ป.ป.ช. ลุยร้อยเอ็ด ติดตามปัญหา รุกป่าคำใหญ่-คำขวาง รองเลขา ป.ป.ช. หวัง สร้างวัคซีนชาวบ้าน ช่วยกันปกป้องป่า ยก ป่าชุมชนดงทำเลเป็นโมเดล
วันนี้ (14ส.ค.) ที่โรงแรมร้อยเอ็ด โฮเทล สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือป.ป.ช.จัดโครงการสื่อมวลชนสัมพันธ์ นำสื่อมวลชน เตรียมลงพื้นที่ติดตามปัญหาการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคำใหญ่-คำขวาง ที่อำเภออาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด รวมถึงประเด็นการลักลอบตัดไม้พะยุงในเขตอนุรักษ์ป่าชุมชน ดงทำเล-ดอนใหญ่อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ระหว่างวันที่ 14 -16 สิงหาคม 2567
โดยวันนี้ได้มีการจัดเสวนาในประเด็น “สถิติคดีและเรื่องร้องเรียนของสำนักงานป.ป.ช.ภาค 4 และ ” กรณีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคำใหญ่-คำขวาง และกรณีลักลอบตัดไม้พะยุงในเขตอนุรักษ์ป่าชุมชนดงทำเล ดอนใหญ่” ซึ่งเป็นการติดตามผลการดำเนินการ หลังมีการร้องเรียน และตรวจสอบการอ้างเอกสิทธิ์ สค.1 เพื่อขอออกโฉนดที่ดิน ทับพื้นที่ป่าคำใหญ่-คำขวาง ซึ่งมีปัญหาทั้งสิ้น 21 แปลง โดยทางป.ป.ช.ได้ดำเนินการตรวจสอบ ร่วมกับสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 7 (ขอนแก่น) และสำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานป.ป.ช. และมีการแปลภาพถ่ายทางอากาศ พบว่า ทั้ง 21 แปลงไม่ได้อยู่ในแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามที่มีการร้องเรียนแต่อย่างใด แต่พบว่า มีการอ้างเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ ซึ่งจากการตรวจสอบ อยู่ระหว่างการตรวจสอบรังวัดของเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน ยังไม่ถึงขั้นออกเป็นโฉนดที่ดินได้ และหลายพื้นที่ได้มีการถอนการขอออกโฉนดที่ดินไปแล้ว
นายสนธยา วีระไทย ผู้อำนวยการกรมไต่สวน 2 สำนักไต่สวนคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ดังกล่าวเกิดมี 3 ประเภท คือ 1. ประชาชนบุกรุกโดยที่ไม่ได้มีเอกสารสิทธิ์ 2. ผู้ที่อ้างเอกสารสิทธิ์สค.1 เพื่อหวังออกเป็นโฉนดที่ดิน และ 3. ผู้ที่บุกรุกเพื่อขายต่อให้กับผู้อื่น พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า เดิมพื้นที่ปากคำใหญ่ - คำขวาง ทั้งหมด เป็นพื้นที่ป่าสงวนและมีการเข้าสู่การปฏิรูปที่ดิน หรือ ส.ป.ก.ทั้งหมด เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีสิทธิ์ทำกิน แต่สุดท้ายส.ป.ก. ไม่ได้ดำเนินการ จึงต้องส่งคืนกลับให้เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จึงตั้งข้อสังเกต ว่า เป็นช่องว่างให้ประชาชนเข้ามาอ้างสิทธิ์ครอบครองเพื่อออกเป็นโฉนด ทั้งนี้ ไม่พบว่าเป็นการบุกรุกเพื่อใช้พื้นที่ในเรื่องเศรษฐกิจการท่องเที่ยว เช่นการทำรีสอร์ท หรือสถานที่ท่องเที่ยว แต่เป็นการหาพื้นที่เพื่อสร้างผลผลิตทางการเกษตร ป้อนโรงงาน ประกอบกับคนรุ่นใหม่ที่เป็นลูกหลานเจ้าของพื้นที่ ไม่ต้องการทำการเกษตร ก็จะนำที่ดิน ไปแอบขายให้นายทุนที่มาแสวงหาผลประโยชน์
นายประทีบ จูฑะศร รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.ภาค 4 กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ ป.ป.ช.ต้องการ ป้องปราม ซึ่งเป็นมาตรการการเฝ้าระวังของสำนักงาน ป.ป.ช โดยบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง และเป็นการเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ระมัดระวังการทำหน้าที่ ไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในการกระทำผิด
ซึ่ง ป.ป.ช. เน้นการเฝ้าระวัง เปรียบเสมือนเป็นหมอทำหน้าที่ฉีดวัคซีน แต่หากไม่สามารถป้องกันได้ ก็ต้องทำการรักษา แต่หากรักษาไม่ได้ ต้องทำการ ฌาปนกิจ ก็คือการชี้มูลแจ้งข้อกล่าวหา ตามกระบวนการยืนยันว่าป.ป.ช.ทำหน้าที่โดยไม่ละเว้น แม้แต่คดีของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีหลายคนก็เคยถูกป.ป.ช. ชี้มูลความผิดมาแล้ว
สำหรับภาพรวมคดีทุจริตการทุจริตทรัพยากรธรรมชาติจะมีความซ้ำซ้อน โดยจะมี 2 กลุ่มคนที่เข้าไปเกี่ยวข้องคือเจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่จัดการดูแลรักษาพื้นที่แต่เข้าไปหาประโยชน์ และเอกชนที่เข้าไปหาประโยชน์ ดังนั้นลักษณะการร้องเรียนจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐละเว้นใส่เกียร์ว่างหรือเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มคนที่เข้าไปแสวงหาผลประโยชน์
ส่วนกลุ่มคนที่บุกรุกที่ดินรัฐคือกลุ่มคนจนไม่มีที่ดินทำกิน กลัวอดไม่กลัวโดนจับเพราะหากไม่ทำกินก็ไม่มีกิน ซึ่งรัฐก็มีมาตรการในการผ่อนผันจัดที่ดินทำกินให้ ส่วนกลุ่มที่ 2 คือกลุ่มที่รวยมากๆมีอำนาจต่อรอง มีบารมีมีสถานะทางเศรษฐกิจการเงินที่ดี ในการขับเคลื่อนเข้าไปเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติที่ต้องการ โดยในช่วงปลายปี 2566 จากการลงพื้นที่ป่าคำใหญ่-คำขวาง ด้านเหนือสุดจังหวัดหนองคาย พบว่าสภาพป่าไม่ใช่ป่ารกทึบ เป็นลักษณะป่าเกิดใหม่ผ่านการแผ้วถางเข้าทำประโยชน์ แสดงให้เห็นว่ามีคนเข้าไปแผ้วถางทำประโยชน์มาก่อน ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาความสามารถทำประโยชน์ได้หรือไม่ เช่นเข้าไปทำกิน ปลูกยูคาลิปตัส โดยประชาชนในพื้นที่ให้ข้อมูลว่าที่ดินเกือบทุกแปลงมีเจ้าของ มีร่องรอยการทำประโยชน์ และบางจุดเจอหลัก สปก. ในภายหลังกรมป่าไม้ยกเลิกไปแล้ว ยอมรับว่ามีการบุกรุกมานานแล้ว โดยสิ่งที่น่าสนใจคือบางคนต้องการเข้าไปใช้ประโยชน์แต่อีกกลุ่มหนึ่งที่มีอำนาจ อยากได้เอกสารสิทธิ์ตามกฎหมายที่ดิน ก็พยายามเสาะแสวงหาเอกสารครอบครอง สค.1 เพื่อจะนำไปออกเอกสารสิทธิ์เป็นโฉนดที่ดินได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ดิน อ.อาจสามารถ มีกระบวนการตรวจสอบอย่างเข้มข้น พบ สค.1 ไม่ตรงแปลง จึงไม่สามารถออกเอกสารได้ ปัจจุบันมีเพียง 1-2 แปลงที่อยู่ระหว่างดำเนินการ และได้ยกเลิกการขอเอกสารไปแล้ว 9 แปลง ก่อนหน้าที่ ป.ป.ช.จะลงพื้นที่ตรวจสอบ
ทั้งนี้คณะกรรมการ จะมองแต่การปราบปราม ก็คงไม่สามารถปราบได้หมด เพราะการหาเอกสารหลักฐานเป็นเรื่องที่ยาก จึงมาสร้างเครือข่ายประชาชนเพื่อนำไปสู่การป้องกัน ซึ่งคณะกรรมการป.ป.ช. มีคณะกรรมการผลักดันแก้ไขปัญหา การทุจริตในพื้นที่ ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็น ประธานเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการทุจริต เป็นการบูรณาการร่วมกัน ในการตรวจสอบ
โดยในช่วงท้ายของการเสวนา มีตัวแทนภาคประชาชน ได้เสนอข้อมูลต่อที่ประชุมว่า ในปัจจุบันนี้ แรงจูงใจในการบุกรุกป่า ว่า เป็นคนที่มาจากนอกพื้นที่ และไม่ได้ต้องการจับจองเพราะเป็นที่อยู่อาศัย แต่มีแรงจูงใจจากทรัพย์มูลค่าในป่าคำขวาง เช่น ไม้พะยุง แต่เมื่อตัดไม้พะยุงเสร็จ ก็มาตัดไม้ชิงชัง และต้นยางนา จนมาถึงขณะนี้ พอไม้ใหญ่ใหญ่ในป่าหมด ก็ตัดไม้รวมทุกชนิด เพื่อนำมาขาย ซึ่งขณะนี้มีร้านรับซื้อไม้ 20-30 จุดไม่รู้ว่าหน่วยงาน ป.ป.ช.ทราบหรือไม่