xs
xsm
sm
md
lg

ผ่า 4 ทางเลือก จ่อขึ้นเงินเดือนฝ่ายการเมืองท้องถิ่น "ผู้บริหาร ส.อบจ.-สท." ทุกระดับ ก่อนเลือกตั้งปลายปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผ่า 4 ทางเลือก ขึ้นเงินเดือนฝ่ายการเมืองท้องถิ่น รอบใหม่ หลัง "ที่ปรึกษาระบบราชการ มท." เวียนสอบถามทางเลือกแรก "เพิ่มตามเกณฑ์รายได้" มีเพียง 86 อปท. ที่จัดเก็บภาษีมากกว่า 500 ล้านขึ้นไป แต่ผู้บริหารไม่ได้ประโยชน์ คาดต้นทุน 79 ล้าน/ปี ส่วน "เพิ่มตามเงินเฟ้อ" ต้นทุนกว่า 1.5 พันล้าน/ปี อาจกระทบการพัฒนาช่วยประชาชน ข้อเสนอ "ปรับตามค่าตอบแทนปัจจุบัน" ใช้ต้นทุนปีละ 1.4 พันล้าน ฝ่ายการเมืองได้ขวัญกำลังใจ แต่ ทต.-ทม. กว่า 300 แห่ง หลังเลือกตั้งครั้งต่อไป ค่าตอบแทนหด สุดท้าย "ปรับเพิ่มตามผลงาน" ฝันผู้บริหาร มีส่วนร่วมท้องถิ่นเพิ่ม แต่รายจ่ายในอนาคตจ่อทวีคูณ คาดใช้ต้นทุน 740 ล้าน/ปี

วันนี้ (27 ส.ค.67) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้าต่อแนวคิดของฝ่ายบริหารกระทรวงมหาดไทยในหลายยุค ที่มีข้อเสนอให้ปรับเพิ่มอัตราเงินเดือน และค่าตอบแทนของผู้บริหาร และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และเทศบาล ทุกระดับ

ภายหลังกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) เวียนหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศให้ตอบแบบสอบถามการสำรวจความคิดเห็นการปรับเพิ่มอัตราเงินเดือน และค่าตอบแทนดังกล่าว

ซึ่่่งแบบสำรวจความคิดเห็นดังกล่าว ดำเนินการโดย สถาบันการศึกษาชื่อดัง ที่ได้รับเลือกให้เป็นที่ปรึกษาเพื่อการพัฒนาประสิทธิภาพระบบราชการ (สปร.) ในการวิเคราะห์การปรับเพิ่มอัตราเงินเดือน และค่าตอบแทน

ล่าสุด พบว่า คณะที่ปรึกษาฯ ได้เสนอ 4 ทางเลือก ประกอบด้วย ทางเลือกที่ 1 ปรับเพิ่มตามเกณฑ์รายได้โดยขยายเพดานขั้นสูง: เป็นการปรับเพิ่มค่าตอบแทนตามเป้าหมายรายได้ให้ท้าทายขึ้น โดยไม่ปรับบัญชีเงินเดือนปัจจุบัน

ที่ปรึกษา ระบุว่า โดยทางเลือกนี้ มีผลดี คือจะส่งเสริมการเพิ่มรายได้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อนำมาพัฒนาพื้นที่ แถมยังมีต้นทุนเพิ่มเฉพาะกับ อบจ. และเทศบาล ที่มีการเก็บรายได้ มากกว่า 500 ล้านบาทขึ้นไป (จำนวน 86 หน่วยงาน)

แต่จะส่งผลกระทบต่อ อบต. น้อยมาก (เพียง 3 หน่วยงานที่มีรายได้มากกว่า 500 ล้านบาท) รวมถึงการปรับเงินเดือน สะท้อนค่างาน และถูกต้องตามหลักวิชาการ

ผลเสีย/ผลกระทบ พบว่า ค่าตอบแทนของผู้บริหารอบจ. และเทศบาลส่วนใหญ่ (98%) ไม่มีการเปลี่ยนแปลง จึงอาจจะเสียขวัญกำลังใจ

อย่างไรก็ตาม พบว่า มีประโยชน์ โดยจะประหยัดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรของอบจ. และเทศบาลมากที่สุด โดยใช้ต้นทุน 79,062,240/ปี

ขณะที่ ทางเลือกที่ 2 ปรับเพิ่มตามอัตราเงินเฟ้อ: เป็นการปรับค่าตอบแทนปัจจุบัน ตามสภาพเงินเฟ้อ และการลดอันตรภาคชั้นลง

ที่ปรึกษา ระบุว่า โดยทางเลือกนี้ มีผลดี คือ สะท้อนการเปลี่ยนแปลง ค่าครองชีพตามอัตราเงินเฟ้อ และง่ายต่อการบริหารจัดการเนื่องจากไม่ได้แบ่งรายได้เป็นหลายระดับ

ผลเสีย/ผลกระทบ พบว่า จะมีต้นทุนสูงมาก เนื่องจากปรับเงินเดือนผู้บริหารทุกรายตามสภาพเงินเฟ้อ และมีผู้บริหารบางรายได้ปรับเพิ่มขึ้นอีกจากผลการลดอันตรภาคชั้นลง

ซึ่งต้นทุนที่สูงนี้จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาพื้นที่และให้ประโยชน์แก่ประชาชน จะทำให้ อบต. อาจมีการเรียกร้องให้ปรับค่าตอบแทนผู้บริหารอบต. ทุกรายเช่นกัน อันจะส่งผลต่อค่าใช้จ่ายโดยรวมของประเทศ ซึ่งถือว่า ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมรายได้เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม พบว่า มีประโยชน์ โดยจะสร้างขวัญกำลังใจของผู้บริหาร อบจ.และเทศบาล โดยใช้ต้นทุน 1,511,707,200 บาท/ปี

ทางเลือกที่ 3 ปรับค่าตอบแทนปัจจุบัน ตามสภาพเงินเฟ้อ และเปลี่ยนรูปแบบเป็นตามประเภทเทศบาล ทางเลือกนี้จะเป็นบัญชีเงินเดือนปัจจุบันทั้งหมดของ อบจ. และเทศบาล และจูงใจให้ อบต. ปรับเป็นเทศบาล

ที่ปรึกษา ระบุว่า โดยทางเลือกนี้ มีผลดี คือ สะท้อนการเปลี่ยนแปลงค่าครองชีพตามอัตราเงินเฟ้อ รวมถึงเป็นการ ส่งเสริมให้ อบต. ปรับเป็น เทศบาลตำบล มากขึ้น

ผลเสีย/ผลกระทบ พบว่า จะมีต้นทุนสูงมาก เพราะไม่ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงเทศบาลตำบล จำนวน 269 หน่วยงาน และเทศบาลเมืองจำนวน 17 หน่วยงานที่ ได้รับค่าตอบแทนน้อยลง (หลังการเลือกตั้งครั้งต่อไป)

แม้จะมีเทศบาล ตำบลจำนวน 862 หน่วยงาน เทศบาลเมืองจำนวน 69 หน่วยงาน และเทศบาลนครจำนวน 3 หน่วยงานได้ประโยชน์

อย่างไรก็ตาม พบว่า มีประโยชน์ โดยจะสร้างขวัญกำลังใจของฝ่ายการเมือง โดยใช้ต้นทุน 1,421,118,720 บาท/ปี

ทางเลือกที่ 4 ปรับเพิ่มตามผลงาน (อัตราเงินเดือนพื้นฐาน + เงินเพิ่มตามผลงาน) โดยปรับให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเงินเดือนของฝ่าย การเมือง อบต. และลดอันตรภาคชั้นลง รวมถึงเสริมแรงจูงใจ ด้วยการเพิ่มตัวชี้วัดที่ท้าทาย และสะท้อนประสิทธิภาพ

เป็นการปรับทางเลือกที่ 1-2 เข้าด้วยกัน โดยนำแนวทางของ กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน มาใช้ในการเสริมแรงจูงใจ ผ่านการประเมินประสิทธิภาพ อปท.

ที่ปรึกษา ระบุว่า โดยทางเลือกนี้ มีผลดี คือ การผสมผสานข้อดีของทางเลือกที่ 1-2 และปรับตัวเลข ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยการปรับเงินเดือน อบต.

ยังเป็นการส่งเสริมการเพิ่มรายได้ให้กับ อปท. เพื่อนำมาพัฒนาพื้นที่ (แม้จะไม่มากเท่าทางเลือกที่ 1) พบว่า ผลกระทบต่อ อบต. น้อยมาก หากนำไปปรับใช้ (เพียง 3 หน่วยงานที่มีรายได้มากกว่า 500 ล้านบาท)

ขณะที่ส่งเสริมให้ผู้บริหาร อบจ. และเทศบาล เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนองค์กรมากขึ้น เนื่องจากมีแรงจูงใจ

ผลเสีย/ผลกระทบ พบว่า จะเกิดรายจ่ายจากผลการลดอันตรภาคชั้น (1,121 หน่วยงาน) และจะมีรายจ่ายในอนาคตเพิ่มขึ้น

จากการเพิ่มเงินเดือนของผู้บริหาร อปท. ที่สามารถบริหารจัดการให้ อปท. ที่กำกับบรรลุประสิทธิภาพ ตามแนวทางการพัฒนามิติการบริหารจัดการต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม พบว่า มีประโยชน์ ด้วยการสร้างขวัญกำลังใจของผู้บริหาร อบจ. และเทศบาล

ยังเป็นการเกิดการพัฒนา อปท.ในมิติการบริหารจัดการการบริหารงานบุคคลการเงินการคลัง การบริการ สาธารณะ และธรรมาภิบาล รวมถึงการเป็น HPA (การประเมินอปท.ที่มีศักยภาพสูง) โดยใช้ต้นทุน 740,857,200บาท/ปี.


กำลังโหลดความคิดเห็น