xs
xsm
sm
md
lg

“ชาญชัย” ฉุน ผู้บริหาร AOT ฆ่าตัดตอนการตรวจสอบโครงการติดป้าย สนบ.หรือไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ชาญชัย” เตรียมการบ้านสอบทุจริตติดป้าย สนบ. ภูเก็ต ให้ว่าที่ รมว.คลัง-คมนาคม คนใหม่ สะสางเรื่องฉาวใน AOT ฉะ ผู้บริหารฆ่าตัดตอนกระบวนการตรวจสอบโครงการติดป้ายหรือไม่ หลังลงนามอนุมัติเอง

เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2567 นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงจากกรณีการตรวจสอบการใช้งบประมาณพร้อมหลักฐานภาพถ่ายในโครงการติดป้าย เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา 28 ก.ค. 2567 ของท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ว่า หลังจากที่ตนเคยเปิดเผยข้อมูลเรื่องนี้ในการจัดสัมมนา “ปลดล็อควิกฤตงบประมาณ” ในโครงการผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯพบประชาชน ทำให้นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ต้องลงมาตรวจสอบด้วยตัวเอง พบว่ามี 3 ประเด็นคือ

1. การตั้งราคากลางเกินความเป็นจริง
2. การจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีเจาะจงที่ไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง พ.ศ.2560
3. บริษัทคู่สัญญาได้เข้าติดตั้งงาน ก่อนการเซ็นสัญญา

นายชาญชัย กล่าวต่อว่า ทอท. รีบดำเนินการตรวจสอบ ชี้มูลความผิดพนักงานรวม 4 คนตามที่เป็นข่าว พร้อมการสั่งลงโทษ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับสั่งย้ายให้มาประจำที่สนามบินสุวรรณภูมิ จากนั้นได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการบอร์ด ทอท. ระบุว่าเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูง และมีการแถลงข่าวต่อมาว่า “โทษถึงขั้นไล่ออก”

นายชาญชัย กล่าวต่อว่า ตนในฐานะที่เป็นผู้นำเสนอข่าวนี้ ตนเห็นด้วยที่ ทอท.เข้มงวด และป้องปรามการทุจริต แต่ต้นเหตุของเรื่องนี้เกิดจากนายกีรติ ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทอท. ที่ได้ลงนามอนุมัติให้ทำโครงการนี้ เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2567 ด้วยวงเงินว่าจ้างบริษัทเอกชนที่มีการนำเสนอรายงานมาจากผู้อำนวยการ การท่าอากาศยานภูเก็ต จำนวนเงินงบประมาณ 11,028,037.38 บาท ซึ่งยอดตรงกับยอดเงินที่สัญญาจ้างให้บริษัทเอกชนเข้ามารับทำงานนี้ ซึ่งราคากลางสูง แต่กลับให้ความเห็นชอบให้ดำเนินการ มีการโอนเงินให้ดำเนินการได้ โดยเป็นอำนาจของนายกีรติเอง


นายชาญชัย กล่าวต่อว่า จึงเกิดคำถามตามมาว่า นายกีรติรู้เห็นเป็นใจกับการดำเนินงานในโครงการนี้ด้วยหรือไม่ ซึ่งต้องตรวจสอบกันต่อไป จากหลักฐานการอนุมัติงานนี้ และในรายงานยังได้ระบุถึงการใช้วงเงินจัดซื้อจัดจ้าง จำนวนดังกล่าว ที่เรียกว่า “เงินโอนถัวจ่าย” ดังนั้นเมื่อ ผอ.การท่าอากาศยานภูเก็ต ลงนามในหนังสือว่าจ้างเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2567 มาถึงนายกีรติ ก็สามารถอธิบายได้ว่าท่าอากาศยานภูเก็ต ได้สืบราคาจ้างให้ดำเนินงานได้ไปแล้ว

“ผมจึงขอถามนายกีรติ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทการท่าอากาศยาน และผอ.การท่าอากาศยานภูเก็ต ว่าท่านทั้งสองรู้เห็นการกระทำความผิดกฎหมาย และก่อให้เกิดความเสียหายต่อองค์กรด้วยหรือไม่ หรือเป็นการฆ่าตัดตอนสั่งลงโทษเอาผิดพนักงาน 4 คน ตามที่ท่านได้ตั้งกรรมการสอบสวน ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ความผิดมาถึงตัวท่านใช่หรือไม่ ในฐานะที่ท่านเป็นผู้บริหาร อำนาจการอนุมัติอยู่ที่ท่าน ถ้าท่านไม่อนุมัติงานนี้ก็ทำไม่ได้ หรือจะเป็นการสร้างภาพว่างานนี้ท่านจัดการตรวจสอบอย่างรวดเร็วเด็ดขาดในการปราบปรามการทุจริตในองค์กรจริง” นายชาญชัย กล่าว

นายชาญชัย เรียกร้องไปยังบอร์ด ทอท. ทั้ง 14 คน โดยมีตัวแทนของกระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม เลือกให้ท่านเข้ามาบริหารงานว่ารู้เรื่องดังกล่าวนี้หรือไม่ ว่ามีผู้บริหารระดับสูง 2 คน ที่อาจมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องกับกรณีนี้หรือไม่ เพราะคนในการท่าฯ ต่างพูดคุยเรื่องนี้หนาหูมากว่า เรื่องเช่นนี้ เกิดขึ้นได้อย่างไร ทั้งสองคนนี้ไม่ได้ผิดด้วย ทั้งที่เป็นผู้อนุมัติงบ ฯให้ดำเนินการ และท่านจะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งนายกีรติเองก็ยอมรับว่าเรื่องนี้มีความผิด

“ยังมีเรื่องฉาวโฉ่เรื่องอื่นอีกมากของการท่าอากาศยาน ที่ผมจะนำมาเปิดเผยต่อสังคมต่อไป แต่ตอนนี้ผมขอดูก่อนว่าใครจะมาเป็น รมว.คลัง และ รมว.คมนาคม ที่จะมาสะสางการทุจริตจากข้อมูลที่ผมจะเปิดเผยเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในสนามบิน ซึ่งเป็นประตูด่านแรกเข้าสู่ประเทศไทยที่มีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท” นายชาญชัย กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น