วุฒิฯ จัดพบสื่อครั้งแรก เจอน้ำรั่วต้องย้ายเก้าอี้หนี “3 ประมุขสภาสูง” ร่ายยาวเปิดใจ “มงคล” ย้ำ ทำหน้าที่เป็นกลาง วางอุเบกขา ไม่เคยหลงตัวเอง เคลียร์ใจ สว.กรณีเบรกไม่ให้พูดกินเวลาคนอื่น ชี้ คิดต่างไม่ถือแตกแยก “เกรียงไกร” รับมือใหม่ ถูกใจทุกคนไม่ได้ “บุญส่ง” ฝากสื่อจับตานโยบายรัฐ กาสิโน-ต่างชาติเช่าที่ ลั่น “เราไม่ใช่เมืองขึ้น”
วันนี้ (10 ก.ย.) ที่รัฐสภา วุฒิสภาจัดกิจกรรม “วุฒิสภาพบสื่อมวลชน“ Meet the Press เป็นครั้งแรกภายหลังจากการปฏิบัติหน้าที่วุฒิสภาชุดใหม่ โดยเป็นการเปิดให้สื่อมวลชนรับฟังทิศทางการทำงานของประธาน และรองประธานวุฒิสภา รวมถึงการสนทนาแลกความเห็นระหว่างวุฒิสภา กับสื่อมวลชน ณ ห้อง 102-104 ริมน้ำ อาคารวุฒิสภา
โดยกิจกรรมนี้ นำโดย นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง นายบุญส่ง น้อยโสภณ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง ซึ่งระหว่างที่รอประธานวุฒิสภาเดินเข้าห้องประชุม เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกับสื่อมวลชน พบว่า บริเวณที่สมาชิกวุฒิสภานั่ง มีน้ำรั่วจากบริเวณฝ้าลงมาอย่างไม่ขาดสาย ทำให้ สว.ต้องย้ายเก้าอี้หนีน้ำรั่วโดยทันที
จากนั้น นายมงคล ได้กล่าวเปิดใจกับ สว. และสื่อมวลชนถึงแนวทางการทำงานในตำแหน่งประธานวุฒิสภา ว่า เมื่อทำหน้าที่ประธานการประชุมวุฒิสภา เมื่อตนยิ่งฟังก็ยิ่งเหมือนเด็กนักเรียน เพราะหลายท่านพูดในสิ่งที่ตนไม่รู้ เช่น ฟังเรื่องคนพิการ และคนชรา พอพูดจบตนก็ให้รองประธานทำหน้าที่แทนเพื่อจะลงไปพูดคุยกับสมาชิกที่อภิปราย เพราะสิ่งที่ท่านพูดตนก็คิดเช่นนั้นเพราะชีวิตทั้งชีวิต ก็ทำแบบนี้มาตลอด เช่น การได้ประชุมรัฐสภาร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกันครั้งแรกเมื่อพูดถึงเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศ เรื่องน้ำท่วมก็พูดเรื่องจริง ตนนั่งฟังไม่เคยเบื่อที่สมาชิกพูด เพราะปกติคนวัยนี้จะง่วง แต่ตนไม่ง่วงเลย โดยการคิดต่างคือความงดงาม คือดอกไม้ที่หลากสี ต่างกันแต่ไม่แตกแยก
ดังนั้น คนเป็นประธานจะต้องมีอุเบกขา คือ ไม่โกรธไม่เกลียด รับได้ และต้องไม่หลงตนเอง เพราะถ้าหลงก็จะใช้อำนาจเหมือนตนเหนือกว่า ซึ่งหากไม่จำเป็นจริงๆ ตนก็จะไม่ติติงใคร ซึ่งนอกจากจะให้เกียรติกับทุกท่านแล้ว ตนพยายามเดินคุยมาตลอด จะไม่นั่งคนเดียว หรือฟังแต่สิ่งที่ตนเองถูกใจ สิ่งที่ตนไม่รู้ยังมีอีกมากการได้มาพบกับทุกคน ยิ่งกับสื่อมวลชน ที่ช่วยดูแลทำข่าว ยิ่งเป็นเรื่องที่ดี โดยศูนย์รวม คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ คือ ความผาสุกของประชาชน มีอะไรก็ติติงได้ตนยินดีน้อมรับ จะพยายามทำให้ดีที่สุด
ประธานวุฒิสภา ยังกล่าวว่า ภารกิจของบ้านเมืองเป็นหลักเรื่องส่วนตัวเมื่อทำหน้าที่แล้วต้องตัดออก จะต้องยอมสละเวลา ทุ่มเทเวลาเพราะ มีคนอยู่สองวัยคือวัยหนึ่งเป็นวัย 40-50 ปี เป็นคนร่วมสมัยมีประสบการณ์สูง และตนถือเป็นวัยสุดท้ายที่ทำอะไรไม่ได้ ไม่มีข้อแก้ตัว ว่าสิ่งที่ผิดพลาดไปสิ่งที่จะต้องทำจะต้องทำอย่างสุจริต คือ เป้าหมายที่สำคัญที่สุด
ด้าน พล.อ.เกรียงไกร กล่าวถึงการทำหน้าที่รองประธานวุฒิสภาของตนเอง ว่า จากการรับราชการของตนเองกว่า 30 ปี มาเป็นวุฒิสภา ซึ่งตนเองไม่ได้ตั้งใจมาทำหน้าที่ดังกล่าว แต่หวังเป็นเพียงวุฒิสภา เพื่อสร้างสันติสุขให้เกิดในจังหวัดชายแดนใต้ โดยไม่ต้องเป็น สส. ดังนั้น แต่ก็เหนือความความหมาย ได้มาทำหน้าที่รองประธานวุฒิสภา ตามที่ประธานวุฒิสภามอบหมาย ทั้งการประสานงานกับ สว., กิจการวุฒิสภา และการพบปะผู้แทนองค์กรต่างๆ ดังนั้น ด้วยความตั้งใจในการทำหน้าที่ สว. และได้รับความไว้วางใจให้มาทำหน้าที่รองประธานวุฒิสภา ก็จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด พร้อมยอมรับว่า อาจมีข้อบกพร่องบ้างเป็นธรรมดา
พล.อ. เกรียงไกร ยังยอมรับอีกว่า จากการทำหน้าที่รองประธานวุฒิสภา รับฟัง สว.อภิปราย ก็ทำให้ทราบมุมมองใหม่ๆ แม้ตนเองอยากจะอภิปรายบ้าง แต่ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะต้องทำหน้าที่รองประธานวุฒิสภา พร้อมยืนยันว่า ตนเองพร้อมรับฟังความเห็นที่หลากหลายของวุฒิสภา และยังมั่นใจว่า สว. 200 คนชุดนี้ จะสามารถสร้างสรรค์ผลงานถึงประชาชนได้
ขณะที่ นายบุญส่ง น้อยโสภณ รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง กล่าวว่า ตนชินแล้ว พอได้เห็นหน้าค่าตาสื่อมวลชนประจำ กกต. เจอคำถามหนักๆ มาตั้งแต่เป็น กกต.แล้ว การให้สัมภาษณ์เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ตนมาเป็นรองประธานวุฒิสภา พวกเราต้องใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ร.ป. ข้อบังคับเดียวกัน การทำหน้าที่บนบัลลังก์ต้องระมัดระวังด้วย มีหลายครั้งที่ตนอยากจะพูดว่าบนบัลลังก์แต่พูดไม่ได้
“เรามือใหม่ด้วยกันทั้งหมด เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังนิดหนึ่ง หรือแม้กระทั่งการรักษาเวลาในการพูดก็ต้องรักษา บางทีพูดจบแล้วหาทางลงไม่ได้บางทีการหารือก็ต้องเป็นเรื่องความเดือดร้อนของประชาชนจริงๆ ไปกำชับท่านมาก ท่านก็หาว่าผมอีกเคร่งครัด ทำงานไปเรื่อยๆ ก็คงสนิทไปเรื่อยๆ ขอขอบคุณสมาชิกทุกท่านที่ให้ความร่วมมือ” นายบุญส่ง กล่าว
นายบุญส่ง กล่าวอีกว่า สำหรับสื่อมวลชนคงไม่มีอะไรจะฝาก ตนฝากประเด็นให้ท่านขยายต่อเรื่องภารกิจด่วนของรัฐบาล ตนเห็นว่าหลายประเด็นเป็นประเด็นที่กระทบกระเทือนกับผลประโยชน์ของประเทศชาติ ประเด็นแรกการเปิดเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ และการให้เช่าที่ดิน 99 ปี
“เป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัส เราคงจะพูดกันอีกยาว ในการแถลงการณ์นโยบายของรัฐบาลพวกเราควรจะถาม พวกเราควรจะชี้ให้เห็นว่ามันไม่ชอบอย่างไร วุฒิสภาเราไม่ควรเห็นด้วย 99 ปี เราไม่ใช่เมืองขึ้น จะเอาแบบฮ่องกง มาเก๊า พวกเราไม่ใช่ ฝากสื่อนิดหนึ่ง ควรจะตั้งเป็นคำถามไว้ตอบสังคมและประชาชน” นายบุญส่ง กล่าว
นายบุญส่ง ยังกล่าวถึงเป้าหมายในการขับเคลื่อนภารกิจด้านนิติบัญญัติ ว่า ตนมาตรงนี้ไม่ได้คิดว่าเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์อะไร ไปสมัครก็คิดว่าจะไม่ได้เป็น เป็นแล้วก็ไม่ได้คิดว่าเป็นรองประธาน เพราะอยากรู้ว่าระบบเป็นอย่างไร ทำไมคนอีกหลายคนไม่รู้ว่าการเลือก สว.เป็นอย่างไร ตนไม่เห็นด้วยกับเงิน 2,500 บาท การใช้สิทธิเสรีภาพไม่ควรมีตรงนี้เข้ามา โดยเฉพาะระเบียบข้อบังคับของ กกต.หลายเรื่อง สุดท้ายชีวิตก็เป็นแบบนี้
“ทำอย่างไรให้ผลงานที่สุดเท่าที่ทำได้ ไม่เสียเวลากับการโต้เถียงในการประชุมกัน มีเรื่องขัดกันไปคาดกันมา ผมไม่สบายใจ มันทำให้ดีกว่านี้เยอะ ถ้าจะทำ อะไรที่สร้างสรรค์ได้ก็น่าจะทำ” นายบุญส่ง กล่าว