xs
xsm
sm
md
lg

“จุลพันธ์” ยันงบซื้อเครื่องบิน สลน.จำเป็น ต้องอำนวยความสะดวกบุคคลสำคัญ ไม่ใช้ในภารกิจการทหาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“จุลพันธ์” ยันงบจัดซื้อเครื่องบิน สลน.มีความจำเป็น ต้องอำนวยความสะดวกให้บุคคลสำคัญ ไม่ใช้กับภารกิจการทหาร จึงใช้งบกองทัพไม่ได้ ย้ำ หน้าที่ “กอ.รมน.” ไม่ซ้ำซ้อนหน่วยงานใด

วันนี้ (3 ก.ย.) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญฯ ลุกขึ้นชี้แจงถึงความจำเป็นในการจัดซื้อเครื่องบินของสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) ว่า กมธ.ได้ดูในรายละเอียดในชั้นของคณะอนุฯ รวมถึงมีการสอบถามในการประชุมของกรรมาธิการค่อนข้างละเอียดแล้ว โดยมีเหตุผลและความจำเป็น คือ สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มีภารกิจในการดูแลถวายความปลอดภัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ ในการประสานงานและดำเนินการเกี่ยวกับการถวายความสะดวกในการเสด็จเยือนต่างประเทศ ตลอดจนองคมนตรี นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี รวมถึงราชอาคันตุกะ หรือแขกของรัฐบาลด้วย อีกทั้งยังให้ความช่วยเหลือประชาชนตามที่ได้รับมอบหมาย เช่น การช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยทางธรรมชาติ

โดย สำนักเลขานายกรัฐมนตรี ได้เสนอตั้งงบประมาณครั้งนี้ และมอบให้กองทัพอากาศเป็นผู้ดำเนินการในการจัดหาเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ เนื่องจากการดำเนินการนี้ เป็นการดำเนินการของฝ่ายพลเรือน ไม่ใช่ภารกิจทางการทหาร จึงจำเป็นต้องตั้งงบไว้ที่สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยเครื่องบินที่มีการใช้ในปัจจุบันเป็นเครื่องบินลำเลียงแบบที่ 19 หรือ แอร์บัส A340-500 ซึ่งมีเครื่องยนต์เจ็ท 4 เครื่องยนต์แบบที่ 2 ของกองทัพอากาศ ซึ่งเป็นเครื่องบินที่กองทัพอากาศจัดซื้อจากบริษัทการบินไทย เมื่อเดือน พ.ค. ปี 59 จำนวน 1 เครื่อง ปัจจุบันประจำการอยู่ที่ฝูงบิน 602 กองบิน 6 มีอายุการใช้งานยาวนานตั้งแต่ปี 48-55 ซึ่งใช้งานโดยการบินไทยเข้ามาประจำการกับกองทัพอากาศตั้งแต่ปี 59 และในปัจจุบันก็จะเกินกำหนดวงรอบของการประเมินอายุการใช้งานอากาศยานในภารกิจรับส่งบุคคลสำคัญ ที่ครบในปี 69

ประกอบกับตั้งแต่ปี 55 เป็นต้นมา บริษัทแอร์บัสได้ยกเลิกสายการผลิตเครื่องบินดังกล่าว ส่งผลให้การบำรุงรักษาและการซ่อมบำรุงมีมูลค่าสูงขึ้นเป็นอย่างมาก จึงจำเป็นต้องจัดหาเครื่องบินรับส่งบุคคลสำคัญทดแทนจากที่มีอยู่แล้ว ส่วนเรื่องเฮลิคอปเตอร์ก็ใช้หลักเกณฑ์เป็นไปในลักษณะเดียวกัน ดังนั้น คณะกรรมาธิการจึงเห็นว่า ทั้งเครื่องบินแบบปีกหมุนและเครื่องบินแบบบรรทุกคนมีความจำเป็นสำหรับสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดซื้อมาให้บุคคลสำคัญใช้ในภารกิจที่เป็นประโยชน์

ส่วนภารกิจของหน่วยงานกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ที่มีความเป็นห่วงในเรื่องของความซ้อน รวมถึงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการองค์กรนั้น ตนขอยืนยันว่า ตั้งแต่ปี 62 ได้มีการทบทวนเรื่องความซับซ้อน และบทบาท รวมถึงภารกิจของ กอ.รมน.กับหน่วยงานอื่น และเมื่อมีการชี้แจงแล้ว จึงทำให้บทบาทหน้าที่ของ กอ.รมน. เป็นไปในลักษณะของการอำนวยการ การประสานงาน และการปฏิบัติร่วมกับส่วนราชการในเรื่องความมั่นคง มากกว่าการปฎิบัติภารกิจตามหน้าที่ โดยเป็นไปตามคุณลักษณะของหน่วยงานความมั่นคง ที่จะต้องมีหน่วยงานรับผิดชอบในเรื่องของภาพรวม
นายจุลพันธ์ กล่าวถึงความซ้ำซ้อนเรื่องภารกิจงานกับสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ว่า ไม่มีความซ้ำซ้อนกัน เพราะ สมช.เป็นหน่วยงานระดับนโยบาย ที่ดูแลเรื่องนโยบายความมั่นคงของประเทศ เพื่อเสนอนโยบายที่สำคัญต่อประธานสภา และรัฐบาล ให้นำไปปฏิบัติภารกิจต่อไป ขณะที่ กอ.รมน.เป็นหน่วยงานที่นำความเห็นชอบของฝ่ายบริหาร นำไปสู่การปฎิบัติ โดยเชื่อมโยงกับส่วนราชการที่มีงานเฉพาะด้านต่อไป

สำหรับความซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งศูนย์รักษาผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล (ศรชล.) กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ของกระทรวงมหาดไทย หรือสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และกระทรวงกลาโหม เป็นต้นนั้น ตนขอยืนยันว่า ภารกิจของ กอ.รมน.คือการทำหน้าที่ เรื่องการอำนวยการ และบูรณาการหน่วยงานปฏิบัติต่างๆ เข้ามาทำงานร่วมกันในการแก้ไขปัญหาเฉพาะเรื่อง ซึ่งต้องมีการบูรณาการหลายหน่วยงานในการร่วมประชุมวางแผนสนธิกำลัง และลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจร่วมกัน ยกเว้นภารกิจงานบางประเภทที่มีการมอบหมายภารกิจเป็นการจำเพาะ

ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ที่อาจจะมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน ในเรื่องการตั้งงบประมาณนั้น ตนได้รับการชี้แจงจากหน่วยงานว่า ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ รวมถึงค่าใช้จ่ายของที่ปรึกษาผู้แทนพิเศษของรัฐบาล มีจุดประสงค์เพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาล ในการดำเนินนโยบายที่เร่งด่วน และเป็นกลไกประสานงานระหว่างคณะรัฐมนตรีกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อปฏิบัติภารกิจในด้านต่างๆ โดยในปีงบประมาณ 68 นี้ จะมีการขยายขอบเขตภารกิจ เพื่อประสานงานนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลทั่วประเทศ จึงจำเป็นจะต้องตั้งงบขึ้นมารองรับสำหรับกำลังพลที่จะเกิดขึ้น

ส่วนการจัดตั้งธนาคารที่ดินนั้น ตนยืนยันว่าโครงการในลักษณะนี้ ยังมีความจำเป็น เนื่องจากภายหลังการเลือกตั้งในปี 66 ซึ่งมีการตั้งรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ โดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีการส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไปทบทวน และส่งเรื่องกลับคืนใหม่อีกครั้ง เพื่อให้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีความครบถ้วนสมบูรณ์ โดยคาดว่าจะสามารถนำเสนอต่อสภาได้ในปีงบประมาณ 68 นี้ จึงจำเป็นต้องตั้งงบประมาณในส่วนนี้

นายจุลพันธ์ ทิ้งท้ายว่า คณะกรรมาธิการได้ดูในรายละเอียดของงบประมาณสำนักนายกรัฐมนตรีโดยละเอียด และมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ รวมถึงมีการตัดลดในส่วนที่เป็นเนื้องานไขมันส่วนเกิน และมีการปรับเพิ่มในส่วนที่มีความจำเป็น ดังนั้น จึงขอยืนยันในมติที่ได้มีการเสนอต่อสภา

ต่อมาที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่ได้ลงมติเห็นด้วยกับการแก้ไขของกรรมาธิการเสียงข้างมากในมาตรา 7


กำลังโหลดความคิดเห็น