"เรืองไกร" ส่งคำร้อง ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบ "แพทองธาร" ร่วมก๊วนครอบครัวไปตีกอล์ฟและพักที่รีสอร์ทเขาใหญ่ของ "เสี่ยหนู" เมื่อ ก.ค.67 ขณะยังเป็นประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ เข้าข่ายเป็นเจ้าพนักงานของรัฐรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่น ผิด ม.128 กฎหมาย ป.ป.ช.
วันนี้ (25 ส.ค. 2567) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า วันนี้ ตนได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ในฐานะที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองประธานกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ , รองประประธานกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ และ ประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ซึ่งควรเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ตามความในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 4 ว่ามีการฝ่าฝืนมาตรา 128 หรือไม่ และตรวจสอบเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ยังเป็นกรรมการทั้ง 3 แห่ง อยู่หรือไม่
นายเรืองไกร กล่าวว่า ข้อเท็จจริงกรณีนี้ มีข่าวปรากฏทั่วไปตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. 2567 แต่ต้องรอให้พ้น 30 วันก่อน รวมทั้งให้เลยกำหนดการยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่มภายในวันที่ 15 ส.ค. 2567 ทั้งนี้เพื่อให้นำเอกสารหรือพยานหลักฐานทางบัญชี และแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม มาตรวจสอบได้
นายเรืองไกร กล่าวว่า ข้อเท็จจริงบางส่วนนำมาจากข่าวของเว็บไซต์มติชน เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2567 หัวข้อ ทักษิณ ยกครอบครัว เที่ยวแรนโชชาญวีร์ รีสอร์ทหรู ของ อนุทิน จับไมค์ร้องเพลงชื่นมื่น และของเว็บไซต์ประชาชาติ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2567 หัวข้อ อนุทิน ลั่น ก๊วนกอล์ฟเขาใหญ่ ไม่มีการเมือง-ไม่ลับๆ ล่อๆ เผย ทักษิณ แต้มเยอะสุด
นายเรืองไกร กล่าวว่า พรป. ป.ป.ช. มาตรา 128 วรรคหนึ่ง ส่วนแรก บัญญัติว่า “ห้ามมิให้เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคํานวณ เป็นเงินได้จากผู้ใด นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย …”
นายเรืองไกร กล่าวว่า บทบัญญัติใน ม. 128 ดังกล่าว ไม่ได้กำหนดจำนวนเงินไว้ ดังนั้น ไม่ว่าจะรับเป็นจำนวนเท่าใด ก็ห้ามมิให้รับ ซึ่งอาจเทียบเคียงได้จากแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2488/2558 ที่ได้วินิจฉัยไว้บางส่วนว่า “เจ้าพนักงานตำรวจรับค่าเบี้ยเลี้ยงในการเดินทาง ค่าอาหารกินอยู่บนเรือวันละ 500 บาทต่อคนต่อวัน เป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานเรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149”
นายเรืองไกร กล่าวว่า ข้อเท็จจริงตามข่าวดังกล่าวซึ่งมีภาพการตีกอล์ฟร่วมกันหลายคน มีทั้งรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่รัฐรายอื่นที่เป็นข้าราชการ ผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งนายสารัชถ์ รัตนาวะดี ด้วย และยังมีการร่วมรับประทานอาหารและร้องเพลง ซึ่งมีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร รวมอยู่ด้วย กรณี จึงมีเหตุอันควรขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบว่า การตีกอล์ฟดังกล่าวเกิดเมื่อวันที่ใด มีการจ่ายค่ากรีนฟี แคดดี้ฟี ค่ารถกอล์ฟ ค่าอาหารและเครื่องดื่ม เป็นจำนวนเท่าใด ใครเป็นผู้จ่าย ทั้งนี้ ควรสอบปากคำบุคคลตามภาพ เช่น นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประกอบด้วย สำหรับการรับประทานอาหารและร้องเพลง ก็ควรตรวจสอบว่า เกิดขึ้นวันที่ใด มีการจ่ายค่าอาหารและเครื่องดื่มเท่าใด ใครจ่าย และยังมีเจ้าพนักงานของรัฐผู้ใด ได้รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด อันเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 128 อีกหรือไม่
นายเรืองไกร กล่าวอีกว่า ตามข้อเท็จจริงในข่าว ที่ระบุว่า แรนโชชาญวีร์ รีสอร์ทหรู ของ อนุทิน นั้น เมื่อไปตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของนายอนุทิน กลับไม่พบข้อมูลของแรนโชชาญวีร์ รีสอร์ทหรู แต่อย่างใด แต่เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเป็นยุติ จึงควรตรวจสอบเพิ่มเติมจากนายอนุทินว่า แรนโชชาญวีร์ รีสอร์ทหรู เป็นของใคร และผู้ที่โพสต์ว่า แรนโชชาญวีร์ รีสอร์ทหรู เป็นของอนุทิน ในสื่อสังคมออนไลน์นั้น จะเข้าข่ายนำข้อมูลเท็จไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ หรือไม่
นายเรืองไกร สรุปว่า จากข้อเท็จจริงตามข่าวที่ปรากฏโดยทั่วไป เมื่อนำมาพิจารณาประกอบกับบทบัญญัติในมาตรา 128 กรณีจึงมีเหตุอันควรขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ซึ่งควรถือเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ตามมาตรา 4 ว่ามีการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดตามข้อเท็จจริงดังกล่าว อันเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 128 หรือไม่ และตรวจสอบเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ยังเป็นกรรมการทั้ง 3 แห่ง อยู่หรือไม่