xs
xsm
sm
md
lg

องคมนตรีติดตามสถานการณ์น้ำ และการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 67

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



องคมนตรีติดตามสถานการณ์น้ำ และการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 67 เผยในหลวงร.10 ทรง รับสั่งมารับฟังข้อมูล พร้อมทรงห่วงใยราษฎรต่อภัยพิบัติที่เกิดขึ้น และนำมาปฏิบัติ ด้วยมีพระราชประสงค์ให้คนไทยมีข้าวกินทุกมื้อจาก'ครัวพระราชทาน'

วันนี้(16 ก.ย. 67) ที่ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2567 โดยมี นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการ กปร. และนายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน คณะผู้บริหารสำนักงาน กปร. กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม เพื่อติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศและประเมินสถานการณ์น้ำโดยภาพรวม เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา


ทั้งนี้ที่ประชุมได้รับทราบถึงสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะที่ จ.เชียงราย ในช่วงวันที่ 9 - 11 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา เนื่องจากอิทธิพลจากพายุดีเปรสชัน “ยางิ” ที่อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง มีฝนตกหนักมากกว่า 200 มิลลิเมตร เกิดน้ำป่าไหลหลากล้นตลิ่งแม่น้ำอิง แม่น้ำสาย แม่น้ำกก และแม่น้ำจัน เข้าท่วมพื้นที่ อ.แม่สาย อ.แม่จัน อ.พญาเม็งราย อ.ขุนตาล และ อ.เทิง และ อ.เมืองเชียงราย ส่วนที่ จ.เชียงใหม่ ระดับน้ำในแม่น้ำปิงและลำน้ำสาขาได้ลดลงต่อเนื่องไหลลงสู่แม่น้ำกกและออกสู่แม่น้ำโขง ขณะที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ได้ปรับลดการระบายน้ำปัจจุบันมีพื้นที่นอกคันกั้นน้ำได้รับผลกระทบบริเวณชุมชนแม่น้ำน้อย คลองบางหลวง และคลองบางบาล สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ควบคุมบานระบายของเขื่อนในแม่น้ำชีทุกแห่ง เพื่อระบายน้ำจากแม่น้ำชีให้ไหลลงแม่น้ำมูลออกสู่แม่น้ำโขงโดยเร็ว ต่อไป

การนี้นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี กล่าวในที่ประชุมว่า เป็นพระราชกระแสรับสั่งให้องคมนตรีมารับฟังข้อมูลสถานการณ์น้ำด้วยทรงห่วงใยราษฎรต่อภัยพิบัติที่เกิดขึ้น และมีกระแสพระราชดำรัสที่ส่วนเกี่ยวข้องได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรับมาปฏิบัติ ด้วยมีพระราชประสงค์ให้คนไทยทุกคนมีข้าวรับประทานทุกมื้อเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น ซึ่งส่วนเกี่ยวข้องได้นำมาดำเนินการ เช่น ครัวพระราชทาน เป็นต้น


“ข้อมูลที่มารับฟังนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นนักยุทธศาสตร์ทางทหารก็จริง แต่พระองค์ทรงประยุกต์ใช้ในการบริหารกิจการที่จะทำให้อาณาประชาราษฎร์มีความปลอดภัยพ้นจากภัยพิบัติ คือ ถ้าระวังได้ก็ระวัง ถ้าระวังไม่ได้ก็จะดูแลช่วยเหลือประชาชน ชดเชยความเสียหาย ทรงหวังว่าทุกฝ่ายมีการการเตรียมการที่ดีอยู่แล้วในขณะนี้ อันนี้คือหน้าที่ที่มารับทราบจากทุกฝ่ายในวันนี้ และเมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้วพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้องคมนตรีไปเยี่ยมประชาชน และเชิญถุงพระราชทานไปมอบให้ราษฎรที่ประสบภัย เพื่อเป็นกำลังใจจากน้ำพระทัยพระองค์ท่านที่ระลึกถึงพี่น้องประชาชน” องคมนตรีกล่าว

ทางด้าน นางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการ กปร. กล่าวถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาระยะยาวว่า โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ส่วนใหญ่ประชาชนจะขอเรื่องแก้ปัญหาน้ำแล้ง การขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและทำกิน ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญภายหลังจากเกิดภัยพิบัติแล้ว ทั้งนี้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประมาณ 70 % เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ที่ผ่านมามีประมาณ 3,000 กว่าโครงการ พบว่าส่วนใหญ่จะตื้นเขิน ช่วงหน้าฝนรับน้ำได้น้อย ช่วงหน้าแล้งมีน้ำต้นทุนไม่เพียงพอ ขณะที่โครงการยังมีศักยภาพที่สามารถขยายผลเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์เพิ่มเติมได้


“โครงการที่มีอยู่แล้วหากพัฒนาเพิ่มเติมได้ก็อยากจะให้ดำเนินการ เนื่องจากปัจจุบันการพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ๆ จะเกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก ถ้าพัฒนาแหล่งน้ำเดิมเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำให้ประชาชนได้มากยิ่งขึ้นก็น่าจะสามารถทำได้ทันที” เลขาธิการ กปร. กล่าว

ขณะที่นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ในระยะเร่งด่วนขณะนี้จะแก้ไขปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำเศษวัชพืชที่ลอยมาติดสะสมตามจุดคอขวดต่างๆ เพื่อการระบายน้ำที่รวดเร็ว ส่วนที่อยู่ริมแม่น้ำโขงต้องรอให้น้ำในแม่น้ำโขงลดระดับลงจึงจะระบายน้ำที่ท่วมขังลงสู่แม่น้ำโขงต่อไปได้ ซึ่งถึงตอนนั้นจะเร่งดำเนินการอย่างเร็วที่สุด” นายชูชาติกล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น