xs
xsm
sm
md
lg

จับโป๊ะ วิชัน “ทักษิณ” แก้หนี้ประชาชน ลอกนโยบาย “ธีระชัย-อุตตม”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ธีระชัย” เผย วิชันแก้ปัญหาหนี้ของ “ทักษิณ” ตรงกับข้อเสนอของทีมเศรษฐกิจพรรคพลังประชารัฐ ที่เคยแถลงเมื่อ 24 มี.ค. 67 โดยให้ธนาคารพาณิชย์ลดส่งเงินเข้ากองทุน FIDF ลงครึ่งหนึ่งชั่วคราว 5 ปี แล้วนำเงินไปลดยอดหนี้ให้ลูกหนี้ พร้อมชะลอการยึดหลักประกันลูกหนี้ แต่น่าเสียดาย รมว.คลัง ไม่สนใจ ปล่อยให้การแก้ปัญหานี้ติดขัด

วันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” แสดงความเห็นกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ในงาน Dinner Talk Vision for Thailand 2024 ที่พารากอนฮอลล์ เมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา ในประเด็นการแก้หนี้ครัวเรือน โดยมีรายละเอียดข้อความที่โพสต์ดังนี้

ข้อเสนอคุณทักษิณแก้หนี้ครัวเรือน

รูป 1 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2567 ทีมเศรษฐกิจพรรคพลังประชารัฐมีข้อเสนอ เกี่ยวกับปัญหาหนี้ครัวเรือน และเอสเอ็มอี ที่รัฐบาลควรเร่งแก้ไข แถลงข่าวร่วมกันโดย 2 อดีต รมว.คลัง ผมกับ ดร.อุตตม


รูป 2 ข้อเสนอของเราดีมาก
ครอบคลุม: เข้าถึงประชาชนในพื้นที่ทั่วประเทศทุกอาชีพ บริการเสมอภาคเป็นธรรม
ครบวงจร: ไม่ซ้ำซ้อน เน้นดำเนินการเชื่อมโยง การแก้หนี้ที่มีปัญหา การเติมทุน การเติมทักษะ


ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี: ใช้เทคโนโลยี เช่น ดิจิทัล/Al รวบรวมข้อมูล สร้างฐานข้อมูลสมบูรณ์แบบ เช่น แยกจัดประเภทหนี้ด้วยวัตถุประสงค์การก่อหนี้และการใช้เงินกู้ได้ชัดเจน นำข้อมูลมาใช้งานในมิติต่างๆ เช่น การพัฒนาคน การสร้างชุมชน/สังคมเข้มแข็ง

ข้อเสนอดังกล่าว นอกจากจะเป็นการเตรียมรับมือวิกฤตในอนาคต ยังเป็นการเตรียมรับมือสังคมสูงวัย การพัฒนาระบบการเงิน/กำกับดูแลสถาบันการเงินอีกด้วย

ขับเคลื่อนขบวนการต่อเนื่อง: กำหนดมูลค่าหนี้เป้าหมายให้ความช่วยเหลือให้ชัดเจน อันเป็นการสร้างตัวชี้วัดเพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์และรายงานความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องพร้อมจัดงบประมาณพอเพียง




รูป 3-4 เสาหลักข้อเสนอของเราคือ

1. ให้รัฐมนตรีคลังกำหนดเป็นนโยบายให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประหยัดเงินที่เก็บเข้ากองทุนพื้นฟูฯ (FIDF) ให้แก่ธนาคาร โดยลดลงครึ่งหนึ่ง เหลือ 0.23% ต่อ 6 เดือน เป็นการชั่วคราว 5 ปี

2. ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการจะต้องนำเงินที่ประหยัดนี้ เอาไปลดยอดหนี้ (haircut) สำหรับลูกหนี้ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/เดือน และธนาคารจะต้องนำกำไรสะสมของธนาคารมาร่วมด้วยไม่น้อยกว่า 25% ของหนี้ที่ลดให้แก่ลูกหนี้ อันเป็นการร่วมมือกันแก้ปัญหาระหว่างรัฐกับเอกชน

3. สำหรับลูกหนี้ที่ธนาคารฟ้องคดีเสร็จสิ้นแล้ว กำลังจะถูกบังคับคดียึดบ้าน ยึดหลักประกัน และอาจถูกฟ้องล้มละลายนั้น ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการต้องยอมสละสิทธิในการฟ้องล้มละลาย ต้องยอมชะลอการยึดหลักประกัน และต้องลดราคาขายประกันเพื่อให้ลูกหนี้มีโอกาสมาซื้อหลักประกันคืน ตามหลักเกณฑ์ที่สมาคมรนาคารไทยจะกำหนดร่วมกับ ธปท.

ทั้งนี้ เฉพาะสำหรับลูกหนี้ที่มียอดหนี้ไม่เกิน 3 ล้านบาท

น่าเสียดายตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2567 มาจนถึงปัจจุบัน ผู้ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไม่ได้ให้ความใส่ใจในข้อเสนอนี้เลย กลับปล่อยให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนติดขัดต่อไปเรื่อยๆ

รูป 5 ผมเพิ่งทราบว่า ในคำกล่าวของคุณทักษิณเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 คุณทักษิณเสนอแนวคิดให้ลดอัตราที่แบงก์พาณิชย์นำส่ง FIDF ลงครึ่งหนึ่ง


เหมือนดังที่ทีมเศรษฐกิจพรรคพลังประชารัฐเคยเสนอไว้ 5 เดือนก่อนหน้า
แต่ท่านกล่าวว่า ไปฟังแนวคิดนี้มาจากนายธนาคารคนหนึ่ง

รูป 6 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2567 นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เสนอแนะให้ ธปท.ปรับลดเงินนำส่งของสถาบันการเงินที่ให้มาใช้หนี้คืนกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน (FIDF) ที่ปัจจุบันเก็บอยู่ 0.47% ลดลงมาให้เหลือ 0.23% เพื่อนำมาแก้หนี้และลดหนี้คนไทยในปัจจุบันว่า “ยังเร็วเกินไปที่จะให้ความเห็นในเรื่องนี้”


รูป 7 น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. ระบุว่า ปัจจุบันเงินนำส่งที่เก็บจากสถาบันการเงินอยู่ที่ 0.47% ต่อปี โดยแบ่งเป็นส่งให้สถาบันคุ้มครองเงินฝาก 0.1% ต่อปี และเพื่อใช้หนี้คืน FIDF 0.46% ต่อปี ซึ่งในส่วนนี้จะได้ประมาณ 70,000 ล้านบาทต่อปี แบ่งเป็นปีละสองงวด หรืองวดละ 35,000 ล้านบาท


โดยปัจจุบัน FIDF ยังมีหนี้ที่ต้องใช้คืนราว 580,000 ล้านบาท มีดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายปีละ 16,000 ล้านบาท และคาดว่า ในสิ้นเดือน ก.ย. 2567 ซึ่งจะมีการชำระหนี้อีกงวด จะทำให้หนี้ลดลงเหลือราว 5.5 แสนล้านบาท

“เงินนำส่ง 0.46% ต่อปี ไม่ใช่ ธปท.อมไว้หรือเก็บไว้แต่อย่างใด แต่เป็นการนำไปชำระหนี้กองทุน FIDF โดยหากให้ลดเงินนำส่งเหลือ 0.23% ตามข้อเสนอ จะทำให้เงินสำหรับนำไปชำระดอกเบี้ยลดลงไป 5,000 ล้านบาท และจะเกิดต้นทุน ทำให้เงินต้นลดลงช้าไปอีกครึ่งปี หากให้ลดเงินนำส่งเหลือ 0.23% เป็นระยะเวลา 1 ปี” น.ส.สุวรรณี ระบุ

ผมขอเรียนว่า แนวคิดของคุณทักษิณ ซึ่งตรงกับข้อเสนอของทีมเศรษฐกิจพรรคพลังประชารัฐนั้น ถูกต้องตามหลักวิชาการและเป็นอำนาจสิทธิขาดโดยตรงของรัฐบาล

เพื่อความชัดเจน ขออธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่า
- ในสมัยที่ผมเป็นรัฐมนตรีคลัง ยอดหนี้ดังกล่าวมีอยู่ 1.1 ล้านล้านบาท และกระทรวงการคลังมีภาระต้องใช้งบประมาณชำระดอกเบี้ยแต่ละปีประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท

- สำหรับการชำระคืนเงินต้น ก่อนหน้านั้น กำหนดให้เอาจากกำไรของธนาคารแห่งประเทศไทย

- แต่ถึงแม้เวลาผ่านไปหลังจากวิกฤตต้มยำกุ้งนานถึง 15 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ไม่เคยมีกำไรที่จะเอามาชำระหนี้ได้เลย

- ผมเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่จะยุติภาระที่กระทรวงการคลังจะต้องชำระดอกเบี้ยแต่ละปี เพื่อเอาเงินค่าดอกเบี้ยปีละ 4-5 หมื่นล้านบาทดังกล่าว ไปใช้พัฒนาประเทศแทน

- และถึงเวลาแล้ว ที่จะต้องให้มีการลดภาระหนี้สาธารณะดังกล่าวลง โดยไม่ต้องรอเงินจากธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะคาดได้ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยจะไม่สามารถทำกำไรได้มากนัก

- ผมจึงเสนอต่อท่านนายกยิ่งลักษณ์ ให้บังคับให้สถาบันการเงินทั้งระบบเป็นผู้รับผิดชอบหนี้ดังกล่าว ทั้งการจ่ายดอกเบี้ยแต่ละปีแทนกระทรวงการคลัง

- และการชำระคืนเงินต้นแทนธนาคารแห่งประเทศไทย โดยให้สถาบันการเงินจ่ายในอัตรา 0.47% ต่อปี
(มีคนสงสัยว่า สถาบันการเงินเอางบจากไหนมาจ่าย 0.47% ต่อปีดังกล่าว ตอบว่า เอามาจากกำไรแต่ละปีของสถาบันการเงินทั้งระบบ)

- มาตรการนี้ได้ผลยอดเยี่ยม

- ภายหลังจากนั้นทุกปี กระทรวงการคลังไม่ต้องควักกระเป๋าเอางบประมาณไปจ่ายดอกเบี้ยอีกเลย

- ส่วนการชำระคืนเงินต้นแทนธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น ก็คืบหน้าเป็นอย่างดี ยอดหนี้ในวันเริ่มมาตรการนี้มีอยู่ 1.1 ล้านล้านบาท ปัจจุบันชำระคืนเงินต้นไปแล้ว เหลือหนี้เงินต้นเพียง 5.8 แสนล้านบาท

- ทั้งนี้ ข้อเสนอของคุณทักษิณ ซึ่งตรงกับของทีมเศรษฐกิจพรรคพลังประชารัฐนั้น จะมีผลเพียงแต่ทำให้การชำระคืนเงินต้นแทนธนาคารแห่งประเทศไทย เกิดขึ้นช้าลงเล็กน้อยเท่านั้น

- ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยก็จะไม่เดือดร้อนอะไร เพราะที่ผ่านมา 15 ปีธนาคารแห่งประเทศไทยก็ไม่ได้ควักกระเป๋าเองอยู่แล้ว

- ภาระหนี้ที่ลดลงไปเหลือ 5.8 แสนล้านบาทก็เกิดขึ้นได้เพราะมาตรการแนวคิดของผมนั่นเอง ผมเป็นคนช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทย

- ส่วนการที่ข้อเสนอนี้ จะทำให้การชำระคืนเงินต้นช้าลงเล็กน้อย ก็ไม่ได้กระทบอะไรต่อธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะหนี้ดังกล่าวยังเป็นหนี้สาธารณะอยู่ในบัญชีของกระทรวงการคลัง

- จึงไม่มีเหตุที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องนอนก่ายหน้าผาก กังวลว่า ผลจากข้อเสนอนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องควักกระเป๋ามาชำระหนี้แทนสถาบันการเงินทางระบบหรือไม่

ผมจึงขอแนะนำให้รัฐมนตรีคลัง และผู้ว่าการแบงก์ชาติ รีบดำเนินการตามข้อเสนอของทีมเศรษฐกิจพรรคพลังประชารัฐ ไม่ควรนิ่งเฉย เพราะทั้งสององค์กรมีหน้าที่ต้องดูแลแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน

วันที่ 25 สิงหาคม 2567
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ


กำลังโหลดความคิดเห็น