิดเห็น