xs
xsm
sm
md
lg

ฟอร์ม“รัฐบาลอุ๊งอิ๊ง”เละ ส่อลากยาว !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แพทองธาร ชินวัตร - ทักษิณ ชินวัตร
เมืองไทย 360 องศา

แม้ว่าตอนนี้ดูเหมือนว่าการส่งรายชื่อรัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดจะส่งถึงมือ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรีแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ที่ผ่านมา

โดย นพ.พรหมินทร์ เปิดเผยว่า ขณะนี้พรรคร่วมรัฐบาลได้ส่งรายชื่อรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดใหม่มาครบทั้งหมดแล้ว รวมถึงพรรคพลังประชารัฐ หลังจากนี้จะเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจสอบคุณสมบัติ โดยจะส่งรายชื่อทั้งหมดให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในการตรวจสอบ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

“หากมีข้อสงสัยจะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบอีกครั้ง ทุกอย่างจะเป็นไปอย่างรอบคอบ ส่วนการแต่งตั้งรัฐมนตรี ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี ที่จะนำเสนอชื่อเพื่อโปรดเกล้าฯ ต่อไป”

ขณะเดียวกัน พรรคพลังประชารัฐก็ได้ออกแถลงการณ์วันเดียวกันว่าได้ส่งรายชื่อรัฐมนตรีในสัดส่วนของพรรคไปครบทั้งหมดแล้ว โดยทั้งเป็นรายชื่อเดิมที่เคยร่วมอยู่ในรัฐบาลชุดที่แล้ว

“เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2567 หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐได้ส่งรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีของพรรค จำนวน 4 ท่านไปให้นายกรัฐมนตรีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ผ่าน นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี แล้วโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งและบุคคลใดๆ (เป็นบุคคลและตำแหน่งเดิมในสมัยรัฐบาลนายกเศรษฐา ทวีสิน ที่ผ่านมา) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนของทางสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจะได้ดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติตามกระบวนการต่อไป”

ปัจจุบันพรรคพลังประชารัฐ ยังคงมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ จำนวน 40 ท่าน ที่มีเจตนารมณ์ร่วมกันในการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อสนับสนุนนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ในการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์สุขของประเทศชาติ และพี่น้อง ประชาชนต่อไป

สำหรับ 4 รัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ ในรัฐบาลนายเศรษฐา ประกอบด้วย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข และนายอรรถกร ศิริลัทธยากร รมช.เกษตรและสหกรณ์

ดังนั้นขั้นต่อไปที่ถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ การตรวจสอบคุณสมบัติ บรรดารายชื่อว่าที่รัฐมนตรีจากแต่ละพรรค ซึ่งจะต้องเข้มข้นกว่าเดิมหลายเท่า เนื่องจากเกรงว่าจะซ้ำรอยกรณีของ นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรีที่เสนอชื่อรัฐมนตรีที่ขาดคุณสมบัติ จนต้องพ้นจากตำแหน่ง และทำให้รัฐบาลพ้นไปทั้งคณะดังกล่าว

ขณะเดียวกัน ผลจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรมนูญในเรื่อง “มาตรฐานทางจริยธรรม” และความ “ซื่อสัตย์” ที่ระบุว่า ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

สิ่งสำคัญดังกล่าวนี่แหละที่ทำให้การฟอร์มคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ที่นำโดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ต้องล่าช้าออกไป คาดว่าไม่น้อยกว่าสองสัปดาห์ หรืออาจลากยาวไปเป็นเดือน ซึ่งจากคำพูดของเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ก็ย้ำแล้วว่า นอกจากส่งไปที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้ว ยังมีคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกหลายหน่วยงาน ให้ช่วยกันตรวจสอบ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นต้น

สำหรับรายชื่อรัฐมนตรีที่คาดว่าจะต้องตรวจเข้มเป็นพิเศษ เมื่อพิจารณาจากแบ็กกราวด์ เช่น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ในเรื่องคดีความในอดีต นายสันติ พร้อมพัฒน์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กรณีการสอบที่ม.รามคำแหง นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายเอกณัฐ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ จากคดีเมื่อครั้งเป็นแกนนำ กปปส. เป็นต้น

และที่สำคัญก็คือ ตัวของน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นั่นแหละที่จะต้องตรวจคุณสมบัติกันอย่างเข้มข้นเป็นพิเศษ เพราะยังมีหลายกรณีอื้อฉาวติดตัว เช่น กรณีข้อสอบ กรณีสนามกอล์ฟอัลไพน์ธรณีสงฆ์ นอกจากต้องมีการตรวจสอบกันอย่างเข้มงวดแล้ว ยังมีบรรดาพวก “นักร้อง” ทั้งหลาย ที่กำลังจ้องตาเป็นมันกันอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี ภาพลักษณ์ของรัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังตั้งไข่อยู่ในเวลานี้ กำลังเริ่มต้นที่ไม่สดใสนัก เนื่องจากมีปัญหาเรื่อง “ภาพลักษณ์” มีเสียงวิจารณ์ในทางลบตั้งแต่เริ่ม ทำลายความเชื่อมั่นศรัทธา ทั้งตัวของนายกรัฐมนตรีเอง ที่ถูกตั้งคำถามในเรื่องความรู้ความสามารถ ไม่มีประสบการณ์ในการทำงาน เข้ามาได้เป็นเพียงเพราะเป็นลูกของ นายทักษิณ ชินวัตร ที่ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของพรรคเพื่อไทยเท่านั้น

ขณะเดียวกันภาพการเคลื่อนไหวของ นายทักษิณ ชินวัตร ตั้งแต่เริ่มต้นที่ไม่ต่างจากการแสดงบทบาทเป็น “เจ้าของรัฐบาล” มีการพูดจาแทนนายกรัฐมนตรีทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งรัฐมนตรี การดำเนินนโยบายของรัฐบาล หรือแม้แต่การจะให้ใครดำรงตำแหน่ง เอาพรรคไหนมาร่วมรัฐบาล สิ่งที่เกิดขึ้นล้วนเป็นภาพลบให้กับรัฐบาล และตัวนายกรัฐมนตรีคนใหม่ทั้งสิ้น

นอกจากนี้ภาพความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐในช่วงสองสามวันที่ผ่านมา แม้ว่าจะเริ่มสงบลงและเคลียร์ผลประโยชน์กันลงตัวแล้ว จนมีการส่งรายชื่อรัฐมนตรีไปครบโควตาแล้วก็ตาม แต่ทำให้ชาวบ้านที่มองด้วยสายตาไม่เป็นบวกแน่นอน

อีกทั้งสิ่งที่สะท้อนออกมาล่าสุดผ่านทางผลสำรวจในสื่อสังคมออนไลน์ โดยบริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ได้ทำการรวบรวมข้อมูลผ่านเครื่องมือ DXT360 เพื่อฟังเสียงในสื่อสังคมออนไลน์ (Social Listening) ในช่วงวันที่ 15 - 18 สิงหาคม 2567 ถึงประเด็น “นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของประเทศไทย” พบว่าชาวโซเชียลฯ ต่างแสดงความคิดเห็น สะท้อนทั้งความคาดหวังและข้อกังวลต่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ในแง่มุมที่หลากหลาย โดยผลออกมาในเชิงลบถึง ร้อยละ 55.2 เชิงบวกแค่ร้อยละ 25.5 เท่านั้น ขณะที่ความเห็นออกมากลางๆ หรือไม่มีความเห็น ร้อยละ 19.3

นี่คือสิ่งที่สะท้อนจากประชาชน ในช่วงเริ่มต้นที่ไม่ดีนัก ทั้งที่ในอดีตที่ผ่านมารัฐบาลชุดใหม่ หรือ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ จะไม่เคยเจอกับภาพลักษณ์ที่เป็นลบมากมายแบบนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นการให้โอกาสได้แสดงฝีมือก่อน ในช่วง 3-6 เดือนจนถึง 1 ปี แต่นี่กลายเป็นว่า “โดน” ตั้งแต่ยังไม่เริ่ม

ดังนั้น หากพิจารณากันตามรูปการณ์เท่าที่เห็น มองว่ารัฐนาวาของ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เริ่มต้นได้ไม่สวยนัก ถูกสงสัยและตั้งคำถามในเรื่อง “ความไม่ซื่อสัตย์ฯ มีปัญหาจริยธรรม” ไม่เว้นแม้แต่ตัวนายกรัฐมนตรีเอง ที่ต้องถูกตรวจสอบ ตั้งแต่ยังไม่ได้ทำงาน ภาพของการแทรกแซงของคนในครอบครัว ความขัดแย้งแย่งชิงของคนในพรรคร่วมรัฐบาล จนวุ่นวาย ล้วนเป็นภาพลบทั้งสิ้น ทำให้หลายคนมองเห็นความ “เละเทะ” จนขาดความเชื่อมั่น !!



กำลังโหลดความคิดเห็น