ถึงคิว! เพิ่มเงินเดือน-ค่าตอบแทน ฝ่ายการเมือง “อบจ.-เทศบาล” ทุกระดับ หลังที่ปรึกษาระบบราชการมหาดไทย ส่งแบบสำรวจขอความคิดเห็น 4 ทางเลือก ตามหลักการปรับเพิ่มแบบใหม่ ก่อนเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศ ทั้งจากผู้ว่าฯ-นายอำเภอ ในฐานะผู้กำกับดูแล อบจ. เทศบาล ความเห็นจาก คณะผู้บริหาร / ส.อบจ. และผู้บริหาร-สท. ชุดปัจจุบัน รวมถึง ขรก.ท้องถิ่น/ลูกจ้าง/พนง.อปท. ร่วม ขรก.ส่วนกลาง/ภูมิภาค พบ 4 ทางเลือกแบบใหม่เน้นเพิ่มค่าตอบแทนจากผลงานจัดเก็บรายได้ ผลงานในพื้นที่รับผิดชอบ ตามภาระตำแหน่ง รวมถึงปรับตามอัตราเงินเฟ้อ และปรับตามบัญชีเงินเดือนปัจจุบัน
วันนี้ (26 ส.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้าต่อแนวคิดของฝ่ายบริหารกระทรวงมหาดไทยในหลายยุค ที่มีข้อเสนอให้ปรับเพิ่มอัตราเงินเดือน และค่าตอบแทนของผู้บริหาร และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และเทศบาล ทุกระดับ
ล่าสุด เมื่อต้นสัปดาห์ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) เวียนหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหาร อปท. ที่ยังทำหน้าที่อยู่ ภายหลังได้ออกแบบสำรวจความคิดเห็นการปรับเพิ่มอัตราเงินเดือน และค่าตอบแทนดังกล่าว ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตอบ
ซึ่่่งแบบสำรวจความคิดเห็นดังกล่าว ดำเนินการโดย สถาบันการศึกษาชื่อดัง ที่ได้รับเลือกให้เป็นที่ปรึกษาเพื่อการพัฒนาประสิทธิภาพระบบราชการ (สปร.) ในการวิเคราะห์การปรับเพิ่มอัตราเงินเดือน และค่าตอบแทน
ซึ่งข้อมูลโดยสรุป เป็นทางเลือกเงินค่าตอบแทนฝ่ายการเมือง สภา อบจ. และสภาเทศบาล อย่างละเอียด เพื่อให้ตอบคำถาม โดยแบบสอบถามความคิดเห็น แบ่งเป็น 3 ส่วน ทั้งข้อมูลส่วนบุคคล ความคิดเห็นและหลักการปรับเพิ่มอัตราเงินเดือน และค่าตอบแทน และข้อเสนอแนะอื่นๆ
มีการสอบถามผู้ที่จะตอบคำถามด้วยว่า ดำรงตำแหน่ง หรือมีสถานะใดเกี่ยวข้องกับ อบจ.หรือเทศบาลหรือไม่ อย่างไร เป็นผู้กำกับดูแล อบจ. หรือเทศบาล (ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอำเภอ) เป็นคณะผู้บริหาร อบจ./สมาชิกสภา อบจ.
เป็นคณะผู้บริหารเทศบาล/สมาชิกสภาเทศบาล เป็นคณะผู้บริหาร อบต./สมาชิกสภา อบต. เป็นข้าราชการส่วนท่องถิ่น/ลูกจ้าง/พนักงานจ้างของ อปท. เป็นข้าราชการส่วนกลาง/ส่วนภูมิภาค หรือ เป็นประชาชนโดยทั่วไป
สำหรับหลักการ ในข้อมูลข้อเสนอ ซึ่งที่ปรึกษาฯร่างขึ้น เป็น แนวทางการปรับเพิ่ม และร่างบัญชีเงินเดือน และค่าตอบแทนผู้บริหารและสมาชิกฯ ให้มีความสอดคล้องกับบทบาทอำนาจหน้าที่และสภาวการณ์ในปัจจุบัน
ได้กำหนด หลักการในการกำหนดบัญชีเงินเดือนและค่าตอบแทนของผู้บริหารและสมาชิกสภา ดังนี้
(1) เน้นการบริหารค่าตอบแทนที่ส่งเสริมประสิทธิภาพ ทั้งเชิงรายได้ และการดำเนินงานในพื้นที่รับผิดชอบ
(2) กำหนดค่าตอบแทนให้สอดคล้องกับลักษณะและภาระงานของตำแหน่ง โดยเปรียบเทียบกับตำแหน่งงานทางการเมืองของระดับประเทศ กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และ อปท.ประเภทต่างๆ
(3) ไม่ทำให้ได้ค่าตอบแทนน้อยลง (Grandfathering Polity) ในขณะที่ไม่ส่งผลกระทบต่อภาระงบประมาณรายจ่ายจำนวนมาก เพราะควรนำไปพัฒนาพื้นที่ และบำบัดทุกข์บำรุงสุข มากกว่าจ่ายเป็นค่าตอบแทนผู้ที่อาสามาพัฒนาพื้นที่
จากผลการประเมินค่างานและการเปรียบเทียบกับฝ่ายการเมืองในระดับประเทศ กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา และตำแหน่งอื่นๆ จึงได้ข้อเสนอทางเลือก จำนวน 4 ทางเลือก ดังนี้
ทางเลือกที่ 1 ปรับเพิ่มตามเกณฑ์รายได้โดยขยายเพดานขั้นสูง: เป็นการปรับเพิ่มค่าตอบแทนตามเป้าหมายรายได้ให้ท้าทายขึ้น โดยไม่ปรับบัญชีเงินเดือนปัจจุบัน
กระบวนการนี้จะส่งผลให้ต้นทุน เพิ่มขึ้นไม่มาก และส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีโดยแบ่งอันตรภาคชั้นตามค่างานที่ท้าทายขึ้น (รวมถึงตัดรายได้ที่ต่ำกว่า 10 ล้านบาทลงเนื่องจากไม่มีหน่วยงานนี้แล้วในปัจจุบัน)
และกำหนดอัตราเงินเดือนตามสมการความสัมพันธ์ระหว่างค่างานและเงินค่าตอบแทนรวมตามหลักการวิชาการ
ทางเลือกที่ 2 ปรับเพิ่มตามอัตราเงินเฟ้อ: เป็นการปรับค่าตอบแทนปัจจุบัน ตามสภาพเงินเฟ้อ และการลดอันตรภาคชั้นลง
ทางเลือกนี้จะเป็นบัญชีเงินเดือนปัจจุบันทั้งหมดของ อบจ. และเทศบาล เพื่อให้แตกต่างจาก อบต. โดยลดอันตรภาคชั้นเดิมลง จากการหาอัตรารายได้ปัจจุบัน
คือ ค่าเฉลี่ย ของรายได้ของเทศบาล ในปี 2566 อยู่ที่ 54.62 ล้านบาท (ประมาณ 50 ล้าน) และ Percentile ที่ 95 อยู่ 174.1 ล้านบาท (ประมาณ 200 ล้านบาท) จึงกำหนดช่วงชั้นรายได้ตามข้อมูลจริงดังกล่าว
ทางเลือกที่ 3 ปรับค่าตอบแทนปัจจุบัน ตามสภาพเงินเฟ้อ และเปลี่ยนรูปแบบเป็นตามประเภทเทศบาล ทางเลือกนี้จะเป็นบัญชีเงินเดือนปัจจุบันทั้งหมดของ อบจ. และเทศบาล และจูงใจให้ อบต. ปรับเป็นเทศบาล
ทางเลือกที่ 4 ปรับเพิ่มตามผลงาน (อัตราเงินเดือนพื้นฐาน + เงินเพิ่มตามผลงาน) โดยปรับให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเงินเดือนของฝ่าย การเมือง อบต. และลดอันตรภาคชั้นลง รวมถึงเสริมแรงจูงใจ ด้วยการเพิ่มตัวชี้วัดที่ท้าทาย และสะท้อนประสิทธิภาพ
ทางเลือกนี้จะเป็นการปรับทางเลือกที่ 1-2 เข้าด้วยกัน โดยนำแนวทางของ กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน มาใช้ในการเสริมแรงจูงใจ ผ่านการประเมินประสิทธิภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ตามหลักเกณฑ์การประเมินที่ ก.อบจ. หรือ ก.เทศบาลกำหนด (มีข้อเสนอ 2 แนวทางในหน้าถัด ๆ ไป) เพื่อให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนองค์กร โดยกำหนดให้มีการขึ้นเงินเดือนไม่เกิน 6%
นอกจากนั้น ทางเลือกนี้ ยังมีการปรับตามการเปลี่ยนแปลงของเงินเดือนฝ่ายการเมือง อบต. ที่มีค่าเฉลี่ยปรับทุกระดับประมาณ 19.94% ดังนั้น จึงมีการปรับ
จุดสูงสุดของอันตรภาคชั้นใหม่ ให้ใกล้เคียงกับการปรับดังกล่าว ทั้งนี้ การปรับดังกล่าวจะไม่ได้เกิดขึ้นทันที แต่จะเป็นไปตามผลงานของฝ่ายการเมือง ตามหลักเกณฑ์ที่ ก.อบจ. หรือ ก. เทศบาลกำหนด
ทั้งนี้ ปลายปี 2567 ถึงต้นปี 2568 จะมีการเลือกตั้งท้องถิ่น ระดับ อบจ. และเทศบาลทุกระดับ ที่หมดวาระ.