กปร. จับมือ “กรมชลประทาน” สร้างแผนแก้ปัญหาน้ำท่วมยะลา “อดุลย์” เผยใช้แนวทางสืบสาน-รักษา-ต่อยอดพระราชดำริ ร.9 เชื่อทำให้ปลาในแม่น้ำไม่สูญพันธุ์ สร้างประโยชน์ที่ยั่งยืน คืนอาชีพให้ชุมชน
วันนี้ (15 ก.ย. 2567) นายอดุลย์ ยามาลี กำนัน ตำบลท่าสาป อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา กล่าวถึงแนวทางการป้องกันปัญหาน้ำท่วมจังหวัดยะลา ว่า ขณะนี้ สำนักงาน กปร. ร่วมกับกรมชลประทาน พิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในจังหวัดยะลา และได้ดำเนินการขุดลอกคลองธรรมชาติ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ คลองลำดา คลองตาสา และคลองสาคอ พร้อมปรับปรุงระบบระบายน้ำ โดยสำนักงาน กปร. ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณปี 2553 – 2554 เพื่อดำเนินการปรับปรุงคลองที่มีอยู่เดิมให้มีศักยภาพในการระบายน้ำมากยิ่งขึ้น
นายอดุลย์ กล่าวต่อว่า ตั้งแต่มีโครงการระบบระบายน้ำตำบลท่าสาปอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ก็หมดไป ช่วงหน้าฝนน้ำมาก ระบบจะส่งน้ำลงสู่แม่น้ำปัตตานีได้อย่างรวดเร็ว และเกิดอาชีพใหม่ คือ การจับปลามาบริโภคและจำหน่ายสร้างรายได้ให้ชุมชน เพราะปลามีปริมาณมาก ขณะที่ชาวสวนที่ปลูกทุเรียน ปลูกผัก
ก็หมดปัญหาเรื่องน้ำท่วมขัง ขณะที่หน้าแล้งก็ยังมีน้ำใช้รดต้นไม้ได้อย่างเพียงพอ
“มีการจัดตั้งกลุ่มเกษตรตําบลท่าสาปขึ้น ผลิตปลาส้มจำหน่าย ซึ่งเป็นปลาที่เหลือจากการนำไปขายในตลาด เนื่องจากปลาที่จับได้จะมีมาก และกลุ่มฯ ก็เป็นกำลังสำคัญในการช่วยกันรณรงค์ให้มีการปล่อยพันธุ์ปลาลงสู่แม่น้ำเพื่อแพร่ขยายพันธุ์ในแม่น้ำไม่ให้หมดไป” นายอดุลย์ ยามาลี กล่าว
นายอดุลย์ ระบุว่า โครงการระบบระบายน้ำตำบลท่าสาปอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นหนึ่งในระบบระบายน้ำ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำของโครงการอ่างเก็บน้ำลำพะยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
มีพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้องคมนตรี ติดตาม เร่งรัด ขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ยังไม่ได้ดำเนินการให้แล้วเสร็จเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ราษฎร และเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม 2567
พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมด้วย นายวิกรม คัยนันทน์ รองเลขาธิการ กปร.
และคณะอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนฯ ลงพื้นที่โครงการฯ พบว่า ปัจจุบันได้มีการเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ และป้องกันน้ำท่วมขังให้แก่ราษฎรในพื้นที่บ้านสาคอ หมู่ที่ 4 และบ้านท่าสาป หมู่ที่ 2 ตำบลท่าสาป อำเภอเมืองยะลา จำนวน 165 ครัวเรือน 700 คน และช่วยให้ราษฎรในพื้นที่โครงการฯ มีแหล่งเก็บกักน้ำเพื่อประโยชน์ในด้านการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง ตลอดจนกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชนเป็นอย่างดี
ทั้งนี้ พื้นที่จังหวัดยะลา มีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวนรวม 93 โครงการ แบ่งอออกเป็นโครงการด้านแหล่งน้ำกว่า 60 โครงการ ทำให้ราษฎรมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีน้ำอุปโภคบริโภค และทำการเกษตรอย่างเพียงพอ
นายอดุลย์ กล่าวเสริมว่า ตำบลท่าสาป อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา เป็นพื้นที่พหุวัฒนธรรมที่มีทั้งชาวไทยพุทธและมุสลิม แม้มีความต่างของศาสนา วัฒนธรรมและประเพณี แต่ความรักสามัคคี โอบอ้อมอารีช่วยเหลือซึ่งกันและกันของชุมชน ยังคงสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น เป็นอัตลักษณ์ ที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นพหุวัฒนธรรมของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขมายาวนาน ซึ่งพื้นที่อยู่อาศัยและทำกินส่วนใหญ่เป็นที่ราบ มีแม่น้ำปัตตานีเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ ในอดีตขาดการบริหารจัดการที่ดีทำให้ช่วงฤดูฝนเกิดน้ำท่วมทุกปี หน้าแล้งระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งทำให้พื้นที่ขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและทำการเกษตร เพื่อช่วยเหลือราษฎรให้หลุดพ้นจากปัญหา เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2552 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริแก่นายสุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการบริหารสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้พิจารณาแนวทางในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะบริเวณที่มีการก่อสร้างถนนที่ยกสูงแล้วกลายเป็นคันกั้นน้ำ ทำให้การระบายน้ำในช่วงหน้าฝนไม่เป็นไปตามธรรมชาติ