xs
xsm
sm
md
lg

ปชน.เย้ยนโยบาย "อิ๊งค์" หลงทางแบบ "เศรษฐา" ตรงไอเดีย "แม้ว" ไม่รู้ใครคิดใครทำ อยากเห็นนายกฯ มีแสงในตัวเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ไหม" เย้ย นโยบาย “อิ๊งค์” ไม่ต่าง “เศรษฐา“ พาประเทศหลงทาง เหมือนเดิม หลายนโยบายตรงไอเดีย ”ทักษิณ“ ไม่รู้ใครคิด ใครทำ ตรวจสอบยาก จี้ตอบรายละเอียดเอง เพราะไม่รู้ต้องตรวจสอบใคร เหน็บอยากเห็นนายกฯ มีแสงในตัวเอง ไม่ใช่ดาวเคราะห์ที่รอแสงจากพระอาทิตย์

วันนี้ (12ก.ย.) น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) อภิปรายถึงนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลนส.แพทองธาร ชินวัตร ว่า ตนขอเรียกคำแถลงนโยบายของรัฐบาลว่าจีพีเอส ย่อมาจาก Government Policy Statement ซึ่งจะเป็นตัวชี้ว่านโยบายจะนำพาประเทศเดินไปในทางใด ถือว่าสำคัญกับรัฐบาลเพราะมีความยุ่งยากซับซ้อน เนื่องจากรัฐบาลนี้เกิดจากการผิดคำพูด ผิดสัญญาไปแล้ว 1 ครั้ง ซึ่งก็มีความผิดหวังเสียใจที่ไม่สามารถส่งมอบนโยบายมาแล้ว การแถลงนโยบายครั้งนี้ของรัฐบาลควรจะกู้คืนความเชื่อมั่นและศรัทธาของประชาชนให้กลับคืนมา ควรเป็นสัญญาที่มีความหนักแน่นว่าจะทำอะไร เมื่อไหร่ ด้วยวิธีการอย่างไร

“เมื่อตรวจสอบนโยบายแล้วพบว่าไม่ได้ต่างจากรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี เท่าไหร่ ยังเป็นจีพีเอสที่พาเราหลงทางอยู่เหมือนเดิม เพราะใช้คำกว้างๆ ได้แค่พยักหน้า แต่ไม่ได้บอกว่าจะทำอย่างไร ชอบใช้คำว่าเร่งรัดแต่ไม่ได้บอกว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ ขาดความชัดเจนว่าตัวชี้วัดที่เป็นตัวเลขที่ประชาชนจะสามารถติดตามต่อได้ ขณะที่การกำหนดเป้าหมายก็เขียนไว้ โดยไม่มีโครงสร้าง แต่ไปอยู่ที่สุดท้ายเพื่อสร้างโอกาสอย่างเท่าเทียมกันเพื่อให้คนไทยมีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรีเพื่อนำพาความภาคภูมิใจมาให้คนไทย แต่ต้องบอกว่าเป้าหมายไม่ชัดเจน หากเทียบกับนายกรัฐมนตรีคนอื่นๆ ที่ผ่านมา ดิฉันก็ยังมอบมงให้รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะบอกชัดเจนในเรื่องของเศรษฐกิจ สังคม และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะเป็นอย่างไร ในปีไหน โดยมีความชัดเจนในรายละเอียมาก จนไม่แน่ใจว่าทำไมจึงไล่คนเขียนนโยบายออก”

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า การที่ไม่เขียนนโยบายให้มีความชัดเจน จะมีปัญหาตรงที่หากประชาชนกลับมาเช็กว่ารัฐบาลได้ทำตามนโยบายหรือไม่ พอทวงถามก็จะเถียงกันได้ไม่จบว่าทำแล้วหรือยังไม่ได้ทำ ซึ่งเราก็ยังพอมีดิจิทัล ฟรุตปรินท์ที่ตอนพรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ชัดเจน แต่กลับมีการเปลี่ยนแปลง เช่น ค่าแรง 600 บาท เหลือแค่ค่าแรงเป็นธรรม, เงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาทต่อเดือน ก็เหลือแค่เงินเดือนเป็นธรรม และบางนโยบายของรัฐบาล น.ส.แพทองธารกลับจางหายไป เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ แต่ที่ตกใจมากคือเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตหนึ่งหมื่นบาทที่ปกติเขียนไว้ชัด แต่การแถลงนโยบายรอบนี้คำว่า1 หมื่นบาทกลับหายไป ขออย่าทำให้ใจเสีย และรีบตอบมาว่าสรุปแล้ว 1 หมื่นบาทจะยังได้อยู่หรือไม่ เพราะประชาชนก็ทวงถามมาว่ายังเป็น1หมื่นบาทอยู่หรือไม่ แต่นโยบายที่เพิ่มขึ้นมาคือรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย แปลงร่างมาเป็นค่าโดยสารราคาเดียวตลอดสาย ทำให้นโยบายไม่เหมือนกับที่เคยหาเสียงไว้ แต่ไปเหมือนกับวิสัยทัศน์ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งตรงกัน 11 ประเด็นจาก 14 ประเด็น เช่น เรื่องดิจิทัลวอลเล็ตที่บอกจะแจกกลุ่มเปราะบางก่อน, ขุดเศรษฐกิจใต้ดินเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์, การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งถือว่าจะมีปัญหา

“การที่ไม่รู้ว่าใครเขียน ใครคิด ใครเป็นคนวางนโยบายนั้น ทำให้การตรวจสอบทำได้ยากเพราะไม่รู้ว่าใครเป็นคนกำหนดนโยบายตัวจริง หากมีปัญหาต้องไปถามใคร เมื่อทำแล้วก็ไม่รู้ว่าต้องไปตรวจสอบใคร ยิ่งไปกว่านี้หากเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ การประชุมครม.ก็จะเหลือการประชุมแค่พิธีกรรม เพราะเรื่องสำคัญอาจจะไม่ได้ตัดสินใจบนโต๊ะประชุม ครม. แต่ไปถูกตัดสินใจมาแล้วจากที่อื่นแล้ว เราก็ไม่รู้ได้เลยว่าใครคือตัวจริง อีกประเด็นที่มีปัญหาคือเราจะเห็นว่าแม้คำพูดเหมือนกัน ถ้อยคำที่เหมือนกัน แต่ฟังแล้วก็รู้ว่าให้เอฟเฟกต์ไม่เหมือนกัน เราอยากเห็นนายกฯ ที่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือ สร้างความมั่นใจให้ประชาชนได้ว่าท่านนี่แหละที่จะเป็นคนที่ดำเนินนโยบายที่แถลงได้เอง ซึ่งยังไม่สายเพราะตอนที่อ่านคงต้องอ่านไปตามกฎหมาย วันนี้จึงขอให้ท่านมาตอบด้วยตัวเองถึงเรื่องรายละเอียดต่างๆ เพราะเราอย่างเห็นนายกฯ ที่มีแสงสว่างในตัวเอง เป็นดาวฤกษ์ไม่ใช่ดาวเคราะห์ ที่สว่างจากการส่องแสงของพระอาทิตย์ แล้ววันที่พระอาทิตย์สว่างจ้า เราจะไม่เห็นดวงจันทร์” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ใน 1 ปีที่ผ่านมาเรายังไม่เห็นนโยบายอะไรที่จะเป็นมาตรการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจไปถึงรากหญ้าออกมา งบกลางที่นำออกมาก็ไม่ค่อยได้ใช้เพราะต้องกั๊กไว้ใช้กับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่มีการเปลี่ยนแหล่งที่มาของเงินเป็นรอบที่ 7 แล้ว นอกจากนี้ยังเป็นเงื่อนไขต่างๆ อีก ทั้งนี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็เคยให้สัมภาษณ์ระบุว่าจะแบ่งจ่ายเป็น 2 งวด งวดแรก 5,000 บาท หากระบบชำระเงินเสร็จทันก็จะแจกเป็นเงินดิจิทัล แต่หากไม่ทันก็จะแจกเป็นเงินสด วันนี้จึงอยากฟังชัดๆ ว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตสุดท้ายแล้วจะไปจบที่ตรงไหน จะยังคงแจกหนึ่งหมื่นบาทเหมือนเดิมหรือไม่ จะแจกเป็นเงินสดหรือดิจิทัลวอลเล็ต

“ดิฉันคิดว่ารัฐบาลใหม่แล้วคงต้องหยุด แล้วมาตั้งสตินิดหนึ่งว่าพวกท่านพานโยบายเรือธงใหญ่เช่นนี้มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร เดาว่าคงมีมือที่มองไม่เห็นที่คอยสั่งอย่างเดียวว่าต้องเอาให้ได้ โดยที่ไม่รู้ว่าหน้างานเป็นอย่างไร กฎหมายเปลี่ยนไปแค่ไหน 20 กว่าปีผ่านมาแล้ว ฐานะการคลังรับได้แค่ไหน เมื่อไม่ได้คิดไม่ได้มองก็สักแต่จะทำให้ได้ เจ๊งไม่ได้แต่เสียหน้าไม่ได้ สุดท้ายหน้าก็เสียไปแล้ว และเหมือนเป็นอาการเมาหมัด เงินมีเท่าไหร่ก็แจกๆ ไปก่อน แจกพร้อมกันไม่ได้ก็ให้แจกเป็นเงินสดไปสุดท้ายแล้วไปตายเอาดาบหน้า สุดท้ายแล้วเครดิตจะไม่เหลือ รวมถึงหลายครั้งก็ชี้นิ้วมาที่ฝ่ายค้านว่าทำให้ต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ทำให้ต้องล่าช้า แต่อย่าอ้างเลยว่ารับฟังคนเห็นต่างเมื่อมีคนทักท้วงเลยต้องเปลี่ยนตาม เพราะสิ่งที่เราพูดนั้นเป็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย สุดท้ายเมื่อเปลี่ยนนายกฯ ก็ไม่มีใครกล้าทำอะไรที่เสี่ยงกฎหมายอีกแล้ว ตอนนี้ไม่ใช่แค่รัฐบาลที่เสียเครดิต เสียความเชื่อมั่น แต่ยังมีข้าราชการด้วยที่เสียคนเพราะต้องออกมาแก้ต่างให้ กลายเป็นหนึ่งปีที่สูญเปล่าาสุดท้ายเงินก็ยังไม่ได้ เสียเวลา เสียสมาธิ เสียโอกาสที่จะใช้งบกลางในการใช้มาตรการอื่นๆ กระตุ้นเศรษฐกิจ และพายุหมุนทางเศรษฐกิจที่แทนที่จะกระแทกตอนนี้ก็อ่อนกำลังลงไปเรื่อยๆ พร้อมกับเครดิตและความเชื่อมั่นของรัฐบาล จึงขอฟังชัดๆ ว่าสรุปแล้วผลต่อเศรษฐกิจสุดท้ายแล้วจะเป็นเท่าไหร่“ น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ตนขอดักคอไว้ก่อนเศรษฐกิจจะฟื้นตัวตามอัตถภาพ แม้จะไม่มีดิจิทัลวอลเล็ตไตรมาส 3 ก็โตเกือบ 3 เปอร์เซ็นต์แล้ว และไตรมาส 4 ก็โตเกือบ 4 เปอร์เซ็นต์แล้ว ฉะนั้น ห้ามเคลมว่าที่โตเท่านั้นเพราะฝีมือของรัฐบาล นอกจากนี้ รัฐบาลมองเรื่องการปฏิรูปราชการเพียงแค่ว่าต้องลดขนาด เพิ่มประสิทธิภาพ ใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ไม่มีการพูดถึงการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่แท้จริงของความอุ้ยอ้าย ความซ้ำซ้อนและความไร้ประสิทธิภาพของระบบราชการ

“ขอให้ช่วยกลับมาคิด กลับมาโฟกัสกับเรื่องการปฏิรูประบบราชการ เพราะไม่เช่นนั้นเราจะไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจโตได้อย่างที่ใจหวัง และนี่เป็นบทพิสูจน์สำคัญของรัฐบาลชุดนี้ว่าจะสามารถเคลมเครดิตจากอะไรที่เคยสำเร็จไว้ในอดีตได้หรือไม่ เพื่อพิสูจน์ว่าน้ำยาหรือประสิทธิภาพที่เคยมีเมื่อ 20 ปีก่อนจะยังคงอยู่หรือไม่ ซึ่งถ้าอ่านจากการวิเคราะห์นโยบายที่ออกมาเรื่องการปฏิรูประบบราชการ ดิฉันไม่เห็นว่าจะเป็นทางออกทางรอดของการปฏิรูปผ่านถ้อยคำแถลงครั้งนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่านายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้ที่ลุกขึ้นมาตอบคำถามเหล่านี้ด้วยตัวเอง” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น