วันนี้(10 ก.ย.)น.ส.ลลิตา โสมภีร์ รองประธานสภาเด็กและเยาวชนฝ่ายกิจกรรมและนันทนการจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สภาเด็กและเยาวชนกาญจนบุรี รวมตัวจัดทำร่างสมัชชาเด็กและเยาวชนจังหวัดกาญจนบุรี ประจำปี 2567 โดยมีการพิจารณาประเด็นปัญหาภัยจากสิ่งเสพติด กัญชา กระท่อม และการปรับแก้กฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนและสังคมทั้งทางตรงหรือทางอ้อม ออกมาเป็นมติที่จะเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ในกิจกรรมวันงานเยาวชนแห่งชาติ ปี 2567 ดังนี้ 1.ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องในทุกระดับตรวจตราสถานที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสถานที่เสี่ยงต่อการจำหน่ายสิ่งเสพติด เพื่อให้มีการบังคับใช้กฎหมาย ที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวดและสม่ำเสมอ
2. ให้สถาบันการศึกษาทุกระดับ และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องในจังหวัดกาญจนบุรี ร่วมกับหน่วยงานระดับชุมชนและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น สำรวจ ตรวจและติดตาม นักเรียนกลุ่มเสี่ยงใช้สิ่งเสพติด และจัดโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหา อบรมให้ตระหนักถึงโทษภัยของสิ่งเสพติดให้แก่นักเรียน นักศึกษา อย่างมีประสิทธิภาพ 3. ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องในทุกระดับบังคับใช้กฎหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าในจังหวัดกาญจนบุรีอย่างเข้มงวดเด็ดขาด ผลักดันมาตรการห้ามสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน ให้รัฐบาลหามาตรการควบคุมการซื้อบุหรี่ไฟฟ้าจากต่างประเทศช่องทางต่างๆ และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีประกาศนโยบายจังหวัดกาญจนบุรีปลอดบุหรี่ไฟฟ้า
4. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาระบบให้คำปรึกษา ช่วยลดการบริโภค ช่วยเลิก บำบัดรักษา ผู้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่มวน บุหรี่ไฟฟ้า กระท่อม กัญชา เป็นต้น ส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดกาญจนบุรี 5. ให้หน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดกาญจนบุรีร่วมกันประชาสัมพันธ์ระบบร้องทุกข์ และแจ้งเหตุการละเมิดกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ไฟฟ้า กัญชา กระท่อม โดยการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนในจังหวัดกาญจนบุรีและมีระบบติดตาม แจ้งผลการดำเนินงานให้กับผู้ร้องเรียนทราบ 6. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดกาญจนบุรี มีนโยบายสนับสนุนบุคลากร งบประมาณ และทรัพยากรอื่นๆ ในการเปิดพื้นที่และพัฒนากิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม ลดปัญหา ยาเสพติด และเป็นการพัฒนาศักยภาพเด็กเยาวชนและครอบครัวร่วมกัน
“ร่างสมัชชาครั้งนี้ เกิดจากข้อกังวลและความห่วงใยในปัญหาที่เกิดจากสิ่งเสพติด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากเด็กๆ มีมือถือสามารถเข้าถึงโซเชียลมีเดีย และสื่อต่างๆ ได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะโฆษณาเหล้า บุหรี่ไฟฟ้า อีกทั้งยังสามารถซื้อ ขายผ่านออนไลน์ง่ายขึ้นด้วย เป็นประตูที่จะทำให้ก้าวข้ามไปถึงสิ่งเสพติดอื่นๆได้ง่าย ยิ่งขณะนี้กำลังมีการแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงคิดว่าควรนำประเด็นนี้มาร่วมกันคิด วางแผน นำไปสู่การแก้ไขที่ถูกต้อง ปรับให้รัดกุมมากขึ้น เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชน วอนผู้ใหญ่ ทุกหน่วยงานออกมาช่วยกันดูแลอย่างเต็มที่ เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีความปลอดภัย ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข เป็นพิษภัยเป็นอุปสรรคต่ออนาคตเด็กไทย” น.ส.ลลิตา กล่าว
นายนนทพัทธ์ บุญศรี แกนนำสภาเด็กและเยาวชน อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า ปัจจุบันก็เห็นกันอยู่ ข่าวก็มีแต่เรื่องเมาแล้วตีกัน เกิดความรุนแรงกับพ่อ-แม่ก็มี การดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้ส่งผลดีเลย จริงๆแล้วมันส่งผลเสียทุกด้านเลยครับ ส่งผลกระทบต่อสมอง เยาวชนควรจะเติบโตเพื่อไปสร้างประโยชน์ให้กับสังคม อีกทั้งยังส่งผลกระทบด้านสุขภาพอีกด้วย กิจกรรมเยาวชนอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ออกมาช่วยขับเคลื่อน จากกลุ่มเล็กๆ ขยายผลสู่แนวทางของหน่วยงานระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ช่วยกันรณรงค์ สร้างค่านิยมใหม่ และเรียกร้องให้เกิดความร่วมมือ ช่วยกันลดผลกระทบในสังคม สำหรับด้านกฎหมายที่มีอยู่แล้ว เราก็ควรปฏิบัติตาม ผู้ที่ช่วยกันร่างกฎหมายขึ้นก็คงคิดดีแล้ว หากจะแก้ไขมันควรที่จะครอบคลุม รัดกุมมากขึ้น อย่าให้กลายเป็นเพิ่มช่องโหว่หรือมีจุดบกพร่อง เปิดโอกาสให้เข้าถึง หรือเอื้อต่อบางสิ่ง มันอาจทำให้อนาคตของเยาวชน สังคมชาติแย่ลงก็ได้
ด้าน นายณัฐวุฒิ พัดชื่น อดีตประธานสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า การดื่มเหล้าทำให้ขาดสติ หากมีการขับรถก็เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุทางถนน ทำให้ผู้ที่ไม่ดื่มต้องรับผลกระทบทั้งร่างกาย และทรัพย์สินไปด้วย ดังนั้นเราจึงต้องออกมาช่วยกันเฝ้าระวัง และเรียกร้องให้มีมาตรการควบคุม ดูแลอย่างรัดกุม เพราะเมื่อเกิดปัญหาแล้วไม่มีใครออกมาร่วมรับผิดชอบต่อเหยื่อ ให้ต้องเผชิญชะตากรรม ดังนั้นในส่วนนี้มองว่า ผู้ผลิต จำหน่ายต้องออกมายืดอกแบกความรับผิดชอบ โดยตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือเยียวยาสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ แต่ตนเชื่อว่าสามารถทำได้
ขณะที่ นายจักรกฤษณ์ สมศรี ที่ปรึกษาสภาเด็กและเยาวชน จังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า จากการทำงานด้านเด็กเยาวชนมามากกว่า 10 ปี โดยร่วมกับเครือข่ายงดเหล้า และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำให้เข้าใจว่า เด็กเยาวนชอยู่ในวัยที่อยากรู้ อยากลอง จึงได้มีแนวคิดหลอมรวมเยาวชน จังหวัดกาญจนบุรี ให้เริ่มต้นทำกิจกรรมเล็กๆ ที่เขาชอบเพื่อดึงความสนใจออกจากปัจจัยเสี่ยงทั้งหลาย เช่น จัดเป็นดนตรี กีฬา กิจกรรมค่ายจิตอาสา การเข้ากลุ่มได้เจอเพื่อนใหม่ๆ มีการแสดงออกร่วมกัน นำไปสู่การพัฒนาตัวเอง มีภาวะผู้นำ มีความรับผิดชอบ ช่วยเหลือกันในการทำงานหรือแก้ไขปัญหาต่างๆ อีกทั้งพฤติกรรมของคนใกล้ตัวเด็กก็ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี ให้เด้กได้ซึมซับสิ่งดีๆ ถ้าสังคม สิ่งแวดล้อมดี ก็เป็นเบ้าหลอมที่ดีสำหรับเด็กเยาวชน สู่อนาคตที่ดีต่อไป