xs
xsm
sm
md
lg

ชาวอ่างทอง ทวง กกต.สอบนายก อบจ.ใช้งบจัดเลี้ยงแจกของก่อนลาออก 90 วัน ปูดเตี๊ยมคำตอบพยาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตัวแทนชาวอ่างทอง ทวงความคืบหน้าปมร้อง กกต.กลาง สอบนายก อบจ.อ่างทอง ใช้งบจัดเลี้ยง แจกของก่อนลาออก 90 วัน ส่อขัดข้อห้าม กม.เลือกตั้งท้องถิ่น ร่อนหนังสือกังวลใจหลังมีข่าวอาจยกคำร้อง เผย สอบท้องถิ่นมีการแจกคำตอบให้พยาน หวั่นตีความใช้งบก่อนลาออก หากทำได้ที่อื่นแห่ทำตาม

วันนี้ (2 ก.ย.)​ นายโยธิน เปาอินทร์ ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง พร้อมด้วยกลุ่มตัวแทน เดินทางเข้ายื่นหนังสือติดตามความคืบหน้าการยื่นเรื่องร้องเรียนให้มีการตรวจสอบการกระทำฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 65 วรรคสอง ที่กำหนดว่าข้อห้ามดำเนินการต่างๆก่อนยื่นลาออกหรือครบวาระ 90 วัน สืบเนื่องจาก นายสุรเชษ นิ่มกุล หรือ นายกตี๋ ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอ่างทอง ก่อนจะลงสมัครรับเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง และเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 67 ซึ่งตรงกับวันเลือกตั้งนายก อบจ .อ่างทอง ได้ยื่นให้ กกต.ประจำจังหวัดอ่างทอง ไปดำเนินการตรวจสอบว่าการดำเนินการใดๆ ก่อนยื่นลาออกจากตำแหน่ง 90 วัน อาจเป็นการขัดต่อกฎหมายเลือกตั้งท่องถิ่นหรือไม่ แต่ผ่านมาแล้วหลายเดือนยังไม่มีความคืบหน้า จึงมาร้อง กกต.กลางให้ดำเนินการตรวจสอบ และมีการยื่นให้ตรวจสอบเพิ่มเติม ใน 4 ประเด็นโดยเฉพาะการอนุมัติโครงการหรือกิจกรรม เข้าข่ายเป็นกิจกรรมหรือโครงการใหม่ ที่ไม่สามารถดำเนินการได้ รวมถึงได้ยื่นหลักฐานที่เคยร้องต่อ กกต.อ่างทอง นำมายื่นให้กกต.กลางตรวจสอบด้วย

นายโยธิน กล่าวว่า ตนยื่นเรื่องในฐานะผู้มีสิทธิเลือกตั้งกังวลการตีความข้อกฎหมายท้องถิ่น เนื่องจากตัวนายก อบจ อ่างทองเป็นนักการเมืองเก่าและมีความคุ้นเคย รู้จักมักคุ้นกับข้าราชการส่วนใหญ่ จึงเกิดความกังวลการตีการตีความกฎหมายท้องถิ่นมาตรา 65 วรรคหนึ่งและวรรคสองจะเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ทั้งนี้ได้ยื่นหลักฐานให้มีการตรวจสอบพฤติการณ์ของ นายก อบจ คนดังกล่าวโดยรวบรวมมาจากโซเชียลมีเดียส่วนตัว ที่เจ้าตัวเป็นคนโพสต์ภาพและข้อความเองว่าได้ดำเนินการอะไรบ้าง โดยประเด็นที่ค่อนข้างมีความชัดเจน คือ มีการจัดเลี้ยงวันเกิดในช่วง 90 วันก่อนลาออกจากตำแหน่ง มีการแจกของชำร่วย ปรากฏภาพถ่ายและคลิปวิดีโอ รวมถึงมีการแจกของช่วยเหลือสมาคม มูลนิธิ โรงพยาบาล ซึ่งมีความผิดตามมาตรา 65 (1)(2) และ (4) โดยขณะนี้มีข่าวแว่วมาว่ามีการตกลงกันแล้วว่าจะยกคำร้อง ทำให้ตนรู้สึกกังวล วันนี้มาขอให้ กกต.เร่งดำเนินการตรวจสอบ พร้อมกันนี้ก็ได้ยื่นหนังสือข้อกังวลใจของกลุ่มตนในฐานะผู้ร้อง เนื่องจากผู้ถูกร้องเป็นนายก อบจ มาหลายสมัย ก็มีความสัมพันธ์กับข้าราชการในพื้นที่ เกรงว่าการพิจารณาแต่ละขั้นตอน อาจจะทำให้เจตนารมณ์ของกฎหมายผิดเพี้ยนไป

นายโยธิน กล่าวอีกว่า พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ประกาศใช้เมื่อปี 2562 ก่อนมีการจัดการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดพร้อมกันทั่วประเทศในปี 2563 โดยการตัดสินในครั้งนี้จะเป็นบรรทัดฐานทันที เพราะยังไม่มีการลาออกอย่างเป็นทางการของนายก อบจ หากตามกฎหมายมาตรา 65 วรรคสองระบุว่า 90 วันห้ามกระทำการตามวรรคหนึ่ง โดยตนเห็นว่าการกระทำน่าจะขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพราะมาตราดังกล่าว เคยบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ฉบับเดิมในมาตรา 57 ไม่มีวรรคสอง ไม่มีคำว่า 90 วันก่อนลาออกหรือครบวาระการดำรงตำแหน่ง ซึ่งตามเจตนารมณ์ของผู้เขียนกฎหมาย เห็นว่าการเพิ่มข้อความน่าจะให้ผู้สมัครใหม่ หรือผู้ดำรงตำแหน่งเดิมมีความเท่าเทียมกัน จึงระบุห้ามกระทำการตามวรรคหนึ่ง

นายโยธิน ยังเปิดเผยอีกว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าในพื้นที่มีการเตรียมพยานให้พูดอย่างไร โดยเฉพาะมีคนกระซิบมาว่ามีการเฉลยข้อสอบว่าจะถามอะไร แล้วจะให้ตอบว่าอะไร ซึ่งกลายเป็นการล็อกสเป็คไป ตนก็เลยมีความกังวลใจ จึงมายื่น กกต.กลางให้ตรวจสอบว่าการสืบสวนสอบสวนของจังหวัดเป็นอย่างไร

เมื่อถามว่า การมายื่นเรื่องร้องเรียนในครั้งนี้ไมได้เป็นการกลั่นแกล้งหรือใส่ร้ายนายก อบจ อ่างทองใช่หรือไม่ นายโยธิน ยืนยันว่าไม่ใช่ เพราะหลักฐานทั้งหมด เป็นหลักฐานที่ปรากฏตามโซเชียลมีเดียที่เจ้าตัวโพสต์เองและองค์การบริหารส่วนจังหวัดโพสต์ ไม่ได้เป็นหลักฐานที่ตนเสาะหามาได้เอง แต่เป็นหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในโซเชียลมีเดียอยู่แล้ว ไม่ได้กลั่นแกล้ง พร้อมกันนี้ได้ฝากไปยัง กกต.ในการดำเนินการตรวจสอบว่าการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นครั้งที่ผ่านมา เป็นการเลือกตั้งกฎหมายท้องถิ่นปี 2562 เป็นการบังคับใช้ครั้งแรก และครั้งนี้หากตัดสินออกมาอย่างไรก็จะเป็นบรรทัดฐาน หากตัดสินว่า 90 วันก่อนลาออกสามารถดำเนินการได้ทุกอย่าง ตนว่ากฎหมายข้อนี้ก็ไม่รู้จะเขียนมาทำไม เพราะจะไปอ้างอิงกับกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นฉบับเดิม ที่กำหนดข้อห้าม 5 ข้อ แต่ไม่มีในเรื่อง 90 วัน ส่วนตัวเห็นว่าการเพิ่มข้อห้ามดังกล่าว มีความหมาย อย่างไรก็ตาม หากตัดสินว่าสามารถทำได้ ก็เกรงว่าจะกลายเป็นโมเดลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อื่นๆ ดำเนินการตาม


กำลังโหลดความคิดเห็น