เลขาฯ ป.ป.ช.เผยยังไม่ได้ภาพวงจรปิดชั้น 14 รพ.ตำรวจ และข้อมูลเอื้อ "นักโทษเทวดา" ยังได้ไม่ครบ แม้ทวงถามนานแล้ว ไม่รับปากเชิญ “เสรีพิศุทธ์” เป็นพยานเข้าเยี่ยม “ทักษิณ” ส่วนปมนายกฯ โอนหุ้นหลายบริษัทหลังโปรดเกล้าฯ ยันทำได้ตามกรอบเวลากฎหมาย
วันนี้ ( 30 ส.ค.) นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบกรณีนายทักษิณ ชินวัตร รักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ ว่าขณะนี้ ป.ป.ช. ตรวจสอบไปมากแล้ว มีข้อมูลมาพอสมควร เดี๋ยวจะมีการสรุปว่ามีมูลในการไต่สวนได้หรือไม่
ส่วนหลักฐานภาพวรจรปิดในชั้น 14 ทาง ป.ป.ช. ได้ขอไปนานแล้ว แต่ยังไม่ได้รับ ซึ่ง ป.ป.ช. ได้ประสานกับเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์และโรงพยาบาลตำรวจอยู่ตลอด
ส่วนการขอไปแล้วแต่หน่วยงานไม่ได้ให้ภาพมาถือว่าผิดปกติหรือไม่ นายนิวัติไชย กล่าวว่าอาจจะต้องเข้าไปตรวจสอบ ว่ามีภาพกล้องวงจรปิดหรือไม่ หากมีแล้วใช้ได้หรือไม่ รวมถึงได้ขอข้อมูลเวชระเบียนของนายทักษิณ และข้อมูลอื่นๆ ไปอีกหลายเรื่อง แต่ยังได้มาไม่ครบ
เมื่อถามว่า การที่หน่วยงานภาครัฐยังไม่ให้เอกสารมา ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของ ป.ป.ช.หรือไม่ นายนิวัติไชย ย้ำว่า กฎหมายให้อำนาจ ป.ป.ช.ในการตรวจสอบ หากไม่ได้รับความร่วมมือ ป.ป.ช.ก็มีสิทธิ์เข้าไปตรวจสอบถึงเหตุผลว่าทำไมจึงไม่ให้ และมีข้อเท็จจริงอย่างไร ซึ่งตามหลักการหน่วยงานนั้นต้องชี้แจง เป็นไปตามระเบียบการทำงานของหน่วยงาน
ส่วนที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ออกมาเปิดเผยรายละเอียดถึงการไปเยี่ยมนายทักษิณที่ชั้น 14 จำเป็นต้องเชิญมาเป็นพยานหรือไม่ นายนิวัติไชย กล่าวว่า ต้องดูว่าการจะเชิญนั้น จะสอบถามในเรื่องอะไร และมีความจำเป็นจะต้องเชิญมาหรือไม่ ซึ่งต้องให้เจ้าหน้าที่พิจารณา เรื่องนี้ตนเองยังไม่สามารถตอบได้ ส่วนประเด็นที่ คปท. เคยร้องขอให้ ป.ป.ช. เชิญ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ มาเป็นพยานนั้น นายนิวัติไชย กล่าวว่าเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่พิจารณา ว่ามีความจำเป็นหรือไม่ การเชิญมาให้ข้อมูลนั้นมีน้ำหนักหรือไม่ ไม่เช่นนั้นทุกคนบอกว่าให้เชิญใครมาก็ต้องเชิญมาหมด ต้องพิจารณาน้ำหนักและข้อเท็จจริงที่เพียงพอ เพราะหากมีการฟ้องร้องทางคดีจะต้องนำไปเป็นพยานและหลักฐานด้วย
ส่วนกรณีผลสอบของกรรมการสิทธิมนุษยชน หรือ กสม. ที่พบว่านายทักษิณได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่นที่มีการส่งเรื่องต่อให้กับ ป.ป.ช. นั้น นายนิวัติไชย กล่าวว่าได้รับข้อเสนอของ กสม. แล้ว ซึ่งจะนำมาพิจารณาเป็นความเห็นประกอบ เป็นไปตามหน้าที่ขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
ส่วนกรอบเวลาในการดำเนินงานสอบสวนเรื่องนี้จะใช้เวลาเท่าไหร่นั้น นายนิวัติไชย ไม่ระบุชัด บอกเพียงว่า ต้องดูข้อเท็จจริงที่ได้รับว่าได้ข้อมูลครบถ้วนหรือไม่
เมื่อถามว่ากรณี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ถือหุ้นบริษัทต่างๆ มีคนไปร้องบ้างหรือยัง นายนิวัติไชย ระบุว่ายังไม่มีใครร้องมา โดยเรื่องนี้ต้องพิจารณาด้วยว่าอยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช. ที่จะทำการตรวจสอบหรือไม่ เช่น มีการกระทำผิดต่อตำแหน่ง ฝ่าฝืนจริยธรรม หรือครอบครองหุ้นเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือไม่ ซึ่งตามขั้นตอนของกฎหมาย การเซ็นโอนหุ้นของผู้ที่ได้รับตำแหน่งทางการเมือง สามารถทำได้หลังถวายสัตย์ปฏิญาณตนภายใน 15 วันก็ได้ ไม่จำเป็นจะต้องโอนหุ้นก่อนได้รับการโปรดเกล้าฯ ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.หุ้น ซึ่งการถือครองหุ้น หลังจากดำรงตำแหน่งแล้ว ก็ยังสามารถถือครองได้ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเกินจากนั้นต้องดำเนินการให้นิติบุคคลเป็นผู้จัดการ
เมื่อถามย้ำว่าดำเนินการเซ็นโอนหุ้นของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ในการโอนหุ้น หากดำเนินการในช่วงนี้ถือว่ายังอยู่ในกรอบของกฏหมายหรือไม่ นายนิวัติไชย บอกว่า อันนี้ต้องไปพิจารณา