“ปกรณ์วุฒิ” อัด “ดีอี” จัดงบทำระบบเซลล์บรอดแคสต์ซ้ำซ้อน “ปภ.” ถาม หรือกรมป้องกันภัยไม่พร้อมทำระบบ เหน็บ บางครั้งอาจไม่จำเป็นต้องตั้งงบ เพียงแค่หน่วยงานไม่กล้ายอมรับว่าต้องตั้งงบซ้อน จึงต้องเหลืองบไว้
วันนี้ (4 ก.ย.) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฏรได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ในมาตรา 16 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) อภิปรายว่า จากที่ตนเคยอภิปรายไว้ในวาระ 1 แล้วว่างบในส่วนของโครงการแจ้งเตือนฉุกเฉินแห่งชาติ หรือเซลล์บรอดแคสต์ ซ้ำซ้อนกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ของกระทรวงมหาดไทย และทางสำนักปลัดกระทรวงดีอีก็แจ้งต่อกมธ.วิสามัญพิจารณางบ 68 ว่า ขอปรับลดลงด้วยตัวเองเหลือ 92.57 ล้านบาท ลดลงกว่า 73 เปอร์เซ็นต์
ส่วนงบที่เหลืออยู่ก็ถูกนำมาใช้กับรายการอื่นๆ เช่น ค่าเช่าบริการคลาวด์ ค่าเช่าสัญญาณสื่อสารเชื่อมซีบีอีไปยังระบบคลาวด์ 4 รายการ ประมาณ 21.5 ล้านบาท จึงมีคำถามว่าระบบคลาวด์เหล่านี้นำไปเก็บข้อมูลอะไรบ้าง เพราะรายละเอียดโครงการของ ปภ.ก็ตั้งงบเซิร์ฟเวอร์ในการเก็บข้อมูลไว้อยู่แล้ว หากไม่มีงบในส่วนนี้จะทำให้ระบบเซลล์บรอดแคสต์ของ ปภ.ไม่สามารถทำงานได้หรือ หรือหากเพิ่มในส่วนนี้มาจะทำให้ระบบเซลล์บรอดแคสต์ประเทศไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพียงไร อย่างไร ซึ่งงบก้อนนี้ไม่ใช่แค่ 21.5 ล้านบาทเท่านั้น เพราะเมื่อมีการตั้งงบประมารในการเช่าระบบคลาวด์ก็จะมีค่าเช่าอื่นๆ ตามมา เช่น ค่าจ้างที่ปรึกษาฯ
นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า สิ่งที่สงสัยที่สุดที่มีการตั้งงบประมาณ 45 ล้านบาท คือ ค่าเช่าทรัพย์สิน คำถามคือทรัพย์สินอะไร ทำไมจึงมีการตั้งงบไว้สูง และค่าเช่าระบบคลาวด์จำนวน 21.5 ล้านบาทนั้น เป็นค่าเช่ารายปี รายสองปี หรือเท่าไหร่ เช่นเดียวกับค่าเช่าทรัพย์สินที่มีการตั้งงบประมาณไว้ถึง 45 ล้านบาท เราจำเป็นต้องใช้งบประมาณจ่ายค่าเช่าเหล่านี้เป็นภาระงบประมาณเรื่อยๆ ใช่หรือไม่ ที่ต้องถามคำถามเยอะ เพราะเอกสารที่ทางหน่วยงานส่งมาให้กมธ.มีแค่นิดเดียว ซึ่งกว่าที่หน่วยงานจะส่งเอกสารมาเพิ่มให้ กมธ.ก็พิจารณาเสร็จแล้ว และตนก็ถามอนุกมธ.แล้วว่าได้พิจารณาโครงการต่างๆ ที่มีการเหลืองบประมาณไว้ 92 ล้านบาทอย่างไรบ้าง
นอกจากนี้ ยังมีการตั้งงบประมาณในส่วนของค่าใช้จ่ายประชาสัมพันธ์ 10 ล้าน ขณะที่งบประมาณของกรมควบคุมมลพิษที่ตั้งงบประมาณในการสื่อสารและสร้างการรับรู้เรื่องฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ไว้แค่ 1.44 ล้านบาทเท่านั้น ตนจึงไม่เท่าใจว่าทำไมโครงการนี้จึงมีการตั้งงบประมาณไว้สูงเช่นนี้ และหากระบบเซลล์บรอดแคสต์ทำเสร็จแล้ว โทรศัพท์มือถือที่ประชาชนมีอยู่จะได้รับการแจ้งเตือนอัตโนมัติ แต่เราต้องประชาสัมพันธ์ว่าหากได้รับข้อมูลเช่นนี้ เชื่อใจได้ว่ามาจากรัฐบาลโดยตรงแน่นอน แต่ก็ยังสงสัยอยู่ว่าเราจำเป็นต้องใช้งบประมาณถึง 10 ล้านจริงหรือ ซึ่งโครงการที่สำคัญเช่นนี้ตนคิดว่าใช้กรมประชาสัมพันธ์ที่มีฟังก์ชั่นที่ตรงตามภารกิจ น่าจะได้ประสิทธิภาพดีกว่า
ดังนั้น กมธ.เสียงข้างากต้องชี้แจงว่า ระบบเตือนภัยที่ ปภ.ตั้งงบประมาณมานั้น ไม่สมบูรณ์ ไม่รอบคอบและไม่พร้อมกับการจัดทำระบบเซลล์บรอดแคสต์ จนต้องมาตั้งงบเพิ่มเฉพาะปีนี้ถึง 90 ล้านบาท และเราต้องจ่ายค่าเช่าไปทุกปีหรือไม่ หรือจริงๆ แล้วอาจจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตั้งงบในกระทรวงดิจิทัลฯ เลย เพียงแค่หน่วยงานไม่กล้ายอมรับว่างบที่ตั้งมามีความซ้ำซ้อนโดยไม่จำเป็น จึงต้องเหลืองบประมาณบางส่วนไว้ โดยให้เป็นภาระกับงบประมาณในระยะยาวเท่านั้น หาก กมธ.เสียงข้างมากไม่มีเหตุผลที่ชัดเจนว่างบประมาณที่คงไว้ 92 ล้านบาทนั้น จำเป็นอย่างไร ตนจึงยืนยันที่จะให้ลงมติตัดงบประมาณในส่วนนี้ทั้งหมด