xs
xsm
sm
md
lg

"พิพัฒน์"ยินดี ประกันสังคม 34 ปี ลั่น ปี 68 เดินหน้า แก้ กม.เพิ่มสิทธิ์ ลุยมาตรการ"ขอเลือก ขอคืน ขอกู้"ให้ผู้ประกันตน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้(3 ก.ย.)วันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานประกันสังคมครบรอบ 34 ปี นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงาน และให้เกียรติเป็นประธานในพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อสำนักงานประกันสังคมและรางวัลสถานพยาบาลในดวงใจ โดยมี นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ ณ สำนักงานประกันสังคม จังหวัดนนทบุรี
.
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ในโอกาสที่สำนักงานประกันสังคมดำเนินงานมาเป็นระยะเวลา 34 ปี ผมขอแสดงความยินดีกับสำนักงานประกันสังคม ที่สามารถดูแลอยู่เคียงข้างเป็นที่พึ่งของลูกจ้าง ผู้ประกันตน โดยยึดมั่นภารกิจในการสร้างหลักประกันความมั่นคง เพื่อคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น โดยผมได้มอบนโยบายหรือทิศทางการขับเคลื่อนงานประกันสังคมในปี 2568 โดยให้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตน ตามร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... อาทิ ขยายฐานอายุผู้ประกันตนมาตรา 33 เป็น 65 ปี ผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือ 39 ที่มีสิทธิรับเงินบำนาญชราภาพ สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39/1 เพื่อรับสิทธิประโยชน์ 3 กรณี คือประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ และตาย อีกทั้ง กรณีผู้ประกันตนออกจากงานจะได้สิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตรต่ออีก 6 เดือน เพิ่มเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรจากเดิมในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเป็นเวลา 90 วัน เพิ่มเป็น 98 วัน เพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพเป็นร้อยละ 70 (เดิมร้อยละ 50) กรณีว่างงานให้ลูกจ้างที่มีอายุไม่เกิน 60 ปี มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจนเสร็จสิ้นก่อนแล้วจึงจะได้รับเงินกรณีชราภาพ
.
ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยังได้กล่าวถึงมาตรการ 3 ขอ คือ ขอเลือก ผู้ประกันตนที่มีสิทธิรับเงินบำนาญชราภาพ สามารถเลือกรับเป็นเงินบำเหน็จหรือบำนาญได้ ตามข้อกำหนด ขอคืน กรณีเกิดภัยพิบัติที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกันตนอย่างร้ายแรง สามารถขอรับเงินชราภาพบางส่วนได้ก่อนอายุครบ 55 ปี ตามข้อกำหนด ขอกู้ ผู้ประกันตนสามารถนำเงินชราภาพบางส่วน ใช้เป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินที่ทำความตกลงกับสำนักงานประกันสังคม ตามข้อกำหนด อีกทั้งสำนักงานประกันสังคมยังได้มีการพัฒนาสิทธิประโยชน์ใหม่ๆ ให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระ มาตรา 40 ดังนี้
1. กรณีทุพพลภาพ ปรับเพิ่มสูงสุด 3,000 บาท คุ้มครองตลอดชีวิต
2. กรณีสงเคราะห์บุตร ปรับเพิ่มเป็นจำนวน 300 บาท ต่อบุตร 1 คน สูงสุดไม่เกินคราวละ 2 คน อายุไม่เกิน 7 ปีบริบูรณ์
3. กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย เป็นเงินทดแทนการขาดรายได้
(1) กรณีที่ไม่ได้พักรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลและไม่มีความเห็นของแพทย์ให้หยุดพักรักษาพยาบาล (ไป-กลับ) ทางเลือกที่ 1 และทางเลือกที่ 2 ปรับเป็นอัตราครั้งละ 200 บาท จำนวน 3 ครั้งต่อปี
(2) ผู้ประกันตนทั้ง 3 ทางเลือก สามารถรับเงินทดแทนการขาดรายได้ ในกรณีที่แพทย์มีความเห็นให้หยุดพักรักษาพยาบาล ตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป ขณะนี้อยู่ระหว่างร่างกฎหมายและเสนอตามขั้นตอนต่อไป
.
ด้านนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการ สปส. กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคมมีภารกิจในการสร้างหลักประกันความมั่นคงในการดำรงชีวิต ดูแลลูกจ้างและผู้ประกันตน จวบจนวันนี้เป็นเวลากว่า 34 ปีแล้ว โดยปัจจุบันมีสถานประกอบการอยู่ในระบบประกันสังคมกว่า 526,000 แห่ง ลูกจ้าง ผู้ประกันตนอยู่ในความคุ้มครอง จำนวน 24.7 ล้านคน สำหรับผลงานในปี 2566 ที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคมได้ก้าวสู่ความสำเร็จ โดยมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ อาทิ สร้างการรับรู้และรับฟังความคิดเห็นงานประกันสังคม จัดการประชุมวิชาการประกันสังคม ในหัวข้อ

“SSO Sustainable for All เพราะกองทุนประกันสังคมเป็นของพวกเราทุกคน” ซึ่งผลสรุปการประชุมจะเป็นแนวทางในการบริหารงานประกันสังคมเพื่อความยั่งยืนของกองทุนในอนาคต เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน ด้านบริการทางการแพทย์ สำนักงานประกันสังคมได้พัฒนาการบริการทางการแพทย์ โดยเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ลดระยะเวลารอคอย สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ประกันตน เช่น โครงการ SSO515 และโครงการตรวจสุขภาพเชิงรุกในสถานประกอบการ ด้านการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาใช้ในการบริหารจัดการและการให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น Application “SSO plus” ซึ่งทำให้ผู้ประกันตนสามารถเข้าถึงข้อมูลด้านสิทธิประโยชน์ แบบครบวงจรได้ตลอดเวลา


กำลังโหลดความคิดเห็น