อดีตผู้สมัคร ปชป. ยก 6 ข้อบังคับพรรค เตือน กก.บห.และ สส. คิดให้ถี่ถ้วน ก่อนลงมติร่วม รบ. เพื่อไทย ขู่เจอข้อหาขัดข้อบังคับฯที่ 26-27 ปมมาตรฐานจริยธรรม ไม่ทำตามอุดมการณ์พรรค
วันนี้ (28 ส.ค.) นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตผู้สมัคร สส.กทม. เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยส่งเทียบเชิญพรรค ปชป.อย่างเป็นทางการเพื่อเข้าร่วมรัฐบาล ว่า สุดท้ายแล้วต้องรอมติจากกรรมการบริหาร (กก.บห.) ว่า จะตอบรับคำเชิญหรือไม่ ตนในฐานะนักกฎหมายและสมาชิกพรรค เห็นว่า ประเด็นนี้ หากมีมติเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย น่าจะเป็นมติที่ขัดกับข้อบังคับพรรค ปชป.เสียเอง ด้วยเหตุผลดังนี้
1. ข้อบังคับพรรค ปชป. พ.ศ. 2567 หมวด 7 ว่าด้วยมาตรฐานทางจริยธรรมของ กก.บห.พรรคและสมาชิก ข้อ 26 กำหนดว่า กก.บห.และสมาชิกต้องมีอุดมการณ์ในการทํางานด้วยความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์สุจริต และเสียสละ โดยยึดถือและปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสําคัญ ไม่วางตนอยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเงิน ผลประโยชน์หรือข้อต่อรองใดๆ เพื่อบุคคลหรือองค์กรใด
2. นายกรัฐมนตรี แพทองธาร มีประเด็นถูกร้องเรียนจริยธรรมเรื่องที่เคยถือหุ้นอัลไพน์ ที่ดินธรณีสงฆ์ และเรื่องข้อสอบเอนทรานส์ 3. คุณทักษิณ ซึ่งแสดงออกชัดเจนว่า เป็นเจ้าของพรรคเพื่อไทย มีประเด็นเรื่องปกปิดอาการป่วย ไม่ยอมเข้าเรือนจำ แต่งชุดขาวโดยไม่มีสิทธิ เป็นผู้ต้องหาคดี 112 และถูกร้องเรียนเรื่องการครอบงําพรรคการเมือง ซึ่งตนไม่ได้เป็นสมาชิกอันเป็นความผิดตาม พรป. พรรคการเมือง
4. คําวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า การที่ นายกฯ เศรษฐา แต่งตั้งคุณพิชิต ที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ไปเป็นรัฐมนตรี จึงถือว่าคุณเศรษฐาก็เป็นคนที่ “ไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” ไปด้วย โดยคำวินิจฉัยนี้ มีผลผูกพันทุกองค์กร 5. ดังนั้น หาก กก.บห.ของพรรค ปชป. มีมติให้พรรคเข้าร่วมกับรัฐบาลที่นําโดยบุคคลที่มีข้อสงสัยเรื่อง ความซื่อสัตย์สุจริต จะถือว่า กก.บห. พรรค ปชป.ได้ดําเนินกิจกรรมพรรคด้วยอุดมการณ์ “ซื่อสัตย์สุจริต” ตามข้อ 26 ของข้อบังคับหรือไม่ ?
และ 6. ข้อบังคับพรรค ปชป. ข้อ 27 วรรคท้าย ยังกำหนดอีกว่า ให้นํามาตรฐานทางจริยธรรมที่ใช้บังคับแก่ สส. มาบังคับใช้กับ กก.บห.พรรคโดยอนุโลม ซึ่งกำหนดห้ามคบหาสมาคมกับคู่กรณี ผู้ประพฤติผิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพล หรือผู้มีความประพฤติ หรือผู้มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย อันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่ อีกด้วย
“ดังนั้น การร่วมรัฐบาลที่นำโดยบุคคลซึ่งมีข้อสงสัยเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต จะถือว่าขัดกับหลักข้อนี้หรือไม่ ผมจึงขอฝากให้ กก.บห.พรรค ปชป.ทุกท่าน นำไปพิจารณาให้ถ้วนถี่ ก่อนมีมติใดๆ ด้วยความปรารถนาดี” นายประพฤติ ระบุทิ้งท้ายให้คิด