xs
xsm
sm
md
lg

ต่อยอดความเย็นเหลือทิ้งจากก๊าซธรรมชาติเหลว สู่นวัตกรรมการผลิตพืชเมืองหนาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กปร. จับมือ มช. พีทีที แอลเอ็นจี ร่วมทำMOU พัฒนาประสิทธิภาพกระบวนการการผลิตพืชเมืองหนาว จากพลังงานความเย็นเหลือทิ้งของสถานี รับ-จ่าย ก๊าซธรรมชาติเหลว

นางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)เปิดเผยว่าสำนักงานฯ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด ได้ลงนามความร่วมมือในการพัฒนาประสิทธิภาพกระบวนการการผลิตพืชเมืองหนาว จากพลังงานความเย็นเหลือทิ้งของสถานี รับ-จ่าย ก๊าซธรรมชาติเหลว ซึ่งการลงนามความร่วมมือครั้งนี้เป็นฉบับที่ 3 เป็นการพัฒนานำความเย็นเหลือทิ้งจากกระบวนการแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลวในสถานี รับ-จ่าย มาใช้ในการปลูกไม้ดอกและพืชเมืองหนาว เพื่อพัฒนาต้นแบบการผลิตพืชที่มีศักยภาพสูงในรูปแบบSmart Farming โดยไม้ดอกไม้ประดับที่นำมาแสดงในงานนี้ คือ ทิวลิป
ที่ปลูกได้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย และที่แรกในอาเซียน ซึ่งในอนาคตมีการววางแผนขยายผลสู่เกษตรกร และภาคเอกชนเพื่อพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ต่อไป
“นอกจากขยายผลการศึกษาวิจัยทดลองพืชเมืองหนาวไปยังภาคเกษตรใน
พื้นที่ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศูนย์บริการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ แล้ว ในส่วนของพื้นที่สูงได้ร่วมมือกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดเตรียมพื้นที่ปลูกพันธุ์ไม้เมืองหนาวตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน 5 แห่ง คาดว่าในอนาคตจะมีไม้ดอกเมืองหนาวเป็นพืชเศรษฐกิจที่ไม่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศเพิ่มชนิดมากขึ้น”

ด้านศ.ดร.นพ. พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เผยว่า ความร่วมมือระหว่างศูนย์บริการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ และคณะเกษตรศาสตร์ โดยสถาบันวิจัยพืชศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ร่วมวิจัยในครั้งนี้ประสบความสำเร็จในพัฒนาการปลูกพืชเมืองหนาวหลายชนิดและกำลังขยายผลสู่เกษตรกรในพื้นที่

“โครงการนี้จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนและเพิ่มช่องทางการตลาดให้มีตัวเลือกมากขึ้น เช่น ทิวลิป ไม้ดอกไม้ประดับที่ตลาดมีความต้องการสูง ก็จะช่วยยกระดับเศรษฐกิจชุมชนให้เพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศได้มาก”


ขณะที่นายรัตติกูล ปิยะวงค์วาณิชย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด ได้กล่าวว่า การลงนามในข้อตกลงครั้งที่ 3 นี้เป็นการต่อยอดจากครั้งที่ 1 และ 2 และตลอดมาประสบความสำเร็จตามเป้าหมายด้วยดี

“ส่วนในครั้งนี้มีเป้าหมายจะผลิตดอกทิวลิปให้มากถึง 6 ล้านดอกต่อปี พร้อมการขยายการตลาดในประเทศให้มากขึ้น และจะดำเนินโครงการควบคู่กับการพัฒนาต่อยอดพืชเมืองหนาว และผลิตภัณฑ์ตัวอื่นๆ ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กันด้วย”

สำหรับการลงนามใน MOU นี้เป็นการพัฒนานำพลังงานความเย็นที่ได้จากกระบวนการเปลี่ยนสถานะของก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas: LNG ) ที่ถูกแปรสภาพโดยการลดอุณหภูมิเหลือ -160°C โดยความเย็นที่ได้จากกระบวนการแปรสภาพของก๊าซธรรมชาติเหลวจะถูกนำมาใช้ในระบบการผลิตไม้ดอกและพืชเมืองหนาว โดยพัฒนาต้นแบบการผลิตพืชที่มีศักยภาพสูงในรูปแบบSmart Farming ต่อยอดการเกษตรนวัตกรรมในพืชเศรษฐกิจมูลค่าสูง ยกระดับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG สนับสนุนการพัฒนาประเทศในด้านสังคม เศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม

โดยผลการวิจัย ในระยะที่ 1 ตั้งแต่ ปี 2560 - 2562 สามารถปลูกไม้ดอกเมืองหนาวจนประสบผลสำเร็จ 3 ชนิดประกอบด้วย ทิวลิป ดารารัตน์ และ ไฮเดรนเยีย ในปี 2562 ได้จัดตั้ง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการใช้พลังงานความเย็นทางการเกษตร ภายในสถานีแอลเอ็นจี มาบตาพุด แห่งที่ 1 ใน ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่อ “ศูนย์เลิศพัฒนพฤกษ์” หมายถึง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการพัฒนาและขยายพันธุ์พืช เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 ในระยะที่ 2 (พ.ศ.2563-2565) มีการต่อยอดองค์ความรู้ ประสบผลสำเร็จในการเพาะเลี้ยงและปลูกวาซาบิในประเทศไทย

สำหรับในระยะที่ 3 ปี 2567-2570 เป็นการพัฒนาต่อยอดการใช้ประโยชน์ของความเย็นเหลือทิ้งมาใช้ในกระบวนการผลิตพืชเมืองหนาว โดยเฉพาะการผลิตพืชเกษตรที่มีมูลค่าสูง พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ราษฎรนำไปปฎิบัติใช้ และเป็นการสืบสานตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น