เปิดฟังความคิดเห็น ทุกระดับ ต่อกฎหมายลำดับรอง 18 ฉบับ 14 มาตรการ “คุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” จ่อประเมินผลสัมฤทธิ์ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และกฎหมายรอง รวมทั้งการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และข้อกฎหมาย บทกำหนดโทษ มากกว่า 11 ข้อ
วันนี้ (28 ส.ค.) มีรายงานจากกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เวียนหนังสือไปถึงหน่วยงานทั่วประเทศ เพื่อขอรับฟังความคิดเห็น 60 คำถาม เพื่อประกอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และกฎหมายลำดับรอง
ภายหลัง ได้ยกร่างกฎหมายลำดับรอง โดยแจ้งขอรับฟังความคิดเห็น ระหว่างวันที่ 26 ส.ค - 30 ก.ย. 2567 พบว่า เป็นการขอความเห็น ต่อมาตรการต่างๆ ในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามกฎหมาย กฎ มติ ครม ระเบียบ และคำสั่งที่เกี่ยวข้อง จำนวน 18 ฉบับ
ตัวอย่าง เช่น เห็นด้วยว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช่สินค้าธรรมดา สมควรมีมาตรการเพื่อควบคุมผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากสินค้าดังกล่าว หรือไม่ อย่างไร
เห็นด้วยกับวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัตินี้ โดยที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ ครอบครัว อุบัติเหตุและอาชญากรรม ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
สมควรกำหนดมาตรการต่างๆ ในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งการบำบัดรักษาหรือฟื้นฟูสภาพผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อช่วยลดปัญหาและผลกระทบทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ
ช่วยสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนโดยให้ตระหนักถึงพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตลอดจนช่วยป้องกันเด็กและเยาวชนมิให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่าย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ หรือไม่ อย่างไร
เห็นว่า กฎหมายนี้ยังมีความจำเป็นและสอดคล้องกับสภาพการณ์ พัฒนาการของเทคโนโลยี และวิถีชีวิตของประชาชน หรือไม่ อย่างไร
เห็นว่า กฎหมายนี้ยังมีความจำเป็นและสอดคล้องกับสภาพการณ์ พัฒนาการของเทคโนโลยี และวิถีชีวิตของประชาชนหรือไม่ อย่างไร และพบปัญหาหรืออุปสรรคในการดำเนินงานหรือบังคับใช้ตามกฎหมายนี้หรือไม่ อย่างไร
เห็นว่าสมควรยกเลิก แก้ไข ปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้หรือไม่ เพราะเหตุใด และหากต้องการแก้ไขหรือปรับปรุง ต้องการให้แก้ไขหรือปรับปรุงอย่างไร
“เห็นด้วยกับการกำหนดนิยามคำว่า “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” “ผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” “ขาย” “โฆษณา” “การสื่อสารการตลาด” “ข้อความ” “ฉลาก” หรือไม่ อย่างไร (มาตรา 3)”
เห็นด้วยกับการกำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้หรือไม่ อย่างไร (มาตรา 4) รวมถึงโครงสร้าง อำนาจและหน้าที่ ของคณะกรรมการชุดต่าง ๆ และสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เห็นด้วยกับการกำหนดให้มีมาตรการควบคุมบรรจุภัณฑ์ ฉลาก และข้อความคำเตือนของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า
โดยการจัดให้มีบรรจุภัณฑ์ ฉลาก และข้อความคำเตือนดังกล่าวต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มฯ ประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาหรือไม่ อย่างไร (มาตรา 26)
เห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้ฉลากและบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องไม่ใช้ข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือข้อความที่อาจเกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม โดยข้อความที่ถือว่าไม่เป็นธรรมหรืออาจก่อให้เกิดผลเสียแก่ส่วนรวม เช่น
(1) ข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง (2) ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะกระทำโดยใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริงหรือไม่ก็ตาม
(3) ข้อความที่เป็นการสนับสนุนโดยตรงหรือโดยอ้อมให้มีการกระทำผิดกฎหมายหรือศีลธรรม หรือนำไปสู่ความเสื่อมเสียในวัฒนธรรมของชาติ (4) ข้อความที่จะทำให้เกิดความแตกแยกหรือเสื่อมเสียความสามัคคีในหมู่ประชาชน
เห็นด้วยกับการกำหนดให้ฉลากและบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องไม่ใช้ข้อความที่เชิญชวนให้บริโภคหรืออวดอ้างสรรพคุณ คุณประโยชน์ หรือคุณภาพของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยทางตรงหรือทางอ้อม
(เช่น ข้อความที่ทำให้เกิดทัศนคติว่าจะทำให้ประสบความสำเร็จในทางสังคมหรือทางเพศหรือทำให้สมรรถภาพทางร่างกายดีขึ้น ข้อความหรือภาพที่มีนักกีฬา ศิลปิน ภาพการ์ตูน หรือชักจูงให้ซื้อหรือบริโภคเพื่อนำรายได้ไปบริจาคเป็นสาธารณกุศล
หรือให้เข้าร่วมกิจกรรมทางด้านดนตรี กีฬา การประกวด เป็นต้น) หรือไม่ อย่างไร
เห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการมีมาตรการควบคุมสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยกำหนดห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณต่างๆ ดังนี้
(1) วัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา (2) สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ สถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลและร้านขายยาตามกฎหมายว่าด้วยยา (3) สถานที่ราชการ ยกเว้นบริเวณที่จัดไว้เป็นร้านค้าหรือสโมสร
(4) หอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก (5) สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ (6) สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง หรือร้านค้าในบริเวณสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง
(7) สวนสาธารณะของทางราชการที่จัดไว้เพื่อการพักผ่อนของประชาชนโดยทั่วไป (8) สถานที่อื่นที่รัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ
เห็นด้วยกับการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษา หรือหอพักใกล้เคียงสถานศึกษาหรือไม่ อย่างไร
เห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการมีมาตรการควบคุมสถานที่บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยกำหนดห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณต่างๆ ดังนี้
(1) วัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา เว้นแต่เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมทางศาสนา (2) สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ สถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลและร้านขายยาตามกฎหมายว่าด้วยยา ยกเว้นบริเวณที่จัดไว้เป็นที่พักส่วนบุคคล
(3) สถานที่ราชการ ยกเว้นบริเวณที่จัดไว้เป็นที่พักส่วนบุคคล หรือสโมสร หรือการจัดเลี้ยงตามประเพณี
(4) สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ยกเว้นบริเวณที่จัดไว้เป็นที่พักส่วนบุคคลหรือสโมสร หรือการจัดเลี้ยงตามประเพณี หรือสถานศึกษาที่สอนการผสมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ
(5) สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงหรือร้านค้าในบริเวณสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง (6) สวนสาธารณะของทางราชการที่จัดไว้เพื่อการพักผ่อนของประชาชนโดยทั่วไป
(7) สถานที่อื่นที่รัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ
เห็นด้วยกับการกำหนดห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐ ยกเว้นบริเวณที่จัดไว้เป็นร้านค้า หรือสโมสร และห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ดังกล่าว
ยกเว้น บริเวณที่จัดไว้เป็นที่พักส่วนบุคคลหรือสโมสร หรือการจัดเลี้ยงตามประเพณี หรือไม่ อย่างไร
เห็นด้วยกับการกำหนดห้ามขายและห้ามบริโภคในพื้นที่ประกอบกิจการโรงงาน ยกเว้นโรงงานผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือไม่ อย่างไร
เห็นด้วยกับการกำหนดให้ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทาง หรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางในขณะขับขี่หรือขณะโดยสารอยู่ในรถหรือบนรถ หรือไม่ อย่างไร
เห็นด้วยกับการกำหนดห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสวนสาธารณะของรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐที่จัดไว้เพื่อการพักผ่อนของประชาชนโดยทั่วไป หรือไม่ อย่างไร
เห็นด้วยกับการกำหนดห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ที่อยู่ในกำกับดูแลและใช้ประโยชน์ของราชการ และรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ยกเว้นร้านค้าหรือ และห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ดังกล่าว ยกเว้น ที่พักส่วนบุคคล หรือสโมสร หรือการจัดเลี้ยงตามประเพณี หรือไม่ อย่างไร
เห็นด้วยกับการกำหนดห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณสถานีขนส่ง หรือไม่ อย่างไร เห็นด้วยกับการกำหนดห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณสถานีรถไฟหรือในขบวนรถที่อยู่บนทางรถไฟ หรือไม่ อย่างไร
เห็นด้วยกับการกำหนดห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณท่าเรือโดยสารสาธารณะ หรือบนเรือโดยสารสาธารณะประจำทาง หรือไม่ อย่างไร
เห็นด้วยกับการกำหนดมีมาตรการจำกัดวันและเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันหรือเวลาที่รัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ โดยในประกาศจะกำหนดเงื่อนไขหรือข้อยกเว้นเท่าที่จำเป็นด้วยก็ได้ หรือไม่ อย่างไร
เห็นด้วยกับการกำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามคำถามข้อ 31 โดยให้ห้ามขายในวันสำคัญทางพุทธศาสนา ดังต่อไปนี้ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา และวันออกพรรษา โดยยกเว้นการขายในร้านค้าปลอดอากรในอาคารท่าอากาศยานนานาชาติ หรือไม่ อย่างไร
เห็นด้วยกับการจำกัดเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามคำถามข้อ 35 โดยให้การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถทำได้เฉพาะสองช่วงเวลาคือ 11.00-14.00 และ 17.00-24.00 น. ยกเว้น การขายในอาคารท่าอากาศยานนานาชาติ การขายในสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ หรือไม่ อย่างไร
รวมถึง ความเห็นที่ห้ามขายให้บุคคล ซึ่งมีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และบุคคลที่มีอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้ หรือไม่ อย่างไร
เห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการมีมาตรการควบคุมวิธีการหรือลักษณะการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยกำหนดห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะต่างๆ ดังนี้ (1) ใช้เครื่องขายอัตโนมัติ (2) การเร่ขาย (3) การลดราคาเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการขาย
(4) ให้หรือเสนอให้สิทธิในการเข้าชมการแข่งขัน การแสดง การให้บริการการชิงโชค การชิงรางวัล หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดเป็นการตอบแทนแก่ผู้ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแก่ผู้นำหีบห่อหรือสลากหรือสิ่งอื่นใดเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาแลกเปลี่ยนหรือแลกซื้อ
(5) โดยแจก แถม ให้ หรือแลกเปลี่ยนกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือกับสินค้าอื่น หรือการให้บริการอย่างอื่น แล้วแต่กรณี หรือแจกจ่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในลักษณะเป็นตัวอย่างของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือเป็นการจูงใจสาธารณชนให้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการกำหนดเงื่อนไขการขายในลักษณะที่เป็นการบังคับซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยทางตรงหรือทางอ้อม
(6) โดยวิธีการหรือลักษณะอื่นใดตามที่รัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ
(มาตรา 30)
เห็นด้วยกับการกำหนดห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการใช้เครื่องจ่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในสถานที่หรือบริเวณร้านค้าสะดวกซื้อ หรือไม่ อย่างไร ทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือไม่ อย่างไร
เห็นว่า การควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังจำเป็นหรือไม่ อย่างไร
เห็นด้วยกับการกำหนดห้ามผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม
ยกเว้นการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ โดยผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้สามารถกระทำได้เฉพาะการให้ข้อมูลข่าวสาร และความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคม โดยไม่มีการปรากฏภาพของสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น
เว้นแต่เป็นการปรากฏของภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสัญลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นเท่านั้น หรือไม่ อย่างไร
เห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการแสดงภาพสัญลักษณ์เพื่อประกอบการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามคำถามข้อ 39 ดังนี้
กำหนดให้การแสดงภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือภาพสัญลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้องใช้ร่วมกับการให้ข้อมูลข่าวสารและความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคม
และต้องไม่มีลักษณะเป็นการอวดอ้างสรรพคุณ คุณประโยชน์ คุณภาพของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือชักจูงใจให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม และภาพสัญลักษณ์ดังกล่าวต้องมีลักษณะ
เช่น ไม่เป็นภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือบรรจุภัณฑ์ หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่แสดงให้ปรากฏในรูปแบบ ลักษณะ หรือภาพใดๆ ที่สามารถสื่อให้เห็นหรือทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นภาพของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือภาพบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
เห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการแสดงภาพสัญลักษณ์เพื่อประกอบการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับสื่อแต่ละประเภท ดังนี้
(1) กรณีใช้สื่อทางกิจการโทรทัศน์ การฉายภาพ ภาพยนตร์ วีดิทัศน์ การแสดงภาพโดยผ่านเครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่ออื่นใดในทำนองเดียวกัน
ภาพสัญลักษณ์ต้องมีขนาดไม่เกินร้อยละ 5 ของพื้นที่โฆษณาทั้งหมดและใช้เวลาแสดงภาพสัญลักษณ์ไม่เกินร้อยละ 5 ของเวลาโฆษณาทั้งหมด แต่ต้องไม่เกิน 2 วินาที โดยให้โฆษณาได้ตั้งแต่เวลา 22.00-05.00 น. และให้แสดงภาพสัญลักษณ์ดังกล่าวเฉพาะในตอนท้ายของการโฆษณาเท่านั้น
(2) กรณีสื่อสิ่งพิมพ์ ภาพสัญลักษณ์ต้องมีขนาดไม่เกินร้อยละ 5 ของพื้นที่โฆษณาทั้งหมด โดยห้ามแสดงที่ปกหน้า ปกหลัง คู่หน้ากลาง หรือที่สิ่งห่อหุ้มสื่อสิ่งพิมพ์ดังกล่าว
(3) กรณีสื่ออื่นๆ ภาพสัญลักษณ์ต้องมีขนาดไม่เกินร้อยละ 3 ของพื้นที่โฆษณาในสื่อนั้น
ทั้งนี้ ให้มีการแสดงข้อความคำเตือนทุกครั้งและตลอดเวลาขณะที่มีการแสดงภาพสัญลักษณ์นั้น โดยรูปแบบของข้อความคำเตือนนั้นให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประกาศกำหนด
การกำหนดให้การแสดงข้อความคำเตือนประกอบภาพสัญลักษณ์ จากสื่อทางกิจการโทรทัศน์ การฉายภาพ ภาพยนตร์ วีดิทัศน์ การแสดงภาพ โดยผ่านเครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่ออื่นใดในทำนองเดียวกัน ให้แสดงข้อความคำเตือนแบบเสียงโดยต้องรับฟังได้ชัดเจนทุกพยางค์และสามารถเข้าใจความหมายได้
โดยมีระดับเสียงเทียบเท่ากับข้อความหลักของโฆษณา รวมทั้งให้แสดงข้อความคำเตือนแบบตัวอักษร โดยแสดงในตำแหน่งบนสุด และมีขนาดพื้นที่ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของพื้นที่โฆษณา โดยข้อความคำเตือนทั้งแบบเสียงและแบบตัวอักษรต้องแสดงไม่น้อยกว่า 2 วินาที
กรณีสื่อสิ่งพิมพ์ ให้แสดงข้อความคำเตือนแบบตัวอักษร โดยให้แสดงในตำแหน่งบนสุด และมีขนาดพื้นที่ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของพื้นที่โฆษณา โดยให้แสดงในตำแหน่งบนสุด และมีขนาดพื้นที่ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของพื้นที่โฆษณา
ทั้งนี้ ข้อความคำเตือนแบบตัวอักษรให้ขอรับต้นแบบจากสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ความเห็นต่อการกำหนดให้ต้นแบบข้อความคำเตือนแบบตัวอักษร ได้แก่ แบบที่ 1 สุราเป็นเหตุก่อมะเร็ง แบบที่ 2 สุราเป็นเหตุให้สมองเสื่อมได้ แบบที่ 3 สุราเป็นเหตุให้พิการได้
ทั้งนี้ หากเป็นข้อความคำเตือนของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทเบียร์ หรือไวน์ ให้เปลี่ยนคำว่า “สุรา” เป็นคำว่า “เบียร์” หรือ “ไวน์” แล้วแต่กรณี
หากเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทอื่น หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผสมสำเร็จรูป ให้ใช้คำว่า “สุรา”
กรณี พนักงานเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปในสถานที่ทำการของผู้ผลิต นำเข้า หรือขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สถานที่ผลิต นำเข้า หรือขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สถานที่เก็บเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในเวลาทำการของสถานที่นั้น รวมถึงเข้าตรวจสอบยานพาหนะเพื่อตรวจสอบการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
ยึดหรืออายัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้ขายที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ มีหนังสือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งเอกสารหรือวัตถุใดมาเพื่อประกอบการพิจารณา
มีความเห็นต่อบทกำหนดโทษ จำนวน 11 ข้อ เช่น กรณีไม่จัดให้มีบรรจุภัณฑ์ ฉลาก และข้อความคำเตือนของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามที่กฎหมายกำหนด โดยให้ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับผู้ที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณที่ห้ามขาย หรือขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกเหนือจากวันหรือเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยให้ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับผู้ที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ หรือบุคคลที่มีอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้ หรือโดยขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการใช้เครื่องขายอัตโนมัติ โดยให้ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับผู้ที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะที่ต้องห้ามตามกฎหมาย โดยให้ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือไม่ อย่างไร (มาตรา 41)
สำหรับผู้ที่บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณที่ห้ามบริโภค โดยให้ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับผู้ที่โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮฮล์ หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม โดยให้ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท
หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับอีกวันละไม่เกิน 50,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
สำหรับผู้ที่ต่อสู้หรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ กรณีเข้าไปในสถานที่ทำการของผู้ผลิต นำเข้า หรือขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในเวลาทำการ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับผู้ที่ไม่ยอมมาให้ถ้อยคำหรือไม่ยอมให้ถ้อยคำโดยไม่มีเหตุอันสมควรต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
สำหรับผู้ที่ไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
โทษมีความเหมาะสมและได้สัดส่วนกับการกระทำความผิดแล้วหรือไม่ อย่างไร
การกำหนดให้บรรดาความผิดเปรียบเทียบปรับได้ เมื่อผู้กระทำความผิดได้เสียค่าปรับตามที่เปรียบเทียบแล้วให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นต้น