xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรกรปราจีนฯ ทำนาเปียกสลับแห้ง งดเผาตอซังข้าว ลดมลพิษเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กสก. รณรงค์ภาคตะวันออกหยุดเผา พร้อมส่งเสริมสร้างมูลค่าเพิ่มจากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ลดปัญหาโลกร้อนจากสภาวะก๊าซเรือนกระจก สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี

นางอุบล มากอง ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง กรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการส่งเสริมและรณรงค์การหยุดเผาในพื้นที่การเกษตรภาคตะวันออกว่า สำนักงานเกษตรอำเภอ และสำนักงานเกษตรจังหวัด ได้ลงพื้นที่รณรงค์ให้ความรู้ พร้อมทั้งส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มจากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร พบว่าเกษตรกรเริ่มตระหนักรู้ว่าการเผานอกจากจะเป็นการผิดกฎหมาย และสร้างมลพิษทางอากาศแล้ว ยังสามารถนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อีกด้วย เช่น การนำฟางข้าวมาเป็นอาหารสัตว์ ใช้คลุมดินในการทำเกษตรที่ไม่เผา ไม่ใช้สารเคมี

ที่ผ่านมาหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าว ชาวนาจะเคยชินกับการเผาตอซังและฟางข้าว เพื่อกำจัดข้าววัชพืช และสะดวกในการไถเตรียมดินสำหรับการปลูกในรอบถัดไป ซึ่งเป็นวิธีที่เร็วและง่าย แต่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และความอุดมสมบูรณ์ของดิน เนื่องจากการเผาทำลายอินทรียวัตถุ ธาตุอาหาร และโครงสร้างดิน ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้ผลผลิตลดลง และชาวนาจะมีต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อน

“เพื่อลดปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร จึงได้สร้างการตระหนักรู้แก่เกษตรกร ถึงผลกระทบจากการเผา พร้อมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกข้าวแบบไม่เผา เช่น ใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายฟางและตอซัง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และนำวัสดุเหลือใช้มาหมุนเวียนใช้ใหม่ ซึ่ง 1 ปี ที่ผ่านมา ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ที่นับว่าประสบความสำเร็จตามเป้าหมายเป็นอย่างดี เกษตรกรมีความรู้ ความเข้าใจ และเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร พร้อมปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวที่ไม่ต้องเผาฟางข้าวและตอซัง เช่นการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง การใช้จุลินทรีย์เป็นตัวช่วยย่อยสลายตอซัง พร้อมจัดทำแปลงเรียนรู้การทำนารูปแบบดังกล่าวให้เกษตรกรเข้ามาศึกษาเรียนรู้ เช่น ที่ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี ที่ดำเนินการนำร่องในพื้นที่กว่า 200 ไร่ โดยนำฟางข้าวมาใช้ประโยชน์ เพื่อสร้างมูลค่า”


ด้านนายชัยยพล ชาวเมืองสีวสุ (ผู้ใหญ่แต๋ม) ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 5 ตำบลรอบเมือง อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี รองประธานคณะกรรมการศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ระดับประเทศ และประธานสถาบันการจัดการธุรกิจข้าวชุมชนจังหวัดปราจีนบุรี เผยว่า ได้ใช้พื้นที่ 60 ไร่ ตำบลวัดโบสถ์ เป็นแปลงสาธิตการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง ใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายตอซัง

“แปลงต้นแบบนี้จะขุดคลองไว้โดยรอบเพื่อปล่อยน้ำออกจากนาไปเก็บไว้ แล้วเอาใส่นาอีกครั้งตามกระบวนการหลอกข้าว หรือ แกล้งข้าว ตามกรรมวิธีปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง เมื่อต้นข้าวโตประมาณ 15 เซ็นติเมตร ทำเปียกสลับแห้ง วงรอบละ 30 - 35 วัน ไม่ปล่อยน้ำแช่นาน เพราะน้ำแห้งจะทำให้การเจริญเติบโตของข้าวดีกว่า รากข้าวจะแผ่ในดินเพื่อหาอาหาร การใส่ปุ๋ยบำรุงก็จะง่าย โดยช่วงนาแห้งจะหว่านปุ๋ย ทำให้ปุ๋ยลงไปอยู่ตามรอยแตกของดินที่มีความชื้นแบบหมาดๆ จากนั้นปล่อยน้ำเข้าแปลงดินที่แตกระแหง ทำให้ดินคลายตัวเป็นตม ปุ๋ยก็จะอยู่ในดินไม่ลอยไปตามน้ำ ทำให้ข้าวสามารถดูดซับปุ๋ยไปเป็นอาหารได้อย่างเต็มที่ การใส่ปุ๋ยก็สามารถลดปริมาณลง ทำให้ลดค่าใช้จ่ายได้ ที่สำคัญไม่ต้องเผาฟางข้าว เพราะตอชังจะย่อยสลายเป็นปุ๋ย ทำให้ใส่ปุ๋ยเคมีน้อยลงด้วย และตอนนี้ได้รวมกลุ่มกันเพื่อเตรียมขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มอีกทางหนึ่งจากการขายคาร์บอนเครดิต ”

สำหรับเกษตรกรที่สนใจศึกษาดูงานกระบวนการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง ไม่เผาฟางข้าวและตอซัง เพื่อลดมลพิษติดต่อได้ที่ ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน หมู่ที่ 5 ตำบลรอบเมือง อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี




กำลังโหลดความคิดเห็น