xs
xsm
sm
md
lg

“ครูธัญ” ติงนโยบายเท่าเทียมทางเพศของรัฐบาล ยังเป็นแค่คำสวยหรู หวังให้เครดิตตัวเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ครูธัญ” ติงนโยบายเท่าเทียมทางเพศของรัฐบาล ยังเป็นแค่คำสวยหรู หวังให้เครดิตตัวเอง ไร้ข้อเสนอใหม่-ขาดการปฏิบัติที่ชัดเจน ชี้หากต้องการขับเคลื่อนจริงต้องกระตุ้นหน่วยงาน

วันที่ 14 ก.ย. 2567 นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน แสดงความคิดเห็นต่อแถลงนโยบายของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า แม้นโยบายจะพูดถึงการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถเข้าถึงสิทธิที่ควรได้รับ แต่ยังขาดข้อเสนอใหม่ที่ชัดเจนและซ้ำซ้อนกับสิ่งที่มีอยู่แล้ว

นายธัญวัจน์ ระบุว่า กระบวนการทางกฎหมายเกี่ยวกับการสมรสเท่าเทียมและการคุ้มครองสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศได้ถูกกำหนดไว้อยู่แล้ว ซึ่งการที่รัฐบาลแถลงนโยบายครั้งนี้อาจดูเหมือนเป็นการให้เครดิตตนเองในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว มากกว่าการเสนอแนวทางใหม่ เพื่อขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศให้ก้าวหน้าอย่างแท้จริง

“เมื่อดูจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2567 ที่มีข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างกฎหมายสำคัญ ๆ เช่น ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (สมรสเท่าเทียม) รวมถึงร่างพระราชบัญญัติการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ และการแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยการใช้เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ ซึ่งไม่ได้ถูกกล่าวถึงในการแถลงนโยบายครั้งนี้เลย จึงมองว่ารัฐบาลยังขาดการวางกรอบนโยบายที่ชัดเจนและไม่ตอบสนองต่อสถานการณ์ปัจจุบัน” นายธัญวัจน์ กล่าว

นายธัญวัจน์ ยังตั้งข้อสังเกตว่านโยบายที่เกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศของรัฐบาลในครั้งนี้ ยังแคบกว่าแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2566-2570 ที่ดำเนินการโดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ซึ่งครอบคลุมทั้งหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ทำให้นโยบายดังกล่าวดูเป็นเพียงคำพูดสวยหรูที่ขาดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

“หากรัฐบาลต้องการขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศอย่างจริงจัง ควรให้ความสำคัญกับการปรับปรุงและเร่งรัดการดำเนินการที่ล่าช้าของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดจากพ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ซึ่งยังไม่สามารถทำให้ประชาชนเข้าถึงกลไกการแก้ปัญหาได้อย่างทั่วถึง ขณะเดียวกัน ร่างพ.ร.บ.จัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ทางกฤษฎีกาก็ให้ความเห็นว่าซ้ำซ้อน ก็น่าจะต้องพิจารณากลไกดังกล่าวที่ยังไม่มี กับกลไกร่างพ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศว่าควรมีการปรับปรุงอย่างไร ”นายธัญวัจน์ กล่าว

นายธัญวัจน์ ยังได้ยกตัวอย่างโครงการแจกผ้าอนามัยฟรี ซึ่งเคยเป็นข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2565 แต่ไม่มีการกล่าวถึงในแถลงนโยบายครั้งนี้ ทำให้เกิดคำถามว่าโครงการดังกล่าวจะยังถูกผลักดันอยู่หรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น