xs
xsm
sm
md
lg

"บิ๊กทิน" ฉะเฟกนิวส์ปล่อยข่าว "ผบ.เหล่าทัพ" ต้านแก้พรบ.กห. สกัดรัฐประหาร ปลุกสื่อสร้างความเข้าใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รมว.กลาโหม บรรยายสื่อกับความมั่นคง บอกความแตกแยกทางความคิด ถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงชาติ สื่อต้องสร้างความเข้าใจ ฉะเฟกนิวส์ ปล่อยข่าว "ผบ.เหล่าทัพ" ต่อต้าน แก้พรบ.กลาโหม สกัดรัฐประหาร


วันที่ (2 ก.ย.67) นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดงานครบรอบปีที่ 59 สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย ที่ โรงแรมคิงปาร์ค อเวนิว ศรีนครินทร์ กรุงเทพฯ โดยมี นายอนันต์ นิลมานนท์ นายกสมาคมฯ และคณะกรรมการสมาคมฯ พล.อ.เสริมศักดิ์ วิเศษไชยศรี อดีตหัวหน้าฝ่ายเสนาธิการประจำรมว.กลาโหม นายนคร วีระประวัติ ประธานสมาพันธ์สื่อมวลชนแห่งประเทศไทย นายปรพล อดิเรกสาร ที่ปรึกษาประธานกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดน ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้เเทนราษฎร พล.อ.ประเสริฐ ยังประภากร อดีตนายทหารราชองค์รักษ์พิเศษ, พล.ท.มีชัย ห้องริ้ว อดีต รองผอ.ททบ.5 และสื่อมวลชนหลายสำนัก ร่วมงานฯ โดยภายในงานยังมีมอบรางวัลผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ดีเด่น รางวัลส่งเสริมสร้างสรรรค์กิจกรรมเพื่อสังคมดีเด่น และรางวัลสื่อออนไลน์สร้างสรรค์สังคมดีเด่น

นายสุทิน บรรยายพิเศษหัวข้อ “สื่อกับความมั่นคง” ในตอนหนึ่งว่า ช่วงที่ตนยังอยู่ในวัยหนุ่มได้มีโอกาสได้ทำหน้าที่สื่อ อยู่กับหนังสือพิมพ์ภูมิภาคในจังหวัด และมีความสุขกับการทำสื่อ ดังนั้น จึงรู้สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของสื่อ และรู้ปัญหาของสื่อเป็นอย่างดีว่ามีอะไรบ้าง โดยเฉพาะการหารายได้จากโฆษณา เรียกว่า มองตาก็รู้ใจ โดยช่วงที่ตนหันมาเล่นการเมือง ได้เห็นบทบาทความสำคัญของสื่อ และใช้สื่อสร้างประโยชน์หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการพัฒนาประเทศชาติ พัฒนาบ้านเมืองและท้องถิ่นหลังจากที่ตนรับตำแหน่ง รมว.กลาโหม มีหน้าที่รับผิดชอบงานด้านความมั่นคงของชาติ ดูแลประเทศและชีวิตของพี่น้องประชาชน ถือเป็นภารกิจที่กว้าง

ดังนั้น จึงต้องพยายามทำให้คนในสังคมไทยได้มีความเข้าใจกัน และเข้าใจในทิศทางของประเทศ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย หากได้สื่อที่ดี มีคุณภาพมาให้ความร่วมมือช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์งานด้านความมั่นคง ก็จะช่วยรักษาภารกิจทางด้านความมั่นคงได้ดียิ่งขึ้น ในทางกลับกัน หากไม่ได้รับความร่วมมือจากสื่อ การสื่อสารทางด้านความมั่นคงก็จะมีปัญหามาก และการสื่อสารไปยังพี่น้องประชาชนเพื่อสร้างความเข้าใจก็จะมีปัญหาตามมา แค่เรื่องนี้เรื่องเดียวก็เหนื่อยแล้ว

“วันนี้ สังคมเปลี่ยนไปมากเป็นสังคมโซเชียลฯ การผลิตและสร้างการรับรู้ในข้อมูลสาร ยากต่อการจะควบคุม หากมีผู้ไม่หวังดีต่อประเทศชาติ ใช้ความเป็นสังคมโซเชียลฯ เพื่อทำลายล้างกัน ก็สามารถทำได้ง่ายๆ สร้างปัญหาและความรุนแรงได้มากกว่าในอดีตมาก ดังนั้น สื่อจึงมีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะช่วยให้พี่น้องประชาชนได้ตื่นรู้ ทันกาล ทันเกม ทันโลก และทันคน” นายสุทิน กล่าว

ทั้งนีั ปัญหาความมั่นคงได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบไปมาก สู่ปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่ ในอดีตเราเคยคิดกันว่าอาจถูกประเทศนั้นประเทศนี้บุกรุก หรือเข้ามาก่อปัญหาความไม่สงบในประเทศ แต่วันนี้ ปัญหาความมั่นคงของชาติที่ถือเป็น ภัยคุกคามใหม่ มาจากหลายทิศทาง ไม่ว่าจะปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ปัญหายาเสพติด ปัญหาโรคระบาด ไม่เว้นแม้แต่ ภัยทางความคิดที่เกิดจากช่องว่างระหว่างวัย ซึ่งคนรุ่นใหม่มีความคิดและความต้องการอย่างหนึ่ง ขณะที่คนรุ่นกลางและรุ่นเก่า ก็คิดอีกอย่างหนึ่ง

“ความแตกแยกทางความคิด ถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงชาติรูปแบบหนึ่ง ที่น่ากลัวมาก หลายคนคงทราบดีว่า ทุกวันนี้เรายังต้องเผชิญปัญหานี้อยู่ โดยเฉพาะความแตกต่างระหว่างวัยและระหว่างความคิด

ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของสื่อที่จะช่วยสังคมไทยและช่วยภารกิจงานด้านความมั่นคงของชาติ ด้วยการสร้างความเข้าใจระหว่างวัย” นายสุทิน ระบุ

นายสุทิน ยกตัวอย่างที่ตนเองเพิ่งประสบปัญหากับตัวเองเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน กรณีมีกลุ่มคนบางกลุ่มที่พยายามจะปล่อยข่าวผ่านสื่อทำนองว่า กองทัพรู้สึกไม่พอใจบทบาทของฝ่ายการเมืองที่ล้ำเส้น เสมือนเป็นการแหย่เสือ

โดยการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่…) พ.ศ…. และร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่…) พ.ศ….เข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวมีสาระสำคัญคือ ฝ่ายการเมืองมีอำนาจจะหยุดยั้งการยึดทำรัฐประหารโดยการอำนาจ และให้อำนาจนายกรัฐมนตรีสั่งพักราชการทหารที่ใช้กำลังยึด หรือควบคุมอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินจากรัฐบาลได้ รวมถึงการกำหนดเงื่อนไขการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล ซึ่งตนยอมรับว่าได้เสนอร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมสภากลาโหมฯจริง

แต่ที่สื่อบางสำนักนำข่าวไปลงว่าการกระทำดังกล่าว สร้างความไม่พอใจให้กับผู้นำเหล่าทัพ และเป็นเหตุผลสำคัญทำให้ผู้นำเหล่าทัพหลายคนไม่เข้าร่วมในการประชุมสภากลาโหมที่ตนเป็นประธานฯในครั้งล่าสุด และเป็นสัญญาณบอกเหตุร้ายแล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากฝ่ายการเมืองเดินหน้าเรื่องนี้ต่อไป

นายสุทิน กล่าวว่า ในความเป็นจริงแล้ว การประชุมสภากลาโหม เมื่อช่วงสายของวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมานั้น ผู้นำเหล่าทัพเข้าร่วมประชุมกันเกือบครบ ยกเว้น ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบก ที่ติดภารกิจในต่างประเทศ และได้ทำหนังสือขอลาประชุมอย่างเป็นทางการมาแล้ว พร้อมจัดส่งผู้แทนฯเข้าร่วมประชุมตามปกติ ไม่ได้มีปัญหาที่ว่าผู้นำเหล่าทัพรู้สึกไม่พอใจ กระทั่ง ไม่เข้าร่วมประชุมสภากลาโหม เช่นที่สื่อบางสำนักพยายามจะชี้นำสังคมไทยแต่อย่างใด

“ผมได้ฟังข่าวก็รู้ไม่สบายใจ เพราะสื่อสมัยนี้มันลงข่าวได้ง่ายและลงได้ถี่ การเน้นย้ำข่าวบ่อยๆ ทำให้สังคมไทยเกิดความเข้าใจผิด ยิ่งผู้คนในสมัยนี้ มีสมาธิสั้น อ่านข่าวแค่พาดหัวหรืออย่างมากก็แค่อ่านโปรยข่าว โดยไม่ลงรายละเอียดของข่าว ก็เกิดความเชื่อในข่าวนั้นๆ แล้ว ที่ผ่านมา มีนักการเมืองหลายคนได้รับความเสียหายจากข่าวทำนองนี้ เนื่องจากคนทั่วไปไม่อ่านข่าวเยอะ อ่านแค่หัวข้อข่าว"

นายสุทิน ระบุว่า มีผู้ใหญ่และคนในพรรคเพื่อไทยหลายคน โทรศัพท์มาสอบถามข้อเท็จจริง ขณะที่บางคนถึงกับบอกว่า หากไปต่อไม่ได้ ก็อย่าไปฝืน อย่างไรก็ตาม ตนโชคดีที่มีเพื่อนสื่อดีๆ หลายสื่อ หนึ่งในนั้นก็มีสื่อใน สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย ที่ช่วยกันนำเสนอข่าวตามข้อเท็จจริง ช่วยให้สังคมไทยโดยเฉพาะคนในส่วนภูมิภาคและชนบท ได้รู้และเข้าใจข้อมูลและข่าวสารอย่างถูกต้อง

ดังนั้น บทบาทของสื่อกับภารกิจด้านความมั่นคง เช่น สื่อในส่วนภูมิภาค จึงมีส่วนสำคัญอย่างมากในการจะต่อสู้กับข่าวปลอม (เฟกนิวส์) ช่วยให้คนในส่วนภูมิภาค และชนบทที่ส่วนใหญ่ยังไม่เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของพวกที่ผลิตข่าวปลอม ซึ่งสามารถจะผลิตและเผยแพร่ได้ง่าย และลงข่าวได้ซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง ได้รู้และเข้าใจเป็นผู้ที่ทันกาล ทันเกม ทันโลก และทันคน จนไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้ที่ต้องการจะปล่อยข่าวปลอมได้


กำลังโหลดความคิดเห็น