มหาดไทย รายงานความก้าวหน้า “พัฒนาเกาะสีชัง” หลัง จ.ชลบุรี คาดการณ์ใช้งบประมาณมากกว่า 1 พันล้าน “มท.หนู” หารือสภาพัฒน์ ประสาน กฟภ. เช่าพื้นที่ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ติดตั้งโซลาร์ฟาร์มเพิ่มเติม ขยายผล Solar Rooftop ประจำครัวเรือน สั่งคณะทำงาน มท.- กฟภ. ศึกษา Quick Wins ชู “เกาะสีเขียว” พบล่าสุด กฟภ.วางระบบไว้แล้ว วงเงิน 200 ล้าน จ่อเพิ่มเกาะขามใหญ่ อีก 1 แห่ง ส่วนแผนบริหารจัดการน้ำ ชูประปาดื่มได้ โว! ลดค่าน้ำ 80 บาท จากเดิมหน่วยละ 500 บาท หลังวางท่อส่งน้ำยักษ์ ส่วนระบบกำจัดขยะบนเกาะ จ่อของบ สถ. 20 ล้าน สร้างเตาเผาขยะเพิ่ม
วันนี้ (10 ก.ย.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า การลงพื้นที่เพื่อประชุมติดตามความก้าวหน้าโครงการพัฒนาเกาะสีชัง จ.ชลบุรี ที่อาคารศูนย์การเรียนรู้ประวัติศาสตร์เกาะสีชัง ตามพระราโชบายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
โดยมี พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ราชเลขานุการในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย (มท.1) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมประชุมกับจังหวัดชลบุรี
โดยตอนหนึ่ง นายอนุทิน กล่าวว่า ในการบริหารระบบไฟฟ้าบนเกาะสีชัง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มีแผนทำระบบการติดตั้งโซลาร์ฟาร์ม ซึ่งเป็นระบบไมโครกริด ขนาด 6 เมกะวัตต์ พร้อมติดตั้ง Storage ประมาณ 8-10 เมกะวัตต์ ในพื้นที่เกาะสีชัง
มีแผนเช่าพื้นที่จากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เพื่อให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าได้ โดยตนจะได้นำความตั้งใจนี้หารือกับ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ว่าทำอย่างไร ให้โครงการโซลาร์ฟาร์ม ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มศักยภาพและต่อเนื่อง ซึ่งจะเกิดประโยชน์อย่างมาก
“เพราะแน่นอนว่าประชาชนจะมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น เพราะมีระบบสาธารณูปโภคที่เข้าถึง ทั่วถึง ทั้งไฟฟ้า ประปา และจะเป็นแรงดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศเข้ามา”
ดังนั้น มท. จะยกโครงการพัฒนาเกาะสีชัง เป็นต้นแบบ เพราะสอดคล้องกับโครงการตามนโยบายส่งเสริม Solar Rooftop เพื่อให้ประชาชนแต่ละบ้านมี Rooftop ที่เป็นหลังคา Solar ไว้ใช้เอง เพื่อลดค่าไฟฟ้า
“จะทำให้ครัวเรือน บนเกาะสีชัง เพียงไม่กี่พันหลัง ได้รับประโยชน์ มีสิ่งอำนวยความสะดวก ตามเป้าหมายคือ “พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนเกาะสีชังให้ดียิ่งขึ้น”
เป็นเกาะ environment เป็นเกาะสีเขียว มีน้ำประปาดีมาใช้ “ไม่ขาดแคลน” มีระบบไฟฟ้าสะอาด ซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจในเกาะสีชัง
“ตนมั่นใจว่า พวกเราทำได้ เพราะ ผู้ว่าฯ ชลบุรี ก็เป็นคนเกาะสีชัง และด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่ายจะทำให้ประชาชนมีความสุขอย่างแน่นอน”
นายอนุทิน กล่าวอีกว่า ส่วนการบริหารจัดการน้ำ การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ได้รับนโยบายอย่างชัดเจนว่า ไม่เพียงที่จะต้องทำการจัดส่งน้ำประปา หรือทำการให้แหล่งที่มาของน้ำ ไปถึงประชาชนเท่านั้น
แต่เราต้องทำให้น้ำมีคุณภาพที่ดี ประปาต้องดื่มได้ มันคือการลดค่าน้ำทางอ้อม เราต้องหาวิธีทางอ้อม เพื่อที่จะลดค่าใช้จ่ายของเนื้องาน ด้วยการให้เขาดื่มน้ำประปาได้เลย นี่คือ สิ่งที่ มท. กำลังเร่งทำ”
ตอนหนึ่ง รมว.มหาดไทย (มท.1) ยังกล่าวด้วยว่า หลังจากสังเกตครั้งแรกที่เดินทางมาเกาะสีชัง พบว่า ยังขาดชีวิตชีวา หากเรานำ Infrastructure โครงสร้างพื้นฐานเข้ามาได้ ทั้งถนนที่ปรับปรุงให้ดีขึ้น “ให้มีถนนรอบเกาะ” ที่ตอนนี้เห็นว่า มีเพียงแค่หัวเกาะกับท้ายเกาะเท่านั้น
ด้าน นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ด้านบริหารน้ำบนเกาะสีชัง ในเฟสแรก ขณะนี้ กปภ. ได้ร่วมกับเทศบาลตำบล (ทต.) เกาะสีชัง วางโครงสร้างพื้นฐาน ระบบท่อส่งน้ำประปาขนาดใหญ่ และถังกักเก็บน้ำ โรงสูบน้ำ โรงผสมคลอรีน แล้วเสร็จ สามารถส่งน้ำไปยังครัวเรือนได้ 400 ครัวเรือน
ทำให้ค่าบริการซื้อน้ำประปา ลดลงเหลือเพียงหน่วยละไม่เกิน 80 บาท จากเดิมหน่วยละ 280 บาท หรือ 500 บาท ในช่วงฤดูแล้ง และยังคงดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อมั่นใจได้ว่าทั้ง 2,400 ครัวเรือนในพื้นที่เกาะสีชัง จะได้น้ำสะอาด
“ภายในสิ้นปีนี้ ระบบน้ำสำรอง บนเกาะสีชัง เรามีสระหินที่ทางตอนใต้ของเกาะ บริเวณพื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ที่อนุญาตให้ ทต.เกาะสีชัง ใช้ประโยชน์ทำแหล่งกักเก็บน้ำ”
อีกส่วนหนึ่ง คือ สระน้ำพื้นที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ที่อยู่ระหว่างปรับปรุงเพื่อใช้กักเก็บน้ำได้มากถึง 1 ล้านลิตร
ในระยะยาว กปภ. จะพิจารณาขยายเขตการให้บริการมายังบนเกาะสีชัง โดย ทต.เกาะสีชัง ยินดีที่จะถ่ายโอนภารกิจให้กับ กปภ.เพื่อให้คนบนเกาะ ได้ใช้น้ำหน่วยละไม่เกิน 30 บาท
ระบบไฟฟ้า มีแผนพัฒนาระบบไฟฟ้าบนเกาะสีชัง ซึ่งเดิมจ่ายไฟด้วยระบบ Generator โหลดประมาณ 3 เมกะวัตต์ จะติดตั้งเพื่อ Backup เป็นแหล่งจ่ายถาวรในอนาคต
คือ ระบบการติดตั้งโซลาร์ฟาร์ม ซึ่งเป็นระบบไมโครกริด ขนาด 6 เมกะวัตต์ พร้อมติดตั้ง Storage 2 เมกะวัตต์ โดยเช่าพื้นที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ในการดำเนินการ
ส่วนระบบเทคโนโลยีเคเบิลที่ชำรุด ได้ทำการวางสายใหม่ลึก 7 เมตร จากเดิม 1.5 เมตร ที่ไปโดนสมอเรือทำให้เสียหาย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการผลิตสาย ซึ่งจะแล้วเสร็จตามแผนงานจ่ายไฟได้ในเดือนเมษายน 2568
สำหรับการขยายผล Solar Rooftop ประจำครัวเรือน ซึ่งคณะทำงาน มท.- กฟภ. ได้หารือและมอบให้ กฟภ. ไปศึกษาแนวทางในลักษณะ Quick Wins เพื่อให้เกาะสีชังเป็นเกาะสีเขียวเพิ่มมากขึ้น
ล่าสุด จ.ชลบุรี ได้ดำเนินการปลูกต้นไม้ ทั้งรวงผึ้ง โพธิ์ ไทร จามจุรี หางนกยูง ทองอุไร กว่า 200 ต้น ร่วมกับท้องถิ่น
รวมถึง “การบำบัดน้ำเสีย” ได้มีการรับมอบ “ถังดักไขมันครัวเรือนต้นแบบ 50 ครัวเรือน” ผ่านบริษัทเอกชน และ “องค์การจัดการน้ำเสีย” ได้ทำการประเมินปริมาณน้ำเสียในพื้นที่เกาะสีชัง วันละ 2,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีแผนก่อสร้างศูนย์พัฒนาคุณภาพน้ำในพื้นที่ ขนาด 1 ไร่
สำหรับการบริหารจัดการขยะ ทั้ง “ขยะเก่า” ที่ทางเทศบาลตำบลเกาะสีชัง มีปัญหาเดิมอยู่ โดยใช้วิธีการเผาที่เกาะขามใหญ่ จำนวน 2 เตา ในส่วนของขยะใหม่ที่เกิดขึ้น อยู่ระหว่างดำเนินการขอรับการสนับสนุนงบประมาณจัดทำทำเตาเผาในพื้นที่ภายในปี 2568 ซึ่งจะมีศักยภาพเผาขยะได้ถึง 10-15 ตันต่อวัน
ก่อนหน้านั้น นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เปิดเผยถึงแนวทางการพัฒนาเกาะสีชัง เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวและความเป็นอยู่ของประชาชนในปี 2567 ว่า จ.ชลบุรี ได้จัดสรรงบประมาณมากกว่า 1,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินการทั้งในระบบประปา ไฟฟ้า และการจัดการขยะตกค้าง ที่มีอยู่ประมาณ 7-8 หมื่นตัน
มีการสร้างแหล่งพลังงานไฟฟ้าสำรอง ทั้งบนเกาะสีชัง และเกาะขามใหญ่ ที่ กฟภ. ได้วางท่อ (เคเบิลที่ชำรุดใหม่) ให้ลึกลงไปใต้พื้นดิน 7 เมตรในทะเลแล้ว เพื่อป้องกันการถูกสมอเรือเกี่ยวขาดซึ่งจะใช้งบประมาณจำนวน 800 ล้านบาท
“ในปัจจุบันบนพื้นที่เกาะสีชัง ได้มีการวางระบบโซลาร์ฟาร์มไว้ 1 แห่ง ภายใต้งบประมาณจำนวน 200 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานสำรอง เช่นเดียวกับในพื้นที่เกาะขามใหญ่ ที่ได้มีการวางระบบโซลาร์ฟาร์มไว้ 1 แห่งเช่นกัน”
ส่วนการแก้ไขระบบประปา ในระยะยาว จ.ชลบุรี ได้ของบศึกษา ปี 2567 ในการวางท่อน้ำประปาลอดใต้ทะเลจากฝั่งศรีราชา ไปเกาะสีชัง เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างถาวร อยู่ในขั้นตอนสำนักงบประมาณกำลังพิจารณา
และหากแบบเสร็จแล้ว จ.ชลบุรี จะตั้งงบประมาณในปีต่อไปเพื่อดำเนินการต่อท่อน้ำประปายาว 12 กิโลเมตรไปเกาะสีชังในทันที
สำหรับการจัดทำระบบเผาขยะบนเกาะสีชัง ที่ปัจจุบันมีปริมาณขยะประมาณ 5-8 ตัน ว่า แม้เกาะสีชังจะมีเตาเผาขยะจำนวน 4 เตา แต่สามารถเผาได้เพียง 2 เตา จึงทำให้มีขยะตกค้างเพิ่มขึ้น
จ.ชลบุรี จึงได้ของบประมาณไปยัง สถ. จำนวนกว่า 20 ล้านบาท เพื่อดำเนินการก่อสร้างเตาเผาขยะเพิ่ม ส่วนขยะใหม่จะให้มีการคัดแยกขยะภายใต้การดำเนินโครงการธนาคารขยะต่อไป
ส่วนในเรื่องของการปรับปรุงภูมิทัศน์ด้านการท่องเที่ยวนั้น จ.ชลบุรี ได้จัดทำ “โครงการถนนแอสฟัลติกราดยางเชื่อมแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ” และ “การเพิ่มพื้นที่ชายหาดเสริมแหล่งท่องเที่ยว” ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ที่ระดมทุกภาคส่วนมาให้การช่วยเหลือ