xs
xsm
sm
md
lg

คืบหน้า! ปิดผับตี 4 ทั่ว ปท.จ่อตรา พ.ร.ฎ.เพิ่มอำนาจ มท.1 ใช้ดุลยพินิจให้ใบอนุญาต ยก รธน.60 เท่าเทียม ไม่เลือกเฉพาะจังหวัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คืบหน้า! ขยายเวลาเปิดปิดสถานบริการบางประเภท ออกไปถึง ตี 4 หลังฝ่ายกฎหมายมหาดไทย รับลูกไฟเขียว "กรมปกครอง-คณะทำงานพัฒนา กม.มท." จ่อตรากฎหมายรอง "พ.ร.ฎ. กำหนดเขตอนุญาตพื้นที่โซนนิ่งสถานบริการ-สถานบันเทิง" ให้ทุกจังหวัดทบทวนเขตพื้นที่ พร้อมให้อำนาจ "มท.1" เป็นผู้ใช้ดุลยพินิจ ให้ใบอนุญาตเพิ่มขึ้นจากเดิม ยกหลักเสมอภาค-ความเท่าเทียม ตามรธน.60 บังคับใช้ทุกพื้นที่ ทุกจังหวัด ไม่เลือกใช้เฉพาะจังหวัด หรือบางพื้นที่เป้าหมาย

วันนี้ (16 ส.ค.2568) มีรายงานจากกระทวงมหาดไทย เปิดเผยถึง ความคืบหน้าในการกำหนดพื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ (Zoning) ขยายเวลาปิดของสถานบริการบางประเภท ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)สถานบริการ พ.ศ. 2509

ล่าสุดพบว่า กรมการปกครอง ได้ขอหารือกับคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมาย กระทรวงมหาดไทย คณะที่ 1 มีความเห็นว่า ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. สถานบริการ พ.ศ. 2509

เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน โดยกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีอำนาจใช้ดุลยพินิจตามที่เห็นสมควรในการตราพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เพื่อกำหนดเขตอันมีปริมณฑลจำกัดในท้องที่ใด

"เพื่อการอนุญาต หรือ งดอนุญาต ให้ตั้งสถานบริการเพื่อให้ประชาชน ซึ่งต้องการขออนุญาตตั้งสถานบริการได้ทราบอย่างชัดเจนถึงพื้นที่ ที่อนุญาต หรือ งดอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ"

ทั้งนี้ กรณีที่ต้องการแก้ไขเปลี่ยนแปลงการกำหนดเขตอันมีปริมณฑลจำกัดในท้องที่ใด เพื่อการอนุญาตหรือ งดอนุญาตใหัตั้งสถานบริการ

เนื่องจากสภาพบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละพื้นที่ ตามกาลเวลา ย่อมเป็นดุลยพินิจของ รมว.มหาดไทย ที่จะพิจารณาตามความเหมาะสม

โดยการตรา พ.ร.ฎ. อันเป็นกฎหมายลำดับรอง เพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงการกำหนดเขตดังกล่าวได้ ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. สถานบริการ พ.ศ. 2509

"ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว มิต้องคำนึงถึงข้อจำกัด ในเรื่องการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของพื้นที่ ที่กำหนดเขตอันมีปริมณฑลจำกัดในท้องที่ใด เพื่อการอนุญาต หรือ งดอนุญาตให้ตั้งสถานบริการตาม พ.ร.ฎ.ฉบับก่อนหน้า"

ดังนั้น หากการตรา พ.ร.ฎ. กำหนดเขตพื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ (Zoning) เป็นไปเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน

"แม้จะเป็นการทำให้พื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการเพิ่มขึ้นจากเดิม ย่อมสามารถกระทำได้"

มีรายงานว่า คณะทำงานเพื่อพัฒนา ปรับปรุง แก้ไขกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการแก้ไข พ.ร.บ. สถานบริการ พ.ศ. 2509

ให้มีความสอดคล้อง กับสภาวการณ์ในปัจจุบัน และควรกำหนดสถานบริการแต่ละประเภทให้มีความเหมาะสม ถูกต้องและ มีความชัดเจน

ทั้งนี้ เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดขอบสามารถควบคุมดูแลได้อย่าง มีประสิทธิภาพ

ขณะที่่ข้อเสนอ เวลาเปิดปิดสถานบริการ ตามนโยบายของรัฐบาล ที่จะขยายเวลาปิดของสถานบริการบางประเภท ออกไปถึงเวลา 04.00 นาฬิกา นั้น

มีข้อสังเกตว่า หากจะทำการแก้ไขเวลาปิดในกฎกระทรวงที่ใช้อยู่ ก็จะต้องบังคับใช้ในทุกพื้นที่ ทุกจังหวัด เหมือนกัน ไม่อาจเลือกใช้เฉพาะในจังหวัด หรือบางพื้นที่ที่เป็นเป้าหมายได้

เว้นแต่จะตราโดยมีเหตุผล และความจำเป็นตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 702/2565 มิเช่นนั้น ก็อาจขัดกับหลักความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันตามรัฐธรรมนูญ

"ดังนั้น ถ้าต้องการให้ใช้บังคับในจังหวัด เป้าหมายเป็นบางจังหวัด บางพื้นที่ ก็จะต้องมีบทบัญญัติทางกฎหมาย ที่จะทำให้บางจังหวัดหรือพื้นที่เหล่านั้นมีความพิเศษกว่าจังหวัดอื่น หรือพื้นที่อื่น หรือมีเหตุอันจำเป็นที่จะต้องดำเนินการเป็นกรณีพิเศษ กว่าพื้นที่อื่น ๆ"

จึงจะสามารถทำได้ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เช่น พระราชบัญญัติกำหนดพื้นที่บางจังหวัด เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจะได้รับสิทธิพิเศษมากกว่าจังหวัดอื่น ๆ เป็นต้น

รวมถึงประเด็นการกำหนดพื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ (Zoning) ที่เห็นควรประกาศ ให้ทุกจังหวัดทบทวนเขตพื้นที่ เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ (Zoning) อีกครั้ง

โดยตราเป็น "พระราชกฤษฎีกา" เพิ่มอำนาจให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กำหนดเขตอันมีปริมณฑลจำกัดในท้องที่ใดเพื่อการอนุญาตหรือ งดอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ.


กำลังโหลดความคิดเห็น