“ณัฐพงษ์” ยัน พรรคประชาชน โหวตไม่เห็นชอบ “แพทองธาร” นั่งนายกฯ เตรียมอภิปรายสอบถามความเหมาะสม-แนวทางการขับเคลื่อนประเทศ เผย งานหลัก 3 ปีหลังจากนี้ มุ่งแก้ รธน. คดียุบพรรค ถอดถอนนายกฯ รื้อจริยธรรมนักการเมือง
วันนี้ (16 ส.ค.) ที่อาคารรัฐสภา นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ถึงจุดยืนการเลือกนายกรัฐมนตรี ว่า คิดว่าในเรื่องของการโหวต หรือการรวบรวมคะแนนเสียงเพื่อเห็นชอบบุคคลที่สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นหน้าที่ของพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งจากการติดตามข่าวสาร ทราบว่า ทางพรรคร่วมรัฐบาลมีความพร้อม และได้รับการเสนอชื่อนางสาวแพทองธาร ชินวัตร เพราะฉะนั้น การทำหน้าที่ของพรรคฝ่ายค้านในวันนี้ คิดว่าจะใช้เวทีในสภาผู้แทนราษฎร ในการอภิปรายสอบถามถึงเรื่องความเหมาะสม รวมถึงเรื่องของแนวทางการขับเคลื่อนประเทศอย่างไร
นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า เนื้อหาสาระหลักต่อจากนี้ คือ การหาการทำงานร่วมกัน ระหว่างฝ่ายค้าน กับฝ่ายรัฐบาลใน 3 ปีต่อจากนี้ จะเห็นได้ชัดว่ากฎกติกาในบ้านเราหลายๆ อย่าง ยังมีปัญหาอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ คดียุพรรค การถอดถอนนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง ที่ไม่ได้เกิดขึ้นกับกรณีของนายเศรษฐาเท่านั้น แต่ในอดีตก็เคยเกิดขึ้น รวมถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมนักการเมือง ที่มีการประหารชีวิตทางการเมืองต่างๆ ถือเป็นโจทย์ของการทำงานร่วมกัน ในการแสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง มติ สส. พรรคประชาชน ยังยืนยันว่า จะโหวตไม่เห็นชอบ แต่การไม่เห็นชอบของเรา ไม่ใช่เห็นชอบในแง่ว่าคนใดเหมาะ หรือไม่เหมาะ แต่เราคิดว่าใจความสำคัญต่อจากนี้ คือการที่จะต้องกอบกู้เรื่องอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติตัวแทนของประชาชน ให้อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนจริงๆ
นายณัฐพงษ์ กล่าวถึงการมาแสดงวิสัยทัศน์ของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ว่า เป็นข้อจำกัดเนื่องจากนางสาวแพทองธาร ไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น การแสดงวิสัยทัศน์ขึ้นอยู่กับพรรคร่วมรัฐบาล และเชื่อว่าจะมีเพื่อนสมาชิกที่เป็นตัวแทนเสนอชื่อ จะให้เหตุและผลในที่ประชุมอย่างดีเพียงพอ เพราะเชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาลกลั่นกรองมาอย่างดีแล้ว
ส่วนจะต้องลงมติเรื่องการแสดงวิสัยทัศน์หรือไม่ นายณัฐพงษ์ ระบุว่า เป็นโอกาสอันดีที่จะต้อง การให้เหตุและผลการแสดงวิสัยทัศน์อย่างดีเพียงพอ และตนเองในฐานะหัวหน้าพรรคประชาชน จะต้องมีการอภิปรายสอบถามเรื่องนี้ วาระที่สำคัญต่อจากนี้อีก 3 ปี คือ การทำงานร่วมกันเพื่อกอบกู้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติตัวแทนของพี่น้องประชาชน
นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า อยากถามตรงๆ เหมือนกันว่า พรรคร่วมรัฐบาลขณะนี้ เราเห็นด้วยว่าอยากให้มีนายกฯ คนใหม่มาบริหารราชการแผ่นดิน จึงอยากสอบถามว่า เห็นด้วยหรือไม่ที่อยากเชิญชวนให้มาทำงานร่วมกันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ให้มีการจัดวางตำแหน่งที่เหมาะสมมากยิ่งขึ้น ส่วนคนที่จะอภิปรายนั้น ตนเองในฐานะหัวหน้าพรรค ต้องเป็นหนึ่งในนั้น ส่วนผู้อภิปรายท่านอื่นต้องรอดูบริบทสภาก่อน
นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า การอภิปรายในวันนี้ จะไม่หยิบยกเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตมาพูด เพราะไม่ใช่วาระการอภิปรายนโยบายรัฐบาล หัวใจหลักคืออำนาจขององค์กรอิสระ และฝ่ายตุลากร ที่มีอำนาจในการเข้ามาให้การทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหารต้องสะดุดลง ทั้งกรณีของรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง ที่พ้นหน้าที่ไปและนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ประเทศต้องเดินหน้าต่อ ดังนั้น ในฐานะพรรคประชาชน ไม่ใช่เวทีในการวิพากษ์วิจารณ์นโยบาย แต่ถ้าวันนี้ผ่านพ้นไปได้มีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เข้ามาทำหน้าที่แทน เรามีอีกหลายเวทีในฐานะพรรคฝ่ายค้าน จะทำหน้าที่ตรวจสอบเต็มที่
นายณัฐพงษ์ ระบุว่า ตนเองเคารพในความเห็นต่างของพรรคร่วมรัฐบาล ในเมื่อเรามีจุดต่างในเรื่องนี้ ก็เคารพท่าทีของเขา ขณะเดียวกันยังมีจุดร่วมร่วมกัน ที่ต้องมาแก้ไขในเรื่องของกฎกติกาบ้านเมือง
เมื่อถามถึงกระแสการมองว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะช่วยให้คำแนะนำหากนางสาวแพทองธาร เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น นายณัฐพงษ์ ระบุว่า เรื่องนายกฯ ตัวจริง หรือไม่ใช่ตัวจริง คงไม่สามารถให้ความเห็นตรงนั้นได้ แต่อยากยืนยันว่า รัฐบาลน่าจะกลั่นกรองมาอย่างดีแล้ว
นายณัฐพงษ์ ยังกล่าวถึงความเหมาะสมของนางสาวแพทองธาร เรื่องอายุ ว่า เรื่องอายุ ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ คุณสมบัติ ถ้าวันนี้นางสาวแพทองธาร ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร 3 ปีต่อจากนี้ จะเป็นเวทีพิสูจน์ความสามารถของเขา ตัวคุณสมบัติของเขา ว่า มีการบริหารราชการแผ่นดินที่ดีหรือไม่ วันนี้เร็วเกินไปที่จะวิพากษ์วิจารณ์เรื่องคุณสมบัติ ยืนยันว่า ในฐานะฝ่ายค้านจะตรวจสอบการทำงานอย่างเต็มที่ และส่วนตัวมองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะมีวาระอยู่ครบ 3 ปี
ส่วนปัจจัยอื่นๆ ที่จะทำให้พรรคร่วมรัฐบาลสะดุดนั้น ตนเองมองว่า เป็นเรื่องที่พรรคร่วมรัฐบาลต้องหารือกัน แต่บริบทในปัจจุบัน ปัจจัยสิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่า คือ การที่ฝ่ายนิติบัญญัติ หรือฝ่ายบริหาร กำลังถูกกินขอบแดนอำนาจจากฝ่ายตุลาการ และองค์กรอิสระ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราต้องหาทางออกร่วมกัน
นายณัฐพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนเองไม่มีความห่วงใดๆ เรื่องเสียงแตกในการโหวตเลือกนายกฯ ในวันนี้ เพราะ 143 เสียง จากพรรคก้าวไกลก็ย้ายมายังพรรคประชาชนอย่างพร้อมเพรียง