xs
xsm
sm
md
lg

กยท. ขยายตลาดยาง EUDR ต่อเนื่อง จับมือ ไทยรับเบอร์ฯ เซ็น MOU ซื้อขายน้ำยางสด 5 พันตันต่อเดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กยท. ทำได้จริงเปิดดีลซื้อขายน้ำยาง EUDR ต่อเนื่อง จับมือเอกชนรายแรก ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์กรุ๊ป เซ็น MOU ซื้อยางในราคาพรีเมี่ยม รักษาการผู้ว่าการฯ “สุขทัศน์” ชี้เป็นโอกาสดี เร่งจูงใจเกษตรกรเข้าร่วม เพื่อสร้างรายได้เพิ่มชาวสวนยาง ปีละ 2,500 ล้าน จากส่งออกน้ำยางข้น แถมสร้างความเชื่อมั่นให้กับต่างประเทศ

วันนี้ (16 ส.ค. 2567) ได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อความร่วมมือทางด้านธุรกิจ ระหว่าง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) โดย นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยและ และบริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โดยนายภัทรพล วงศาสุทธิกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ณ ห้องประชุมรัษฎา อาคาร 2 ชั้น 2 การยางแห่งประเทศไทย สำนักงานใหญ่ กรุงเทพมหานคร

นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือเพื่อทำการซื้อขายน้ำยางสดที่ กยท. รวบรวมจากตลาดเครือข่ายของตลาดกลางยางพาราของ กยท. ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตามกฎระเบียบ EUDR หรือ EU Deforestation Regulation ของสหภาพยุโรป โดยส่งมอบให้กับบริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือเป็นบริษัทเอกชนรายแรกที่เข้ามาทำการซื้อขายน้ำยางสด EUDR กับ กยท. อันเป็นผลสืบเนื่องจากที่ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เป็นประธาน Kick Off ซื้อขายน้ำยางสดและยางก้อนถ้วย EUDR ครั้งแรก ที่โรงงานน้ำยางข้น สหกรณ์การเกษตรจะนะ จำกัด ต.ตลิ่งชัน อ.จะนะ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา อันเป็นการยืนยันว่า ตลาดน้ำยาง EUDR มีอยู่จริง และได้นำมาสู่ความร่วมมือลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อความร่วมมือทางด้านธุรกิจในครั้งนี้

“จากการลงนามบันทึกความเข้าใจครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของการการรักษาเสถียรภาพราคายางพาราตามเจตนารมณ์ของ กยท. ที่จะนำมาประโยชน์มาสู่เกษตรกรชาวสวนยางพารา และด้วยรูปแบบสัญญาระยะยาว หรือ Long term Contract ซึ่งบริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) สามารถรองรับผลผลิตยางข้น EUDR ได้ถึงเดือนละ 5,000 ตัน โดยจะรับซื้อน้ำยางข้น EUDR ในราคาพรีเมี่ยม คือราคาที่อ้างอิงจากราคาซื้อขายน้ำยางที่ กยท. ประกาศผ่านทางเว็บไซต์ในแต่ละวัน บวกค่าขนส่งเพิ่มกิโลกรัมละ 2.50 บาท และยังจะบวกเพิ่มให้อีก 15 สตางค์ทุก ๆ 50 กิโลเมตร รวมถึงหากมีปริมาณยางส่งขายถึง 30 ตัน หรือ 1 รถบรรทุก จะเพิ่มให้อีก 25 สตางค์ต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ หากยางมี DRC เกิน 35 เปอร์เซ็นต์ จะบวกเพิ่มอีก 50 สตางค์” นายสุขทัศน์ กล่าว

รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำยางข้นรายใหญ่ถึงปีละประมาณ 1 ล้านกว่าตัน ดังนั้น การลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่าง กยท. และบริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จึงเป็นประโยชน์ และสร้างโอกาสให้กับประเทศไทยอย่างมาก เพราะนอกจากจะช่วยดึงดูดเกษตรกรเข้าสู่ระบบ EUDR ให้มากขึ้น ยังเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่ายางพาราอีกด้วย จากที่มีราคาซื้อขายสูงกว่าราคาปกติถึงกิโลกรัมละ 2.50 บาท หมายถึง ประเทศไทยจะมีรายได้จากการจำหน่ายน้ำยางข้น EUDR เพิ่มถึง 2,500 ล้านบาทต่อปี และที่สำคัญ ยังสร้างความเชื่อมั่นต่อการดำเนินการของ กยท.ในการซื้อขายยาง EUDR ได้เป็นที่ยอมรับของผู้ซื้อทั้งในต่างประเทศ และในประเทศ นำไปสู่ทำให้ราคาการซื้อขายยาง EUDR ของประเทศไทย เป็นดัชนีราคา (price index) ในการซื้อขายยาง EUDR ได้ทั้งในประเทศ และต่างประเทศอีกด้วย

“อีกประการที่สำคัญ คือ ทำให้ไทยสามารถประกาศต่อประชาคมโลกได้ว่า ยางพาราที่ออกจากประเทศไทย เป็นยางที่ไม่ทำลายป่าไม้ ไม่มีการทำผิดกฎหมาย และที่สำคัญตรวจสอบย้อนกลับได้ว่า ยางพาราทุกกิโลกรัมที่ซื้อขายผ่านตลาดการยางแห่งประเทศไทย สามารถตรวจสอบได้จริง” รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าว








กำลังโหลดความคิดเห็น