ก.พ.ร. เปิดผล 6 เดือน ลงพื้นที่ 5 จังหวัดนำร่อง ฟื้น “ผู้ว่าซีอีโอ” ฉบับรัฐบาลเพื่อไทย “ซีอีโออุบลฯ” ศก.ชายแดน “ซีอีโอบุรีรัมย์” ขจัดหนี้นอกระบบ “ซีอีโอขอนแก่น” นครดิจิทัล “ซีอีโอเชียงราย” จังหวัดสีเขียว และ “ซีอีโอเพชรบุรี” จังหวัดสะอาด พบปัญหาเพียบ ยกกรณีกฎหมายไม่ให้อำนาจผู้ว่าฯ แก้ไฟป่าในเขตอุทยาน-ป่าอนุรักษ์ หรือ กรณี เสาอัจฉริยะขอนแก่น หวั่นเปิดทางขัดกันแห่งผลประโยชน์
วันนี้ (13 ส.ค. 2567) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้า ต่อนโยบายรัฐบาล พรรคเพื่อไทย เพื่อฟื้น ผู้ว่าราชการจังหวัดแบบบูรณาการ “ผู้ว่าซีอีโอ” ด้วยการกระจายอำนาจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานเชิงพื้นที่ของผู้ว่าฯ
ล่าสุด คณะทำงาน ในคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการ (อนุฯ ก.พ.ร.) สำนักงาน ก.พ.ร. และกระทรวงมหาดไทย ได้รายงานผลการลงพื้นที่ “นำร่อง” 5 จังหวัด
ตามแผนการขับเคลื่อนการบริหารงานเชิงพื้นที่ ประกอบด้วย จ.เชียงราย ขอนแก่น บุรีรัมย์ อุบลราชธานี และเพชรบุรี ตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่่ผ่านมา
โดย ขั้นตอนต่อไป 5 จังหวัดทดลอง จะขับเคลื่อนกันเองภายในพื้นที่ ร่วมกับราชการบริหารส่วนภูมิภาคโดยตรง (ส่วนราชการประจำจังหวัด)
และบูรณาการความร่วมมือกับส่วนราชการอื่น และภาคส่วนอื่นภายในจังหวัด (ส่วนราชการส่วนกลาง/ท้องถิ่น/เอกชน/ประชาสังคม) ภายในเดือน ส.ค.
ก.พ.ร. และ มท. จะประสาน หารือหน่วยงานส่วนกลาง เช่น กรมป่าไม้/กรมอุทยานฯ กระทรวงการคลัง/กรมธนารักษ์
ในกรณีภารกิจที่ต้องการขับเคลื่อนในระดับนโยบายจากส่วนกลาง กรณีเกินศักยภาพของพื้นที่ ภายในเดือน ส.ค.นี้ ก่อนจะสรุปผลการทดลอง และจัดทำข้อเสนอ เพื่อ อ.ก.พ.ร. พิจารณา ภายในเดือน ก.ย. 2567
สำหรับ รายงานผผลการลงพื้นที่ ต่อแผนการขับเคลื่อนข้อเสนอ ผู้ว่าซีอีโอ หรือ “Model” การขับเคลื่อนฯ พบว่า
กรณีของ จ.เชียงราย เป้าหมายจังหวัดสีเขียว : อากาศสะอาด ในพื้นที่ ภายหลังมอบหมายให้ผู้ว่าฯ ออกแบบแนวทางการดูแลรักษาป่า ที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่
“เช่น การปรับปรุงกฎ/ระเบียบ ให้สามารถจังหวัดมีอำนาจพิจารณานำเครื่องจักรกล เข้าไปในพื้นที่ปาเพื่อจัดทำแนวกันไฟ (A1)”
จากหารือพบว่า การขออนุญาตและการอนุญาตทำประโยชน์ ในเขตพื้นที่ป่า มีแตกต่างกัน จะอยู่ในอำนาจกฎหมาย ของกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุพืช
“กรณีของพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งอยู่ภายใต้ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ไม่มีมาตราใดที่มอบอำนาจให้แก่ผู้ราชการจังหวัด หรือ เจ้าหน้าที่สามารถทำประโยชน์ในเขตป่าอนุรักษ์ได้”
ตาม พ.ร.บ.อุทยานฯ ระบุว่า ผู้ใดเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ เพื่อการกระทำการตาม มาตรา 19 (2)(5)(6) หรือ (7) แห่งพระราชบัญญ้ติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดี
มีเหตุผลว่า อาจเนื่องมาจากพื้นที่ป่าอนุรักษ์เป็นพื้นที่อ่อนไหว (Sensitive Area) ต่อการเกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีโอกาสเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงลบ
หากได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องระบบนิเวศ การดำเนินการใดในพื้นที่อาจล่งผลกระทบสูงต่อสัตว์ป่า และระบบนิเวศในพื้นที่ จึงต้องได้รับการอนุญาตจากผู้มีอำนาจสูงสุด เท่านั้น
รายงานยังยกกรณีของพื้นที่ วัดพุทธอุทยานดอยอินทรีย์ ต.ดอยฮาง อ.เมืองเชียงราย ที่ตั้งอยู่ใน 2 เขตพื้นที่ ป่าอนุรักษ์ /ป่าสงวน ซึ่งตั้งอยู่เขตห้ามล่าสัตว์
“หากวัดต้องการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ เช่น ทำแนวกันไฟ ในพื้นที่บริเวณวัดจะต้องทำเรื่องขออนุมัติไปยังอธิบดีกรมอุทยานฯ และในพื้นที่บริเวณรอบวัดจะต้องทำเรื่องไปยัง ผอ.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 เท่านั้น”
กรณีของ จ.ขอนแก่น “จังหวัดดิจิทัล” เช่น การติดตั้งเสาอัจฉริยะ (Smart Pole) และอุปกรณ์เทคโนโลยีดิจิทัลตามแนว ถ.ศรีจันทร์ ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น (B1)
จากการหารือ บริษัท ขอนแก่นอินโนเวซัน เซ็นเตอรี จำกัด (KIC) สรุปได้ว่า กรณี Smart Pole ที่เอกชนสร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้รัฐ เทศบาลนครขอนแก่นในฐานะผู้รับผิดขอบพื้นที่
สามารถรับ Smart pole มาใช้ประโยชน์และบริหารจัดการได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องขึ้นทะเบียนกับกรมธนารักษ์ และให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า
“เมื่อเทศบาลรับ smart pole มาแล้ว จะนำมาให้เอกชนบริหารจัดการสามารถกระทำได้ แต่ไม่ควรเป็นภาคเอกชนที่เป็นผู้อุทิศให้มาบริหารจัดการ เนื่องจากอาจจะเข้าหลักการขัดกันแห่งผลประโยชน์ได้”
ส่วนการอนุมัติ/อนุญาตใช้พื้นที่ “รอบบึงแก่นนคร” ในการก่อสร้างทางวิ่ง (Test track) ขนาดเท่าของจริง สำหรับกรณีศึกษารถไฟฟ้ารางเบา (LRT)
ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ภายใต้พื้นที่ของเทศบาลนครขอนแก่น (B2)
จากการหารือผู้เกี่ยวข้อง การดำเนินโครงการพัฒนาทดลองระบบราง และต้นแบบ “รถแทรมขนาดเท่าของจริง” รอบบึงแก่นนคร ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น
ในเบื้องต้นได้ข้อสรุปว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ และเป็นพื้นที่ป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484
“เทศบาลนครขอนแก่น จะต้องดำเนินการขออนุญาตทำประโยชน์ในเขตป่า ทั้งนี้ ในกระบวนการขออนุญาต กับอธิบดีกรมป่าไม้ และ ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ไม่ใช่ ผู้ว่าฯ ขอนแก่น”
อย่างไรก็ตาม ต้องทำความเห็นเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาอนุญาต
กรณีของ จ.บุรีรัมย์ “จังหวัดขจัดหนี้ (นอกระบบ)” มีการขับเคลื่อนการสนับสนุนให้เจ้าหนี้นอกระบบขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับ จังหวัด ภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) (C1)
จากการหารือ พบว่า ผลลัพธ์ที่เกิดจากการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ ยังไม่สามารถแกไขปัญหาภาระหนี้ของลูกหนี้และการกระทำผิดกฎหมายของเจ้าหนี้นอกระบบที่เกิดขึ้นซํ้าแล้วซํ้าอีก
เนื่องจากการใช้กลไกและเครื่องมือที่จะช่วยให้ลูกหนี้ สามารถขอสินเชื่อในระบบได้ หรือการเปิดช่องทางให้เจ้าหนี้นอกระบบ สามารถจดทะเบียนเป็นผู้ให้สินเชื่อในระบบ
“ยังมีเพียงรูปแบบการประชาสัมพันธ์ การให้คำปรึกษาทางเลือก ในการจัดการหนี้สิน และการให้ความรู้ ทางการเงินเบื้องต้นผ่านกลไกการจัด “ตลาดนัดแก้หนี้” ในพื้นที่ระดับอำเภอ ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มเปัาหมาย (ทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
กรณีของ จ.อุบลราชธานี จังหวัดเศรษฐกิจขายแดน พบว่า ข้อเสนอการปรับประกาศของ ก.พาณิชย์ เพื่อให้สามารถนำเข้ามันสำปะหลังผ่านด่านศุลกากรเขมราฐ จ.อุบลราชธานี ได้เพิ่มอีก 1 ด่าน (D1) ยังไม่ได้รับการพิจารณา
ขณะที่การพัฒนาพื้นที่จุดผ่านแดนถาวรช่องเม็ก รวมถึงข้อเสนอขออนุมัติปรับลด/ยกเว้น ค้าเช่าอาคารราชพัสดุเพื่อสร้างแรงจูงใจนักลงทุนให้ดำเนินการประมูลสิทธิการเช่าอาคารที่ราชพัสดุ มีแนวคิดจะขอยกเว้นค้าเช่า เป็นระยะเวลา 3 ปี
อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 ส่วน จะต้องมีความชัดเจนเรื่องการอนุญาต ใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติก่อน จะดำเนินการเปิดประมูลสิทธิการเช่าอาคารที่ราชพัสดุ
กรณีของ จ.เพชรบุรี “จังหวัดสะอาด-การจัดการขยะ” ในการปรับปรุงชั้นตอนในการขนขยะข้ามเขตจังหวัด (E1) ซึ่งสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดเพชรบุรี ระบุว่า ยังไม่พบปัญหาอุปสรรคจากการดำเนินการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ปอท.) ในพื้นที่
“อยู่ระหว่างเสนอปลัดกระทรวงมหาดไทย พิจารณาลงนามเกี่ยวกับการกำหนดแนวทางการรวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการมูลฝอย (Clusters) ของ อปท.เพื่อแจ้งจังหวัด”
กรณีการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย (E2) กระบวนการอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นประกอบการจัดทำร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย พ.ศ....
“อยู่ระหว่างสรุปเพื่อเผยแพร่ผ่านระบบกลางทางกฎหมาย เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย (RIA) และเสนอ รมว.มหาดไทย พิจารณาลงนาม เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป”