เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2567 ที่โรงแรมเอเชีย กรุงเทพ เครือข่ายนักวิชาการ ภาคประชาสังคม เด็กและเยาวชน และสื่อมวลชน จัดเวทีวิพากษ์ “ร่าง พรบ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. ...” หลังจากที่กระทรวงการคลังเปิดรับฟังความคิดเห็นออนไลน์ ระหว่าง 2 – 18 ส.ค. 2567 และประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รับรู้ข้อมูลอย่างทั่วถึง
นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนันว่า
“มีข้อสังเกตต่อร่างพ.ร.บ.นี้ 3 ประเด็น คือ 1.ไม่ตรงปก - ที่บอกว่าจะเป็น Mega Project แบบสิงคโปร์ มีศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ โรงแรมระดับห้าดาว และห้างสรรพสินค้าครบวงจร มีหน่วยงานกำกับดูแลที่มั่นใจได้ และมีการป้องกันเยียวยาและลดผลกระทบ แต่เนื้อหาใน ร่าง พรบ. นี้กลับตัดหรือลดทอน รายละเอียดต่าง ๆ ลงไปมาก มีแค่ห้างและ โรงแรมเล็ก ๆ ก็ได้ไม่ต้อง 5 ดาว ศูนย์การประชุมนานาชาติไม่ต้องมี ที่สำคัญคือที่เคยบอกว่าจะมีหน่วยงานและมาตรการดูแลเพื่อลดปัญหาลดผลกระทบ กลับว่างไป หมวดกองทุนที่กมธ.ศึกษาเสนอไว้ก็ถูกตัดทิ้งทั้งหมวด 2.ตีเช็คเปล่า – ร่างนี้ให้อำนาจคณะกรรมการนโยบาย หรือ Super Board อย่างล้นฟ้า รวบอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ จะออกใบอนุญาตให้ใคร ตั้งที่ไหน พื้นที่ขนาดเท่าไร จ่ายภาษีกี่เปอร์เซ็นต์ และขจัดกฎหมายที่เป็นอุปสรรคได้แทบทั้งหมด ที่สำคัญร่าง พรบ. นี้ตัดมาตรว่าด้วยการรับฟังความเห็นประชาชนผู้เป็นเจ้าของพื้นที่ออกไป เอื้อทุนใหญ่ 3.เอื้อกลุ่มทุน โดยกำหนดว่าผู้รับใบอนุญาตต้องมีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว 10,000 ล้านบาท โดยไม่ต้องประมูล สัญญายาวไป 30 ปี เป็นทุนต่างด้าวก็ได้รับข้อยกเว้น แถมเปิดช่องให้ข้อยกเว้นทุกอย่างอยู่ภายใต้การอนุมัติของซุปเปอร์บอร์ด ที่น่าตกใจคืออนุญาตให้กาสิโนปล่อยเงินกู้ได้ด้วย ใครที่เข้ามาเล่นกาสิโนแล้วหมดตัวก็กู้ได้ด้วย แถมเป็นหนี้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ร่างพ.ร.บ.จึงนับว่ายังมีจุดอ่อนอยู่มาก ยังไม่สมควรผ่านให้นำไปบังคับใช้” นายธนากร กล่าว
นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ สื่อมวลชนอาวุโส แสดงความเห็นว่า “การที่รัฐบาลผลักดันให้เกิด ร่าง พรบ. กาสิโนถูกฎหมาย อาจเพราะคิดว่ารายได้จากธุรกิจกาสิโนนี้จะสร้างเม็ดเงินให้เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศ อีกทั้งนักการเมืองบางส่วนก็อาจจะอยากให้พื้นที่ของตนเองมีธุรกิจกาสิโนไปตั้ง เพราะเป็นการสร้างมูลค่าให้พื้นที่ตน จึงอยากจะใช้เวทีนี้ ถามกลับไปยังรัฐบาลว่า กาสิโนถูกกฎหมาย ช่วยกระตุ้นนักท่องเที่ยว กระตุ้นการลงทุนในประเทศ พัฒนาสังคมได้จริงหรือ ?? เพราะหากต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวเมืองไทยเรามีศิลปวัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ วิถีชีวิต และ Street Food ที่มีแรงดึงดูดมาก โดยไม่ต้องไปตั้งอยู่ในสถานบันเทิงครบวงจรเลย และที่สำคัญ ร่าง พรบ. นี้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นแค่ทางออนไลน์ ดูเป็นการเร่งรีบทำมากกว่าที่จะเปิดโอกาสให้สาธารณชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการรับรู้อย่างแท้จริง จึงอยากจะฝากให้เครือข่ายภาคประชาชน นักวิชาการ ผู้นำทางศาสนา เครือข่ายเด็กเยาวชน และผู้หญิง ได้ออกมาแสดงบทบาท เคลื่อนไหว แสดงความคิดเห็นต่อ ร่าง พรบ. นี้อย่างเต็มที่”
ด้าน ผศ.ดร.ชิดตะวัน ชนะกุล นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ตั้งคำถามต่อว่า “รัฐบาลต้องการอะไรจากการผลักดันให้กาสิโนถูกฎหมาย ถ้าจะส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ต้องมีการพัฒนาทั้ง 3 มิติ คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว วารสารวิชาการของสหรัฐอเมริกา ตีแผ่ข้อเท็จจริงว่า ‘พื้นที่ใดที่มีแหล่งพนันถูกฎหมาย ประชากรในพื้นที่นั้นจะมีปัญหามากที่สุด ทั้ง หนี้ครัวเรือน สถาบันครอบครัวล่มสลาย อาชญากรรมเต็มเมือง’ นอกจากนี้ยังระบุอีกว่ามูลค่าที่เกิดจากกาสิโนได้ไม่คุ้มเสีย !!! เพราะ 1 ดอลล่าร์ที่ได้จากภาษีกาสิโน รัฐ USA ต้องเสีย 3 ดอลล่าร์ในการเยียวยาลดผลกระทบ และที่สำคัญในประเทศที่ยังมีปัญหาด้านคอร์รัปชั่นรุนแรง การบังคับใช้กฎหมายที่หย่อนยาน การให้มีกาสิโนจะทำให้เกิดหายนะที่ยิ่งใหญ่เป็นทวีคูณ จึงอยากจะถามไปยังรัฐบาลว่าประเทศไทยเราพร้อมแล้วหรือที่จะมีกาสิโนถูกฎหมาย เพราะส่วนตัวเห็นว่าเมืองไทยยังไม่มีความพร้อมใด ๆ เลย ณ ขณะนี้”
รศ.ดร. นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน กล่าวว่า “ร่าง พรบ. นี้ เริ่มต้นจะเป็นสถานบันเทิงครบวงจร แต่เนื้อหาส่วนใหญ่ของ พรบ. กลับพูดถึงแต่ธุรกิจกาสิโน พอดูถึงเอกสาร “บัญชีแนบท้าย” ประเภทของธุรกิจสถานบันเทิง ที่พยายามลดขนาดและมาตรฐานของธุรกิจอื่น ๆ ทั้ง ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ให้มาตรฐานลดลง และการยกเลิกกองทุนลดผลกระทบทางสังคม โดยไม่มีการตั้งหน่วยงานชัดเจนเข้ามาดูแลจริงจัง กลับปล่อยให้เป็นผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้สร้างผลกระทบมาเป็นผู้ดูแลผลกระทบเอง ซึ่งขัดต่อหลักการบริหารจัดการที่ดี อีกทั้งค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่เรียกเก็บก็กำหนดไว้หลวม ๆ เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา เพื่อเอื้อผลประโยชน์กับพรรคพวกของตนเอง เข้าข่ายการ ‘ตีเช็คเปล่า’ ร่าง พรบ. ฉบับนี้ดูจะคาดหวังให้เป็นคนในประเทศมาเล่นมากกว่านักท่องเที่ยว จึงอยากจะฝากไปยังผู้เกี่ยวข้องให้ระมัดระวัง การทำธุรกิจกาสิโนต้องป้องกันไม่ให้คนในประเทศมาเล่นพนันจนเต็มเมือง เพราะสุดท้ายกรรมจะตกอยู่ที่ชาวบ้านและชุมชน ที่สำคัญ ถ้าจะยึดแบบสิงคโปร์โมเดล ในประเทศสิงคโปร์มีความเข้มงวดเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย และไม่มีปัญหาคอร์รัปชั่น ส่วนประเทศไทยเรายังมีปัจจัยที่เป็นปัญหาเหล่านี้อยู่ การมีกาสิโนถูกฎหมายจึงเป็นการซ้ำเติมประเทศมากกว่าการพัฒนาเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวแน่นอน”