xs
xsm
sm
md
lg

ศาล รธน.ตีตกคำร้อง "ไพบูลย์" ขอให้วินิจฉัยการใข้ MOU 44 แบ่งทรัพยากรทางทะเลไทย-กัมพูชา ชี้ผู้ร้องไม่ถูกละเมิดสิทธิ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 6 ต่อ 3 ตีตกคำร้องของ "ไพบูลย์ นิติตะวัน" ขอให้วินิจฉัยกรณีกรมสนธิสัญญาฯ ใช้ MOU 44 แบ่งทรัพยากรทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ชี้เป็นปัญหาเรื่องหน้าที่ของรัฐ ยังไม่ปรากฏว่าผู้ร้องถูกละเมิดสิทธิ

วันนี้(4ก.ย.)ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยในคดีที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ว่า กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และกระทรวงการต่างประเทศ นำบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิ์ในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ค.ศ. 2001 (MOU2544) เพิ่งทำขึ้นโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาใช้ดำเนินการแบ่งเขตอธิปไตยและผลประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลของไทยด้านอ่าวไทยละเมิดสิทธิ์ของผู้ร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 มาตรา 25 และมาตรา 43 วรรคหนึ่ง (2) และขอให้มีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสองยกเลิกการนำ MOU 2544 มาใช้ โดยศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามเอกสารหลักฐานของกรมสนธิสัญญาและกฎหมายปรากฏว่ากรณีเป็นปัญหาเรื่องหน้าที่ของรัฐตามหมวด 5 ของรัฐธรรมนูญยังไม่ปรากฏว่า นายไพบูลย์ เป็นบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิ์หรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญโดยตรงจากการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองข้ออ้างของนายไพบูลย์จึงเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นของนายไพบูลย์ในฐานะประชาชนเกี่ยวกับปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของ MOU 2544 เท่านั้น กรณีไม่เป็นไปตามพรบว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 46 วรรค 1 ดังนั้นนายไพบูลย์จึงไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ได้

สำหรับตุลาการเสียงข้างมาก 6 เสียงคือนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ นายปัญญา อุดชาชน นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม นายวิรุฬห์ แสงเทียน นายบรรจง วงศ์ปราชญ์ และนายอุดม รัฐอมฤต

ส่วนตุลาการเสียงข้างน้อย 3 เสียง ได้แก่ นายจิรนิต หะวานนท์ นายนภดล เทพพิทักษ์ และนายสุเมธ รอยเจริญกุล


กำลังโหลดความคิดเห็น