สภาผ่าน ร่าง กม.ประชามติ ปรับเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น เพิ่มสิทธิให้ “ประชาชน” ได้งดออกเสียง เมินตาม ภท.เพิ่มหลักเกณฑ์ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ 1 ใน 4 ของผู้มีสิทธิ
วันนี้ (21 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมสภา ที่มี นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภา คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่...) พ.ศ.... ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ที่มี นายวุฒิสาร ตันไชย เป็นประธาน กมธ. ได้พิจารณแล้วเสร็จ ในวาระสองและวาระสาม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการพิจารณาของสภา วาระสอง พบว่า มติเสียงข้างมากเห็นชอบด้วยกับร่างแก้ไขที่ กมธ.เสียงข้างมากเสนอต่อสภา ได้แก่ ร่างมาตรา 3 ซึ่งแก้ไขมาตรา 10 ที่ กมธ.เสียงข้างมาก การกำหนดเงื่อนไขเรื่องระยะเวลาการทำประชามติที่เป็นวันเดียวกันกับการเลือกตั้ง สส. เป็นการทั่วไป หรือการเลือกตั้งท้องถิ่นเนื่องจากครบวาระ ต้องไม่เร็วกว่า 60 วัน และไม่ช้ากว่า 150 วันนับจากวันที่รับแจ้งจากประธานรัฐสภา
ร่างมาตรา 4 แก้ไขมาตรา 11 ซึ่งยกเลิกวรรคสองและวรรคสาม และใช้ข้อความใหม่ ที่มีสาระสำคัญคือ กรณีที่ประชาชน 5 หมื่นชื่อ จะยื่นเรื่องต่อ ครม.ให้พิจารณาทำประชามติ สามารถทำผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิกอภิปรายกันมากในมาตรา 6 แก้ไขมาตรา 13 ว่าด้วยเกณฑ์ออกเสียงที่เป็นข้อยุติ ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ประชามติฉบับเดิม กำหนดให้ใช้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้น คือ ผู้มาออกเสียงต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ และเสียงเห็นชอบต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ โดย กมธ.เสียงข้างมากแก้ไขให้ใช้เสียงข้างมากเพียงชั้นเดียว คือ เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง ทั้งนี้ พบว่า กมธ.ได้เพิ่มหลักเกณฑ์ คือ ต้องเป็นคะแนนที่สูงกว่าคะแนนที่ไม่แสดงความคิดในเรื่องที่ทำประชามตินั้นด้วย ซึ่ง นายวุฒิสาร ชี้แจงว่า การออกมาทำประชามติถือเป็นหน้าที่ ดังนั้น จึงต้องมีช่องให้งดออกเสียงเพื่อเป็นทางออกให้กับผู้มาใช้สิทธิออกสียง
ทั้งนี้ มี สส.จากพรรคภูมิใจไทย ทั้ง นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล นายภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย สงวนความเห็นให้เพิ่มหลักเกณฑ์ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ 1 ใน 4 ของผู้มีสิทธิด้วย เพื่อเป็นเกณฑ์ที่ใช้สะท้อนเสียงส่วนใหญ่ของมวลมหาประชาชน แต่ สส.พรรคเพื่อไทย และ สส.พรรคประชาชน ลุกขึ้นทักท้วงและสนับสนุนการแก้ไขตาม กมธ.เสียงข้างมาก
โดย น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายแสดงจุดยืนของพรรคเพื่อไทย ตอนหนึ่งว่า การแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เป็นต้นตอวิกฤตของปัญหา โดย 1 ทศวรรษที่ผ่านมา พบประจักษ์พยานเหตุการณ์สำคัญ คือ ยุบพรรคก้าวไกล ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค สั่งให้ นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกฯ และคำถามที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ เผชิญ คือ กังวลว่าจะซ้ำรอยการหลุดจากตำแหน่งหรือไม่ โดยเป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่า การเมืองไทยไร้เสถียรภาพ บริหารประเทศไม่ต่อเนื่อง ไม่แน่นอน ซึ่งเป็นวิกฤตที่มีต้นตอจากรัฐธรรมนูญ 2560 ดังนั้นพรรคเพื่อไทยจะผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน ให้เป็นจริงใน 4 ปี
หลังจากที่ประชุมอภิปรายในวาระสอง เรียงลำดับมาตราแล้วเสร็จ ได้ลงมติเห็นชอบร่างแก้ไขทั้งฉบับตามที่ กมธ.เสียงข้างมากเสนอ ด้วยมติเอกฉันท์ 409 เสียง จากนั้นจะส่งให้วุฒิสภาพิจารณาในลำดับต่อไป