xs
xsm
sm
md
lg

เปิดรายงาน 1 ปี 76 จว. สนองปราบผู้มีอิทธิพล ก่อนเลือกตั้งท้องถิ่น เข้าข่ายแค่ 2 บิ๊กอบต./เทศบาล - 17 จว. อ้างคน/งบ/อำนาจ ไม่พอ แถมเกรงใจผู้มีอิทธิพล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดรายงาน 1 ปี 76 จังหวัด สนองนโยบายปราบปรามผู้มีอิทธิพล หลังหน่วยงานกำกับท้องถิ่น ในสังกัดมหาดไทย แจ้งพบ "นักการเมืองท้องถิ่น" เข้าข่ายเป็นผู้มีอิทธิพล ตามนิยาม "มท.หนู" หลังสรุปผ่าน Google Forms เข้าข่ายแค่ 2 ผู้บริหาร จากอบต.-เทศบาล เผย 59 จังหวัด แจ้งไร้ปัญหาเข้าตรววจสอบบุคคล มีเพียง 17 จังหวัด อ้างคน/งบ/อํานาจหน้าที่ไม่พอ เกรงใจ/เกรงกลัวผู้มีอิทธิพล ไม่ได้รับความร่วมมือหน่วยงานอื่น ส่วนอีก 2 จังหวัดแจ้ง ไม่ปรากฏนักการเมืองท้องถิ่นมีพฤติกรรมเข้าข่าย และ ขาดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่า "บุคคลใดเข้าข่ายเป็นผู้มีอิทธิพล" สุดท้ายออกได้เพียง "มาตรการที่ใช้บังคับ" ก่อนเลือกตั้งท้องถิ่น

วันนี้ (30 ส.ค.2567) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้าต่อนโยบายขับเคลื่อนนโยบายจัดระเบียบสังคม ปราบปรามผู้มีอิทธิพล ของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

โดยเฉพาะให้มีการตรวจสอบผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายผู้มีอิทธิพลผู้มีอิทธิพล ก่อนการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น ในส่วนขององค์การบริหารส่ววนจังหวัด (อบจ.) และเทศบาล ทุกระดับ ที่จะหมดวาระในปลายปีนี้

พบว่า ในส่วนของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ภายหลังมีข้อสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอําเภอ ในฐานะผู้กํากับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

ตรวจสอบติดตามพฤติกรรมของผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหาร ท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ประธานสภาท้องถิ่น รองประธานสภาท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายผู้มีอิทธิพล

โดยมีการรายงานผลการใช้อํานาจ พร้อมทั้งปัญหาอุปสรรค ให้ สถ.ทราบ ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2566 ถึง 4 ม.ค. 2567 ผ่านทาง Google Forms

สรุปผลการศึกษาวิเคราะห์ปัญหาอุปสรรค พบบุคคลที่มีพฤติกรรม เข้าข่ายผู้มีอิทธิพล มีการใช้อํานาจหน้าที่ในตําแหน่งไปเอารัดเอาเปรียบประชาชน หรือทําให้ประชาชน ได้รับความเดือดร้อน จํานวน 2 ราย

"อยู่ในสังกัดองค์การบริหารส่วนตําบล (อบต.) จํานวน 1 ราย และสังกัดเทศบาล จํานวน 1 ราย โดยทั้งสองรายเป็นฝ่ายบริหาร"

ซึ่งจากผลการรับฟังปัญหาอุปสรรคในการตรวจสอบติดตาม บุคคลที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายผู้มีอิทธิพลตามการรายงานของจังหวัด พบว่า 59 จังหวัด ไม่มีปัญหาอุปสรรค / ในการตรวจสอบ

มีเพียง 17 จังหวัดที่มีข้อขัดข้องในการตรวจสอบติดตามบุคคล ที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายผู้มีอิทธิพลตามอํานาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอําเภอ ตามกฎหมาย ว่าด้วยการจัดตั้ง อปท. (มี 12 จังหวัดที่มีมากกว่า 1 ปัญหา)

ได้แก่ (1) บุคลากรไม่เพียงพอ 8 จังหวัด (2) งบประมาณไม่เพียงพอ 3 จังหวัด (3) อํานาจหน้าที่ไม่เพียงพอในการตรวจสอบ และดําเนินการกับผู้มีอิทธิพล 10 จังหวัด

(4) ผู้ปฏิบัติงานมีความเกรงใจ หรือเกรงกลัวผู้มีอิทธิพล 2 จังหวัด (5) ไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4 จังหวัด

(6) ยังไม่ปรากฏข้อมูลจากฝ่ายปกครองว่า ผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นมีพฤติกรรมเข้าข่ายผู้มีอิทธิพล 1 จังหวัด และ (7) ขาดหลักเกณฑ์ ในการพิจารณาว่าบุคคลใดเข้าข่ายเป็นผู้มีอิทธิพล 1 จังหวัด

โดยจังหวัดที่มีข้อขัดข้องในการดําเนินการ ได้มีข้อเสนอแนะให้มีการกําหนดนิยามความหมายของคําว่า “ผู้มีอิทธิพล” และอํานาจวินิจฉัยว่าใครเป็นผู้มีอิทธิพล

ที่ มท.1 ให้คำนิยามว่า “บุคคลผู้มีอํานาจ หรือมีเงิน หรือมีปัจจัยอื่นใด แล้วใช้อํานาจนั้น รังแกผู้อื่น ไม่เว้นแม้แต่ข้าราชการ”

รวมทั้งเพิ่มบทบัญญัติกฎหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอําเภอมีอํานาจตรวจสอบติดตามบุคคลที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายผู้มีอิทธิพล

ล่าสุด สถ. เวียนหนังสือเรื่อง การตรวจสอบผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายผู้มีอิทธิพล ถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด

ระบุว่า ได้ศึกษาวิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคในการตรวจสอบและดําเนินการกับบุคคลที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายผู้มีอิทธิพลตามการรายงานของจังหวัดแล้ว เห็นว่า เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ชัดเจน และเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วทั้งประเทศ

ได้แจ้ง "มาตรการที่ใช้บังคับกับผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายผู้มีอิทธิพล" ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบ

โดยพบว่า มีมาตรการน่าสนใจ เช่น ข้อ 3 เมื่อมีการร้องเรียนกล่าวหาโดยมีหลักฐานอันสมควรเชื่อได้ว่า ผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้ใด มีพฤติกรรมเข้าข่ายผู้มีอิทธิพล

ให้สํานักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด (ท้องถิ่นจังหวัด) เร่งจัดทํารายงานข้อเท็จจริง หรือพฤติการณ์แห่งการกระทํา และพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งปวงเท่าที่มี

พร้อมความเห็นเสนอต่อผู้บังคับบัญชาตามลําดับชั้นจนถึงผู้กํากับดูแล เพื่อสั่งการให้ผู้นั้นหยุดพฤติกรรมดังกล่าว

ข้อ 4 เมื่อมีกรณีตามข้อ 4 ให้ท้องถิ่นจังหวัด รายงานให้อธิบดี สถ. ทราบควบคู่กับการรายงานผู้กํากับดูแล

โดยรายงานผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ภายในกําหนดเวลา 3 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่มีเหตุ และให้รายงานผลการดําเนินการเบื้องต้นเป็นหนังสือให้ สถ.ทราบ ภายในกําหนดเวลา 3วัน ตามแนวทางปฏิบัติในการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น กรณีเร่งด่วน

ข้อ 5 หากปรากฏว่า ผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้ใด มีพฤติกรรมเข้าข่ายผู้มีอิทธิพล โดยพฤติกรรมนั้น มีลักษณะเป็นการฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมผู้บริหารท้องถิ่นหรือประมวลจริยธรรมสมาชิกสภาท้องถิ่น

ให้ท้องถิ่นจังหวัด เสนอผู้กํากับดูแลพิจารณาดําเนินการตามมาตรการที่ใช้บังคับ แก่ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ซึ่งมีพฤติกรรมที่เป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมหรือไม่ปฏิบัติ

ตามประมวลจริยธรรมผู้บริหารท้องถิ่น ประมวลจริยธรรมสมาชิกสภาท้องถิ่น และข้อกําหนดจริยธรรม ของหน่วยงาน

ข้อ 6 หากปรากฏว่า ผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้ใด มีพฤติกรรมเข้าข่ายผู้มีอิทธิพล โดยพฤติกรรมนั้นเข้าเงื่อนไขการกระทําอันเป็นการต้องห้าม ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งอปท.

ให้ ท้องถิ่นจังหวัด เสนอผู้กํากับดูแลพิจารณาดําเนินการสอบสวนตามกฎกระทรวงว่าด้วยการสอบสวนผู้ดํารงตําแหน่งบางตําแหน่ง ในอท. และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้ง อปท. เพื่อวินิจฉัยหรือสั่งการให้ผู้นั้นพ้นจากตําแหน่ง

ข้อ 7 การรายงานข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมเข้าข่ายผู้มีอิทธิพล ของผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิก สภาท้องถิ่นตามมาตรการนี้ ให้ท้องถิ่นจังหวัด ถือปฏิบัติ

ให้เป็นไปตาม ระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ การให้บุคคลใดเข้าถึงข้อมูลหรือเปิดเผยแก่ผู้ใดให้กระทํา เท่าที่จําเป็นและกระทําด้วยความระมัดระวัง

โดยคํานึงถึงประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย การฟ้องคดี การป้องกัน การปราบปราม และความปลอดภัยของบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วย.


กำลังโหลดความคิดเห็น