xs
xsm
sm
md
lg

มีส่วนร่วมน้อยเกินไป! กม.มท. กังวล! ยกฐานะ "ทม.หัวหิน" เป็น "นครหัวหิน" หลังพบตัวเลข เจตนารมณ์คนหัวหิน เห็นด้วยแค่ ร้อยละ 26.31

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บอร์ดพิจารณากฏหมายมหาดไทย กังวล! ยกฐานะ "เทศบาลเมืองหัวหิน" เป็น "เทศบาลนครหัวหิน" หลังพบผลการสํารวจ "เจตนารมณ์คนหัวหิน" มีส่วนร่วมน้อยเกินไป มีคนเห็นด้วย 12,072 คน หรือ ร้อยละ 26.31 จากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 46,297 คน แถมผลออกมาใกล้เคียงกับ" เจตนารมณ์" ไม่ควรต่ำกว่าร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แนะศึกษาร่างหลักเกณฑ์ให้สอดคล้องกับ ม.249 (2) รธน.60 ที่กําหนดให้การจัดตั้ง อปท.ให้คํานึงเจตนารมณ์คนพื้นที่ เป็นมาตรฐานกลางใช้ประกอบพิจารณายกฐานะ ครอบคลุมพื้นที่ปกครองทุกระดับ เผยหลังยกฐานะจ่อเพิ่ม สท. เป็น 4 เขต "รองนายกฯเล็ก" 4 คน "ที่ปรึกษา/เลขาฯ" อีก 5 คน

วันนี้ (3 ก.ย.2567) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้าต่อกระบวนการ เปลี่ยนแปลง ยกฐานะ เทศบาลเมืองหัวหิน อําเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็น "เทศบาลนครหัวหิน"

เรื่องดังกล่าว เกิดขึ้นภายหลัง คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมาย กระทรวงมหาดไทย คณะที่ 2 ได้ตรวจพิจารณา ร่างประกาศ โดยรับฟังข้อเท็จจริงจากคําชี้แจงของผู้แทนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น(สถ.) และผู้แทนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

อย่างไรก็ตาม จะต้องแก้ไขร่างประกาศ ตามข้อสังเกตก่อนที่จะยกฐานะ โดยมีความเห็นและข้อสังเกต ว่า ต่อร่างดังกล่าว ให้ สถ. กําหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงฐานะ ให้ครอบคลุมทุกระดับทั้งในระดับ องค์การบริหารส่วนตําบล เทศบาลตําบล เทศบาลเมือง เทศบาลนคร

โดยให้ศึกษาข้อมูลจากขนาดของพื้นที่ รายได้ของเทศบาล จํานวนประชากร สิ่งสาธารณูปโภคและ สาธารณูปการว่ามีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอย่างไร เนื่องจากแต่ละพื้นที่ รายได้ จํานวนประชากรย่อม มีความแตกต่างกันออกไป

รวมถึงให้ศึกษาหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้สอดคล้องกับ มาตรา 249 วรรคสอง แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (รธน.) ที่กําหนดให้การจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)ให้คํานึงเจตนารมณ์ ของอปท.

เพื่อจะได้มีหลักเกณฑ์มาตรฐานกลางในการใช้ประกอบการพิจารณาเปลี่ยนแปลงฐานะและยังสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของประชนชนในท้องถิ่นด้วย

ขณะที่ในการเปิดรับฟังความคิดเห็น ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ในอ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ผ่านการสํารวจแบบสอบถาม หรือผ่านระบบเทคโนโลยี สารสนเทศ

"ควรระบุเหตุผลของผู้ที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยในรับฟังความคิดเห็นด้วย เนื่องจากเหตุผลดังกล่าว อาจมีประเด็นสําคัญที่จะต้องนํามาประกอบการพิจารณาเปลี่ยนแปลงฐานะ"

ขณะที่ ประเด็นการสํารวจเจตนารมณ์ของประชาชน นั้น ตามหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติ เกี่ยวกับการจัดตั้ง เปลี่ยนแปลงฐานะ และเขตอปท. (หนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0804.6/ว 5916 ลงวันที่ 15 ส.ค. 2555)

กําหนดให้การจัดตั้ง อปท. ต้องจัดให้มีการสํารวจเจตนารมณ์ ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

ซึ่งผลการสํารวจ เจตนารมณ์ของประชาชนในเขตเทศบาลเมืองหัวหิน คิดเป็นร้อยละ 26.31 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เห็นว่า ประชาชนมีส่วนร่วมน้อยและใกล้เคียงกับจํานวนขั้นต่ำมากเกินไป

จึงควรประชาสัมพันธ์และเน้นย้ำให้ประชาชน มีส่วนร่วมเมื่อมีการสํารวจเจตนารมณ์ของประชาชนเกี่ยวกับการจัดตั้ง เปลี่ยนแปลงฐานะ และเขต อปท.ให้มากขึ้น

เทศบาลเมืองหัวหิน มีพื้นที่ 86.36 ตารางกิโลเมตร จํานวน 40 ชุมชน ประชากร จํานวน 62,111 คน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 รายได้จริงไม่รวมเงินอุดหนุน 630,854,560.29 บาท รายจ่ายประจํา 320,219,300 บาท

ปัจจุบันพื้นที่เทศบาลเมืองหัวหิน มีโครงข่ายคมนาคมที่สะดวกสบาย การพาณิชยกรรม และการเปลี่ยนแปลงบริบท สภาพของสังคม มีจํานวนครอบครัว 19,489 ครอบครัว ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จํานวน 46,297 คน

จากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน มีผู้เข้าร่วมประชาคม จํานวน 375 คน คิดเป็นร้อยละ 0.81 ของประชากรผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แสดงความเห็น โดยการสํารวจแบบสอบถาม จํานวน 8,900 คน คิดเป็นร้อยละ 19.22 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

และแสดงความเห็น ผ่านทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ จํานวน 2,906 คน คิดเป็นร้อยละ 6.28 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งรวมการจัดประชุมประชาคมหมู่บ้าน การแสดงความเห็นโดยการสํารวจแบบสอบถาม และแสดงความเห็น

"มีจํานวน 12,181 คน คิดเป็นร้อยละ 26.31 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (ผู้เห็นด้วย จํานวน 12,072 คน คิดเป็นร้อยละ 26.08 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และไม่เห็นด้วย 109 คน คิดเป็นร้อยละ 0.24 ของ ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง)

อย่างไรก็ตาม สภาเทศบาลเมืองหัวหิน รวมถึงภาคประชาสังคมส่วนหนึ่งได้ประชุมและมีมติเห็นด้วย ต่อการยกฐานะเป็น "เทศบาลนครหัวหิน"

ทั้งนี้ เมื่อยกฐานะเป็น "เทศบาลนครหัวหิน" แล้ว ฝ่ายการเมือง จะได้ประโยชน์ล้วน ๆ โดยมีการเพิ่มเขตพื้นที่การเลือกตั้ง จาก 3 เขต เป็น 4 เขตการเลือกตั้ง เพิ่ม "รองนายกเทศมนตรี" จาก 3 คน เป็น 4 คน

เพิ่ม "ที่ปรึกษานายกเทศมนตรี และเลขานุการนายกเทศมนตรี" จาก 3 คน เป็น 5 คน พร้อมทั้งมีอำนาจหน้าที่ในดูแลสุขทุกข์ของประชาชนได้มากขึ้น.


กำลังโหลดความคิดเห็น