xs
xsm
sm
md
lg

3 รมต.กระทรวงเกษตรฯ ติดตามสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ด้าน กรมชลประทาน เตรียมปรับการระบายน้ำแบบขั้นบันได ให้สอดคล้องกับปริมาณฝน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้(8 ก.ย.)นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมด้วย นายอิทธิ ศิริลัทธยากร และนายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ณ เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท โดยมี นายสุริยพล นุชอนงค์ รองอธิบดีกรมชลประทาน นายวัชระ ไกรสัย ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 และผู้เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่พร้อมบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำและแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่

ปัจจุบัน (8 ก.ย. 67) 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 14,944 ล้าน ลบ.ม. (60% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 9,927 ล้าน ลบ.ม.

สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,481 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มลดลง ปริมาณน้ำดังกล่าวจะไหลลงสู่บริเวณบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา กรมชลประทาน ได้รับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาในปริมาณที่จำเป็น พร้อมควบคุมการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในอัตรา 1,498 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) เพิ่มสูงขึ้นแต่ยังไม่ขยายวงกว้าง

ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะพิจารณาทยอยปรับเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันไดให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำทางตอนบนและฝนที่ตกในพื้นที่ เพื่อให้กระทบพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้น้อยที่สุด พร้อมกันนี้ยังได้ดำเนินการติดตั้งแผ่นวัดระดับน้ำ (Flood Mark) เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เฝ้าระวังและเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำได้ทัน เมื่อเขื่อนเจ้าพระยามีการปรับระบายน้ำในอัตราที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง เพื่อช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดกับทรัพย์สินของประชาชนให้ได้มากที่สุด










กำลังโหลดความคิดเห็น