รมว.กต.ต้อนรับ กมธ.มั่นคงฯ ย้ำผลักดันความร่วมมือเพื่อนบ้าน-พหุภาคีแก้ปัญหายาเสพติด-หลอกลวงออนไลน์ - พร้อมเร่งใช้ระบบ ETA คัดกรอง-ติดตามต่างชาติเข้าไทย
เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้การต้อนรับนายรังสิมันต์ โรม ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎรและคณะ ซึ่งเดินทางมาเข้าพบหารือกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงฯ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง และข้อคิดเห็นในการทำงานและร่วมงานกัน เพื่อปกป้องและส่งเสริมผลประโยชน์ของชาติในประเด็นความมั่นคงต่าง ๆ โดยเฉพาะแนวทางการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งกระทรวงฯ ได้ผลักดันความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านทุกประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการป้องกัน และปราบปรามขบวนการค้ายาเสพติด และการหลอกลวงออนไลน์ ซึ่งเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของประเทศไทย และสร้างผลกระทบอย่างมากต่อประชาชนไทย ควบคู่กับการมีบทบาทแข็งขัน ในการผลักดันความร่วมมือพหุภาคีระหว่างประเทศ ทั้งในระดับอาเซียน และอนุภูมิภาค ซึ่งเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2567 ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong-Lancang Cooperation: MLC) ครั้งที่ 9 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่ประชุมฯ ได้ออกแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามพรมแดน และในวันเดียวกัน ปลัดกระทรวงฯ ได้พบหารืออย่างไม่เป็นทางการ กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา จีน และ สปป.ลาว โดยที่ประชุมเห็นพ้อง ที่จะยกระดับความร่วมมือเรื่องความมั่นคงชายแดน และการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะปัญหายาเสพติด และการหลอกลวงออนไลน์
นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังเร่งผลักดันการใช้ระบบ Electronic Travel Authorization (ETA) ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการคัดกรอง และติดตามการเคลื่อนไหวของบุคคลชาวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทย
ส่วนกรณีการเผยแพร่เอกสารการประชุมของผู้เสนอรายงานพิเศษฯ เรื่องสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมา กระทรวงฯ ได้ดำเนินการภายหลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ตอบกระทู้ถามของ สส.ฝ่ายค้านต่อสภาผู้แทนราษฎร และตามที่ได้รับคำแนะนำของคณะกรรมาธิการฯ โดยเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 นายไพศาล หรูพาณิชย์กิจ รองปลัดการกระทรวงฯ ได้เป็นประธานจัดการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่เห็นพ้องร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางการทำให้มั่นใจว่า ระบบสถาบันการเงินไทยมีกระบวนการดำเนินการตามกรอบกฎหมาย และสอดรับกับมาตรฐานสากล และยังได้ประสานงานกับผู้เสนอรายงานพิเศษฯ เพื่อขอหลักฐานที่ชัดเจนเพิ่มเติมอย่างใกล้ชิด รวมถึงติดตามข้อมูลจากการตั้งกระทู้ถามของ สส.ฝ่ายค้าน และการพิจารณาแนวทางการดำเนินการของประเทศอื่น อันสืบเนื่องจากการเผยแพร่เอกสารฯ ดังกล่าว เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปโดยคำนึงถึงการปกป้องผลประโยชน์ของไทยเป็นสำคัญ
สำหรับสถานการณ์ในเมียนมานั้น กระทรวงฯ ให้ความสำคัญกับการผลักดันให้เกิดสันติภาพ เสถียรภาพ และการพัฒนาในเมียนมา โดยเฉพาะความสงบสุขในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา โดยได้ดำเนินการ 3 ด้านพร้อมกัน ได้แก่ การดำเนินการทางการทูตเชิงรุกในทุกระดับ การสนับสนุนกระบวนการสันติภาพในเมียนมา และการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนเมียนมา ซึ่งไทยได้มีบทบาทที่สร้างสรรค์โดยตลอด ทั้งผ่านช่องทางทวิภาคี และผ่านองค์การระหว่างประเทศ