อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว ยื่น กกต.ยุบ 4 พรรคเข้าพบ “ทักษิณ” หารือจัดตั้งรัฐบาลที่บ้านจันทร์ส่องหล้า ปล่อยให้คนนอกครอบงำ-ทำตัวเป็นอิทธิพลเหนือพรรค ชี้ นักโทษที่ได้รับพักโทษห้ามยุ่งเกี่ยวการเมือง
วันนี้ (9 ก.ย.) นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 ยื่นหลักฐานต่อ กกต. ขอให้พิจารณายุบ 4 พรรคการเมือง ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคชาติไทย จากกรณี นายทักษิณ ชินวัตร ได้เรียกหัวหน้าพรรคการเมือง รวมถึงบุคคลสำคัญของพรรคเพื่อไทยเข้ามาพูดคุยที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2567 เป็นการกระทำฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 21, 28, 29 โดยขอให้กกต.สั่งยุบพรรคการเมืองตามมาตรา 92 อีกทั้งขอให้พิจารณาเพิ่มเติมอีก 2 พรรค ประกอบด้วย พรรคประชาชาติ และพรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากหัวหน้าพรรคไม่ได้เดินทางเข้าพบ แม้จะยังไม่มีหลักฐานเบื้องต้นว่าเข้าข่ายยุบพรรคการเมือง แต่ตามมาตรา 21 ระบุว่า ให้หัวหน้าพรรคการเมืองเป็นผู้แทนของพรรคในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก หัวหน้าพรรคจะมอบหมายเป็นหนังสือให้เลขาธิการพรรค หรือกรรมการบริหารพรรคเป็นผู้ทำการแทนได้ หากหัวหน้าพรรคไม่ได้ไปพบปะบุคคลภายนอกจะต้องทำหนังสือให้เลขาธิการพรรคเป็นผู้เดินทางไป จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานในการเสาะแสวงหาหลักฐานหนังสือมอบอำนาจ
นายนพรุจ ว่า การที่ นายทักษิณ เรียกแกนนำรักษาการรัฐบาลในช่วงที่ นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่ง เข้ามาพูดคุยในการจัดตั้งรัฐบาล และผลักดัน นายชัยเกษม นิติศิริ เป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 แม้นายทักษิณจะเป็นบิดาของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ซึ่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่อยู่ระหว่างไปศึกษาดูงานที่ประเทศจีน ตั้งแต่วันที่ 12-15 ส.ค. แต่การกระทำของนายทักษิณ เปรียบเสมือนเป็นการกระทำของพ่อกับลูก และการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายขัด พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 28 ที่ระบุว่า พรรคการเมืองจะต้องไม่ยินยอมให้บุคคลภายนอกเข้ามาควบคุม ครอบงำ สั่งการ ทำให้พรรคการเมืองไม่สามารถดำเนินการไปด้วยความอิสระได้ และมาตรา 29 ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการใดอันเป็นการควบคุมครอบงำหรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองขาดความอิสระ ซึ่งนายทักษิณ เป็นบุคคลภายนอกไม่สามารถที่จะเข้าไปแทรกแซง หรือกระทำการใดๆ ได้ และนายทักษิณ เข้ากระทำการเปรียบเสมือนเจ้าของพรรค หรือผู้มีอิทธิพลเหนือพรรค จึงมายื่นให้ กกต. พิจารณาตรวจสอบในเรื่องนี้
“ระยะเวลาดำเนินการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งรัฐบาลก็ดี จะต้องมาพบนายทักษิณ ที่บ้านจันทร์ส่องหล้าทุกครั้ง เมื่อครั้งที่นายเศรษฐา เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ยังมีการเข้าพบปะมาหาในเหตุการณ์ต่างๆต่อเนื่องมา บ่งบอกชัดว่าการกระทำของนายทักษิณ ส่อไปในทางครอบงำ สั่งการ ควบคุม ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ก็เข้าใจว่าเขาเป็นเจ้าของพรรค ซึ่งมีอิทธิพลเหนือพรรคการเมือง รวมทั้งการเป็นบิดาของ น.ส.แพทองธาร ย่อมมีอิทธิพลเหนือ น.ส.แพทองธาร ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย รวมถึงเป็นอดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทยมาก่อน” นายนพรุจ กล่าวและว่า ทุกครั้งที่มีการจัดตั้งรัฐบาล หรือมีการออกนโยบายต่างๆ ที่พรรคเพื่อไทยดำเนินการอยู่นายทักษิณ เป็นผู้แสดงความคิดเห็นก่อนพรรคเสมอ เสมือนเป็นมติก่อนที่พรรคจะลงมติ
นายนพรุจ กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ มีบุคคลขอสงวนนามมายื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคเพื่อไทยกรณีนายทักษิณ เข้าครอบงำพรรคชี้นำผู้บริหารทำให้ขาดความอิสระ ซึ่งตนได้แนบหลักฐานนี้มาด้วย จากการตรวจสอบข้อมูลมีความละเอียดครบถ้วนที่บ่งบอกว่านายทักษิณ ครอบงำพรรค
นายนพรุจ ยังกล่าวอีกว่า การกระทำของนายทักษิณ ในขณะนั้นซึ่งเป็นนักโทษการเมืองที่ได้รับการพักโทษเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งตามระเบียบของกรมคุมประพฤติเป็นข้อห้าม แม้แต่ตนซึ่งเคยเป็นนักโทษที่ได้รับการพักโทษมาเช่นเดียวกันตนได้อ่านระเบียบของกรมคุมประพฤติมาทั้งหมด นายทักษิณ จะทำการฝ่าฝืนระเบียบ ซึ่งกรมคุมประพฤติจะต้องเป็นผู้ชี้แจงในประเด็นนี้