สภาเริ่มโหวตนายกฯ หลัง พท.เสนอ “แพทองธาร” ชื่อเดียว “สส.ฝ่ายค้าน” ขออภิปรายก่อนโหวต เจอ “เพื่อไทย” ขวาง แต่ไม่สำเร็จ “ณัฐพงษ์” สบช่องวิพากษ์ศาล รธน.ยับ
วันนี้ (15 ส.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 10.00 น. มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระให้ความเห็นชอบบุคคลให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แทนตำแหน่งที่ว่าง โดยมี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม
ทั้งนี้ ก่อนการเสนอชื่อ นายวันมูหะมัดนอร์ หารือต่อที่ประชุมว่าในกระบวนการเลือกนายกฯ ไม่มีกำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมสภา ดังนั้น จึงขอหารือถึงวิธีการ ทั้งการแสดงตนผ่านการเสียงบัตรแสดงตน และการรับรองชื่อที่ถูกเสนอ ต้องใช้การเสียบบัตรเช่นเดียวกัน โดยต้องมีผู้รับรอง 50 คน ทั้งนี้ ไม่มี สส.คนใดคัดค้านในประเด็นดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ก่อนการเสนอชื่อพบว่า นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน ขอใช้สิทธิอภิปราย ทำให้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นคัดค้านการใช้สิทธิอภิปรายดังกล่าว และขอให้ดำเนินการตามขั้นตอนการเสนอชื่อบุคคลให้สภาลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่
แต่ นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒนสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ทักท้วงว่า การเสนอชือดังกล่าว คือ การเสนอญัตติ ดังนั้นสส.ควรได้สิทธิอภิปราย เนื่องจากเห็นว่าญัตติการเลือกผู้นำประเทศเป็นเรื่องที่สำคัญ
นายวันมูหะมัดนอร์ วินิจฉัย ให้เสนอชื่อ โดย นายสรวงศ์ เทียนทอง สส.สระแก้ว พรรคเพื่อไทย เสนอชื่อ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นบุคคลที่สภาจะลงมติให้เป็นนายกฯ โดยมีเสียงเสียงรับรอง 291 คน และไม่มีใครเสนอชื่อบุคคลอื่น
นายวันมูหะมัดนอร์ จึงสรุปว่า แม้จะมีการเสนอชื่อเพียงคนเดียว แต่กระบวนการต้องมีการลงมติ และจะต้องได้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง คือ 248 คน
ด้าน สส. ฝ่ายค้าน ยังต้องการให้เปิดอภิปรายก่อนโหวต เพราะมองว่าเป็นวาระที่สำคัญ และก่อนหน้านี้ ชวงที่โหวต นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ นายเศรษฐา ทวีสิน ก็นับว่าเป็นญัตติและเปิดให้มีการอภิปรายแสดงความเห็น ขณะที่ สส.ฝ่ายรัฐบาล มองว่าไม่ควรมีขั้นตอนการอภิปราย เพราะกังวลว่าจะเป็นการอภิปรายที่ก้าวล่วงไปถึงกระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติผู้เสนอชื่อให้สภาลงมติ
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ฐานะประธานวิปรัฐบาล ยอมรับว่า มีการตกลงกับวิปฝ่ายค้านว่าจะให้เวลาอภิปรายสั้นๆ ไม่เกิน 20 นาที
ขณะที่ นายประยุทธ์ ศิริพานิช สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่เห็นด้วย และมองว่า เป็นการประลองปัญญากัน ทำให้ นายวันมูหะมัดนอร์ ชี้แจงว่า ไม่ใช่การประลองปัญญา แต่เป็นการหารือกันแล้วระหว่างประธานวิปรัฐบาล และวิปฝ่ายค้าน ดังนั้น จึงอยากให้คุยกันด้วยดี และการอภิปรายไม่ก้าวล่วงถึงคุณสมบัติ
“ผมขออภัยทุกคนไม่อาจทำให้ถูกใจทุกคน แต่ทำในสิ่งที่พึงปฏิบัติและทำได้ในสิ่งที่จะทำงานข้างหน้าได้ ประนีประนอมถอยคนละก้าว พรรครัฐบาลเสนอมาและฝ่ายค้านเสนอมาในแนวทางนี้ ผมขออนุญาตให้มีการอภิปรายไม่ล้ำถึงคุณสมบัติ เพราะสภาไม่สามารถตัดสินใจเรื่องดังกล่าวได้ และไม่ถามในนโยบายหรือเรื่องนั้นเรื่องนี้” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว และให้มีการอภิปรายของ สส.ก่อนการลงมติ
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ สส.บัญชีรายชื่อ ไทยสร้างไทย กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศกำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังอยู่ในช่วงขาลง ขณะที่การเมืองอยู่ในสภาวะ “ทางตัน” และเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี ที่สภาจะมีสิทธิอำนาจในการเลือกนายกฯด้วยตนเอง โดยไม่ต้องผ่านวุฒิสภา หรือรัฐสภา
“วันนี้ภูเขาอีกลูก คือ ภูเขาทางการเมืองเข้ามาทับซ้อนจนประชาชนหลายคนจะทนอยู่กับภาวะเศรษฐกิจของประเทศต่อไปได้อย่างไร มีสิ่งเรียกร้องอยากเห็นนายกณคนใหม่เข้ามาบริหารราชการแผ่นดินจะแก้ไขปัญหาประชาชนที่อยู่ในภาวะอ่อนแอได้ เขาไม่รู้ว่าจะเรียกร้องกับใครจนมีการเรียกร้องหาอำนาจที่มองไม่เห็น เราไม่อยากไปถึงจุดนั้น”
ดังนั้น เราต้องช่วยกันหาทางออกในการผ่าทางตันทางการเมืองไม่ให้เกิดขึ้นในสภาแห่งนี้เพื่อจะคงไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ของประเทศต่อไป ฝาก สส.ทุกคนวันนี้ขอให้ใช้ดุลพินิจในการลงมติต่างๆด้วยความรอบคอบคำนึงถึงผลประโยชน์ของ ประชาชนและประเทศชาติ
ด้าน นายณัฐพงษ์ อภิปรายตอนหนึ่งว่า ไม่เห็นด้วยในกระบวนการนิติสงครามที่ทำโดยกลุ่มคนชั้นนำที่ไม่ได้มาจากอำนาจประชาชน สำหรับการที่ สส.ลงมติไม่ว่าอย่างไร เชื่อว่า จะเป็นภารกิจของ สส.ทุกคน รวมถึงภารกิจของนายกฯ คนถัดไป กลับไปแก้ปัญหาที่ต้นตอ
“รัฐธรรมนูญ 2560 ถูกใช้เป็นเครื่องมือให้กลุ่มชนชั้นนำ ถือใบอำนาจทุบทำลายผู้แทนราษฎร ผู้ทรงอำนาจสูงสุดจากประชาชน ทั้งนี้ การได้นายกฯคนใหม่โดยเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายต่างๆ รวมถึงรัฐธรรมนูญรายมาตรา และ พ.ร.ป.พรรคการเมือง จัดวางตำแหน่งหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระให้เป็นไปตามหลักการสากล ให้พรรคการเมืองเกิดได้ตายยาก และทบทวนมาตรฐานจริยธรรม ให้ประชาชนตัดสิน ไม่ใช่องค์คณะบุคคล วาระที่มีร่วมกัน 3 ปี ผลักดันให้เกิดได้ การเลือกตั้ง 2570 ไม่ว่าพรรคใดชนะเลือกตั้ง สิ่งที่ผมนำเสนอเป็นพื้นฐานสำคัญให้กับระบอบประชาธิปไตยและพรรคการเมือง ทำนโยบายแก้กฎหมาย บริหารประเทศตอบเจตจำนงที่ประชาชนเลือก”
หัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวย้ำว่า การลงมติของพรรคประชาชน ลงมติไม่เห็นชอบ สงวนจุดต่าง หลักการเดียวกันที่โหวตเลือกนายเศรษฐา ทวีสิน เมื่อปีที่แล้ว ที่ไม่เห็นด้ยกับการจับขั้วตั้งรัฐบาล.
จนเมื่อถึงเวลา 11.10 น. ที่ประชุมได้สู่ขั้นตอนการลงคะแนน โดยให้สมาชิกกล่าว “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ” หรือ “งดออกเสียง” เรียงตามลำดับตัวอักษร ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ไม่ได้เข้าร่วมประชุมเพื่อลงคะแนนแต่อย่างใด