สภาเริ่มถกร่าง พ.ร.บ.งบฯ 68 แล้ว “จุลพันธ์” เผย ปรับลดงบรวม 7,824 ล้านบาท เติมให้ กยศ. เงินอุดหนุนผู้สูงอายุ ประกันสังคม และงบกลาง เผย เปลี่ยนแปลงงบของ 5 ธนาคาร รวม 3.5หมื่นล้าน เติมงบกลางเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
วันนี้ (3 ก.ย.) เมื่อเวลา 09.30 น. มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาแล้วเสร็จในวาระสอง เป็นวันแรก โดยมี นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภา คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ฐานะรองประธานกรรมาธิการ คนที่สอง ชี้แจงถึงผลการพิจารณาของ กมธ. ซึ่งมีสาระสำคัญตอนหนึ่งว่า การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ 68 มีการปรับลดงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณมียอดรวม 7,824 ล้านบาท โดยมีการพิจารณาประสิทธิภาพของการใช้จ่าย ขณะที่การเพิ่มงบประมาณตามความเหมาะสมจำเป็นให้เพียงพอต่อความปฏิบัติงาน เช่น งบกลาง ในรายการเงินสำรองจ่าย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในส่วนของเงินอุดหนุนของผู้สูงอายุ กระทรวงแรงงาน สำหรับเงินสมทบกองทุนประกันสังคมที่รัฐค้างชำระ กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อปรับปรุงระบบไฟฟ้าในโรงเรียนที่ขาดแคลน กระทรวงสาธารณสุข ในส่วนการสร้างอาคารทางการแพทย์ สถาบันพระปกเกล้า เพื่อปรับปรุงห้องเดตาเซ็นเตอร์ หน่วงานของรัฐสภา ศาล และองค์กรอิสระ เพื่อสนับสนุนตามภารกิจของหน่วยงาน กองทุนเพื่อการกู้ยืมทางการศึกษา (กยศ.) จ่ายให้ผู้กู้ยืมรายเก่าที่มีสัญญาตามกฎหมาย รวมวงเงินตามจำนวนที่ปรับลดงบประมาณได้
สำหรับการอนุมัติเปลี่ยนแปลง 2 รายการ คือ 1. การเปลี่ยนงบประมาณของรัฐวิสาหกิจ 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารออมสิน ซึ่งได้ปรับลดงบประมาณที่หมดความจำเป็นหรือชะลอการดำเนินการได้ เพื่อดำเนินการงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ จำนวน 3.5 หมื่นล้านบาท และ 2. เปลี่ยนแปลงงบประมาณของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข แผนงานบุคลากรภาครัฐ จำนวน 501 ล้านบาท เป็นงบของ อปท. เพื่ออุดหนุนสนับสนุนการถ่ายโอนบุคลากรสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา และ รพ.สต. 47 แห่ง
“การพิจารณารายละเอียด ปรับลด เพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบประมาณให้ความสำคัญกับความพร้อมและศักยภาพของหน่วยงาน รวมถึงผลการดำเนินงาน ภารกิจสำคัญเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศแก้ปัญหาความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นสำคัญ สนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโต รองรับผลกระทบจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ” นายจุลพันธ์ ชี้แจง