xs
xsm
sm
md
lg

ภาค ปชช.จี้ ป.ป.ช.ฟัน อสส.ไม่ฟ้องคดีเหมืองทองคำรุกป่า-ขุดถนนเอื้อบริษัท ชาติเสียหายหลายแสน ล.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ภาค ปชช. จี้ ป.ป.ช.เร่งเอาผิด อสส. เหตุสั่งไม่ฟ้องคดีเหมืองทองคำ บุกรุกพื้นที่ป่าและขุดถนนทำเหมือง เอื้อบริษัทเหมือง ชี้ หลักฐานชัดทำประเทศเสียหายหลายแสนล้าน

วันนี้ (21 ส.ค.) นางวันเพ็ญ พรมรังสรรค์ รองประธานกลุ่มประชาคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ พร้อมตัวแทนภาคประชาชน เข้าติดตามความคืบหน้าการยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ ป.ป.ช ให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของอัยการสูงสุด และอัยการผู้รับผิดชอบสำนวนคดีเหมืองแร่ทองคำ “อัคราไมนิ่ง” รวมทั้งพนักงานสอบสวน กว่า 10 ราย

นางวันเพ็ญ กล่าวว่า การยื่นให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบจริยธรรมของผู้เกี่ยวข้อง สืบเนื่องจากอัยการและกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ลงพื้นที่ตรวจสอบการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำอัครา พบมีการกระทำความผิดขุดทำเหมืองทองคำบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1301 และถนนสาธารณะอีกหลายเส้น แต่พนักงานสอบสวนกลับไม่แจ้งข้อกล่าวหาในการทำเหมืองนอกประทานบัตร ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เหมืองแร่ มาตรา 43 มาตรา 58 และความผิดตามกฎหมายที่ดินมาตรา 12 โดยแจ้งเอาผิดเฉพาะการรุกล้ำ ปิดกั้น ทำให้เสื่อมค่า ซึ่งทางกลุ่มเห็นว่า แจ้งข้อกล่าวหาไม่ครบถ้วน ส่งผลให้บริษัทเอกชนหลุดรอดถูกดำเนินคดีในชั้นศาล โดยได้ยื่นร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดให้ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาให้ครบถ้วน แต่กลับไม่ดำเนินคดีจนถึงทุกวันนี้ จนล่าสุด วันที่ 7 สิงหาคม ที่ผ่านมา ก็ได้รับแจ้งจากอัยการสูงสุด ว่า ไม่สั่งฟ้องดำเนินคดีในความผิดข้อหาขุดถนนสาธารณะ โดยให้เหตุผลว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอสั่งฟ้อง ซึ่งเห็นว่าขัดแย้งกับหลักฐานที่ได้ยื่นต่ออัยการสูงสุด เพราะบริษัทเอกชนเคยทำเงื่อนไขเป็นสัญญาประทานบัตรกับประเทศไทย ว่า จะไม่ดำเนินการขุดถนนทุกเส้น และจะต้องกันแนวถนนฟออกไม่ต่ำกว่า 50 เมตร ดังนั้น บริษัทไม่สามารถขุดถนนทุกเส้นในการทำเหมืองทองคำได้ แต่กลับพบว่าบริษัทมาขออนุญาตเพียงปิดกั้นทำลายให้เสื่อมค่า เพื่อขุดสินแร่ทองคำและสินแร่เงินในถนนหลายเส้น โดยเห็นว่า ไม่สามารถขออนุญาตปิดกั้นทำลายให้เสื่อมค่าได้ ไม่สามารถขุดทองคำได้เพราะไม่ได้ขอประทานบัตรตั้งแต่แรก รวมถึงไม่ได้ขออนุญาตจากรมว.มหาดไทยมาตั้งแต่ต้น ทั้งนี้ หลักฐานในคดีอยู่ในมืออัยการสูงสุดมาตั้งแต่ปี 2559 แต่มาอ้างว่าหลักฐานไม่เพียงพอสั่งฟ้อง อาจเข้าข่ายเป็นการละเว้นการปฏิบัติเพื่อเอื้อให้กับบริษัทเอกชนไม่ให้ถูกดำเนินคดี โดยคดีนี้สร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยหลายแสนล้านบาท อาจเข้าข่ายเป็นความผิดฟอกเงินและเลี่ยงภาษี เนื่องจากการขุดเอาทองคำในถนนหลายเส้นเป็นการเลี่ยงภาษีและลักลอบ โดยไม่ได้มีการจ่ายภาษีให้กับประเทศไทยอย่างถูกต้อง โดยได้ยื่นให้ป.ป.ช.ดำเนินการสอบสวนแล้ว

อีกทั้งการที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ ปทส.ร่วมกับตำรวจสอบสวนกลาง ลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่าประทานบัตรของบริษัทเอกชนเป็นการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ 15 คดี โดยมี 1 คดีส่งมายัง ป.ป.ช.เพราะเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐในการออกเอกสารสิทธิ ส่วนอีก 14 คดีเป็นข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ แต่อัยการสูงสุดกลับไม่สั่งฟ้อง โดยระบุว่า บริษัทเอกชนขาดเจตนาในการบุกรุก

ทั้งนี้ การทำเหมืองจะต้องดำเนินการตรวจสอบอย่างละเอียดก่อนการอนุญาตให้ทำเหมืองแร่ แต่การที่บริษัทเอกชนถูกตรวจสอบว่าพื้นที่ประทานบัตร 14 แปลง บุกรุกป่านั้นจะอ้างเหตุว่าไม่เจตนาไม่ได้ เพราะการทำเหมืองทองคำมีขั้นตอนการตรวจสอบดังนั้นเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการให้บริษัทบุกรุกป่ารวมทั้งบริษัทเอกชนเอง เข้าข่ายเป็นตัวการร่วมและสนับสนุนให้มีการกระทำความผิดฐานบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ อัยการสูงสุดในฐานะทนายความของแผ่นดินมีหน้าที่ต้องรวบรวมหลักฐานและส่งฟ้องไปยังศาล เพื่อให้ศาลพิจารณาพิพากษาตามกฎหมาย

“การที่พบการกระทำความผิดในเบื้องต้นจากสำนวนการสอบสวนที่มีความเห็นสั่งฟ้องมาแล้ว แต่อัยการเองกลับอ้างว่าขาดเจตนาบุกรุกและสั่งไม่ฟ้องไปศาล นี่คือ การตัดพยานหลักฐานไม่ให้ศาลได้เป็นผู้พิจารณาพิพากษาคดีตามกฎหมาย จึงทำให้คดีนี้ถึงที่สุดโดยที่อัยการเองเป็นผู้ดำเนินการให้เสร็จสิ้น คดีนี้อัปยศเพราะศาลไม่ได้เป็นผู้พิจารณา เราจึงได้ยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.ให้สอบสวนการปฏิบัติหน้าที่ของอัยการสูงสุดและอัยการผู้รับผิดชอบสำนวนทั้งในคดีขุดถนนทำเหมืองและคดีแปลงประทานบัตรบุกรุกป่าทั้ง 14 แปลง มีผู้เกี่ยวข้องกว่า 10 ราย วันนี้เราจึงเดินทางมาจี้ให้ป.ป.ช.เร่งดำเนินการสอบสวนและเร่งเอาผิดให้เร็วที่สุด เพราะการที่อัยการใช้ดุลยพินิจขัดกับข้อเท็จจริงและขัดกับข้อกฎหมายย่อมไม่ได้รับการคุ้มครอง” นางวันเพ็ญ กล่าว

นางวันเพ็ญ กล่าวว่า การที่ไม่เอาผิดกับบริษัทเหมืองทองคำตามกฎหมายของไทย ถือเป็นการทำให้อาวุธสำคัญของไทยหายไป เพราะคดีนี้เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ ดังนั้น การที่อัยการซึ่งเป็นทนายความของแผ่นดิน ใช้ดุลพินิจไม่ให้ศาลเป็นผู้พิจารณาพิพากษาคดีสำคัญตามกฎหมาย ถือเป็นการปฏิบัติโดยไม่ชอบและอาจเข้าข่ายกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และมาตรา 200 ประกอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง วันนี้ถึงได้มายื่นเอกสารเพิ่มเติมให้กับ ป.ป.ช. เป็นหนังสือแจ้งผลการไม่สั่งฟ้องของอัยการสูงสุดในกรณีรุกป่า 14 คดี และไม่สั่งฟ้องในคดีขุดถนนสาธารณะทำเหมือง โดยได้ยื่นเรื่องนี้ให้กับ ป.ป.ช.ดำเนินการเมื่อต้นปี 2566 และได้ติดตามทวงความคืบหน้าเป็นระยะ จึงขอให้ ป.ป.ช.ให้ความสำคัญกับคดีนี้ด่วนที่สุด

นอกจากนี้ ทางกลุ่มยังได้เดินทางไปยังสพนักงานอัยการสูงสุด เพื่อเร่งติดตามความคืบหน้าในการยื่นเรื่องเอาผิดทางวินัยขอให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของอัยการผู้รับผิดชอบในขณะนั้น เพราะการที่อัยการรับผิดชอบคดีสำคัญและไม่สั่งฟ้อง รวมถึงให้ดุลยพินิจบิดเบือนจากข้อเท็จจริงและบิดเบือนไปจากกฎหมาย จึงมองว่าอาจจะเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ซึ่งขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระที่ระบุไว้ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งทางกลุ่มก็อาจจะต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยถึงการปฎิบัติหน้าที่ต่อจากนี้ เพราะมองว่าการที่อัยการใช้ดุลยพินิจโดยบิดผันทำให้เกิดความเสียหายกับประเทศไทย
รวมถึงติดตามความคืบหน้าที่เคยยื่นเรื่องให้ตรวจสอบนอมินีเหมืองแร่ทองคำ หลังตรวจสอบพบว่าบริษัทเอกชนถือหุ้นไขว้ และอาจใช้คนไทยเป็นนอมินี หลังกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ตรวจสอบพบความผิดและมีความเห็นสั่งฟ้อง ในปี 2565 ซึ่งผ่านมาแล้วเกือบ 2 ปี และเกรงว่า จะเกิดความล่าช้าจนคดีขาดอายุความหรือทำให้เกิดความเสียหาย หากอัยการสูงสุดไม่เร่งสั่งฟ้องคดีนี้ อย่างไรก็ตาม สำหรับคดีนอมินีหากสามารถพิสูจน์ในชั้นศาลได้และสามารถพิพากษาได้ว่าบริษัทเอกชนต่างชาติใช้คนไทยเป็นนอมินีในการประกอบธุรกิจในประเทศไทย ก็จะทำให้การทำเหมืองทองคำตั้งแต่ต้นจนถึงปีที่รัฐบาล คสช.สั่งปิดเหมือง โดยทองคำและเงินที่ได้จากการทำเหมืองก็จะส่งคืนกลับให้ประเทศไทยทั้งหมด เพราะเป็นการประกอบธุรกิจผิดกฎหมายของการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว โดยปรากฏตามเอกสารหลักฐานของทางบริษัทได้ยื่นดำเนินการในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งกรณีนี้ไม่ได้สืบสวนยุ่งยากและคดีนี้เป็นข้อยุติจน DSI ได้สั่งฟ้อง ดังนั้น เห็นว่า อัยการจะต้องทำหน้าที่สั่งฟ้อง แต่เห็นว่า การกอดสำนวนนอมินีเอาไว้จนเกือบครบ 2 ปี ทำให้เกิดความล่าช้าและอาจจะทำให้คดีนี้เสียหายเป็นอย่างยิ่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น