ลุ้นพรุ่งนี้ 9 ตุลาการศาล รธน.ชี้ชะตา “เศรษฐา” ปมตั้ง “พิชิต” ผิดมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่ ศาล รธน.คุมเข้มมาตรการรักษาความปลอดภัย กำหนดห้ามผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้าพื้นที่ควบคุม อ่านคำวินิจฉัยบ่ายสาม
วันนี้ (13 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันพรุ่งนี้ (14 ส.ค.) คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนัดแถลงด้วยวาจา ประชุมปรึกษาหารือ ลงมติและออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยในคดีที่ คดีที่ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องของสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 40 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160(4) และ (5) หรือไม่ จากกรณีนายเศรษฐา ได้นำความกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่านายพิชิตขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริตและมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐาสิ้นสุดลงได้
โดยในเวลา 09.30 น. ศาลจะเริ่มประชุมแถลงด้วยวาจา ลงมติ และจัดทำคำวินิจฉัย ก่อนออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังในเวลา 15.00 น.ตามที่นัดหมาย
คดีนี้ประเด็นที่ศาลจะวินิจฉัย คือ การที่นายเศรษฐา นำความกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น นายเศรษฐา รู้หรือควรรู้ มีเจตนาหรือไม่ที่เสนอชื่อนายพิชิต ซึ่งศาลฎีกาเคยมีคำสั่งจำคุก 6 เดือน ฐานะละเมิดอำนาจศาล ขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี
โดยแนววินิจฉัยหากศาลฯเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ก็จะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา สิ้นสุดลงเฉพาะตัว โดยมีผลให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งไปด้วย แต่หากศาลฯยกคำร้อง นายเศรษฐา ก็จะปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อไป
ทั้งนี้ การจัดมาตรการรักษาความปลอดภัยเพื่อรองรับการวินิจฉัยคดี พบว่า ในวันนี้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้คุมเข้มมาตรการความปลอดภัยโดยรอบอาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (อาคาร A) ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ตามประกาศศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องอาณาบริเวณหรือพื้นที่ที่กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญ และสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติงาน รักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อย ฉบับลงวันที่ 31ก.ค. 67 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันพุธที่ 14 ส.ค.ตั้งแต่เวลา 00.01-23.59 น.
โดยกำหนดห้ามผู้ใดเข้ามาในพื้นที่ควบคุม เว้นแต่ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้มาปฏิบัติงาน หรือมาติดต่อราชการ และต้องผ่านการตรวจตัวบุคคลและสิ่งของที่นำมา ตามวิธีการของเจ้าหน้าที่ด้านการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อย เนื่องจากอาจมีสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยเกิดขึ้น โดยมีการนำแผงรั้วเหล็กมากั้นโดยรอบพื้นที่ทั้งด้านในและด้านนอกอาคาร และประสานทางกองบังคับการตำรวจนครบาล 2 และ สน.ทุ่งสองห้อง จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้ามาดูแลความปลอดภัยโดยรอบอาคารสถาน เช่นเดียวกับวันอ่านคำวินิจฉัยในคดีสำคัญๆ ที่ผ่านมา
ขณะที่บุุคคลที่จะเข้ารับฟังการอ่านคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญอนุญาตให้เฉพาะคู่กรณีและบุคคลที่เกี่ยวข้องเท่านั้น โดยจะต้องแลกบัตร ฝากสิ่งของ อาทิ กระเป๋า โทรศัพท์มือถือ เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ รวมทั้งต้องผ่านจุดตรวจค้นอาวุธ ซึ่งจะอยู่บริเวณเชิงบันไดทางขึ้นห้องพิจารณาคดี นอกจากนี้ ทางสำนักงานฯ ยังได้อำนวยความสะดวกให้สื่อมวลชนและประชาชนที่เดินทางมารับฟังคำวินิจฉัยด้วยตัวเองด้วยการติดตั้งจอทีวีพร้อมลำโพงไว้เพื่อถ่ายทอดการอ่านคำวินิจฉัย จำนวน 2 จุดใหญ่ คือ ที่บริเวณโถงกลาง ชั้น 2 และบริเวณเชิงบันไดด้านนอกอาคาร ฝั่งทิศเหนือของ อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (อาคาร A) ส่วนประชาชนทั่วไป สามารถติดตามผลการอ่านคำวินิจฉัยผ่านช่องทางยูทูบของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป
สำหรับคดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 6 ต่อ 3 รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 67 โดยตุลาการเสียงข้างน้อยที่เห็นว่าไม่ควรรับคำร้องไว้ ประกอบด้วย นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาล นายอุดม รัฐอมฤต และ นายสุเมธ รอยกุลเจริญ และมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ไม่สั่งนายเศรษฐา หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย ที่เห็นว่า นายกฯ ควรหยุดปฏิบัติหน้าที่ ประกอบด้วย นายปัญญา อุดชาชน, นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม, นายวิรุฬห์ แสงเทียน และ นายจิรนิติ หะวานนท์ หลังจากนั้น ศาลได้เปิดให้คู่กรณียื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา และแถลงปิดคดีรวมระยะเวลาการพิจารณานับรับคำร้องจนถึงวินิจฉัยรวม 2 เดือนเศษ