เริ่มแล้ววันนี้! “รัดเกล้า” เชิญชมและช้อปภายในงาน “แพรพัสตรา บรมราชินีนาถ” ร่วมสืบสานและส่งเสริมงานหัตถศิลป์ หัตถกรรมของไทย ยกระดับ “ผ้าไทย” สู่สายตานานาชาติ 12-18 สิงหาคม 2567 นี้ ณ ลานพาร์ค พารากอน
วันที่ 12 สิงหาคม 2567 นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันแม่แสนคึกคัก คนพาแม่มาเดินงาน “แพรพัสตรา บรมราชินีนาถ” จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) แค่ช่วงเช้าวันแรกแล้วหลายพันคน
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วธ. ร่วมกับหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน และภาคีเครือข่ายทางวัฒนธรรม จัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2567 ในชื่องาน “แพรพัสตรา บรมราชินีนาถ” ระหว่างวันที่ 12-18 สิงหาคม 2567 เวลา 11.00-21.00 น. ณ ลานพาร์ค พารากอน ชั้นเอ็ม ศูนย์การค้าสยามพารากอน
โดยการจัดงานภายใต้ชื่องาน “แพรพัสตรา บรมราชินีนาถ” เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรชาวไทย ทรงอนุรักษ์ ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมของชาติ ส่งเสริมงานหัตถศิลป์ และงานหัตถกรรมของไทย รวมถึงทรงอนุรักษ์ ส่งเสริมมรดกภูมิปัญญา “ผ้าไทย” ยกระดับผ้าไทยให้มีความโดดเด่นจนเป็นที่ประจักษ์แก่สายตานานาชาติ
ทั้งนี้ ภายในงานยังจัดให้มีนิทรรศการนำเสนอความเป็นมาของวันผ้าไทยแห่งชาติ รวมถึงจัดแสดงผ้าไทยลายอัตลักษณ์ 76 จังหวัด อาทิ ผ้าลายดอกสัก จังหวัดแพร่ ภาคเหนือ ผ้าลายแก้วมุกดา จังหวัดมุกดาหาร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผ้าลายราชบุรี หรือลายกาบโอ่งนกคู่ จังหวัดราชบุรี ภาคกลาง และผ้าลายปะการังและท้องทะเล จังหวัดภูเก็ต ภาคใต้ เป็นต้น ตลอดจนนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม (CPOT) ที่สร้างสรรค์ต่อยอดจากผ้าไทย รวมถึงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ถึงพระราชกรณียกิจของพระองค์ที่มีต่องานหัตถศิลป์ งานหัตถกรรมของไทย และผ้าไทยนานัปการ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมให้ชม ช้อป และเพลิดเพลินไปกับการแสดงและสาธิตศิลปวัฒนธรรมต่างๆ อีกด้วย
“เชิญชวนประชาชนพาคุณแม่ และครอบครัวไปเที่ยวงานแพรพัสตรา บรมราชินีนาถ กันเยอะๆ มีเวลาเที่ยวได้จนถึง 18 สิงหาคมนี้ โดยภายในงานมีกิจกรรมมากมายทั้งนิทรรศการ การแสดงศิลปวัฒนธรรม แฟชั่นโชว์ผ้าไทย เพื่อร่วมรักษาและต่อยอดศิลปวัฒนธรรมของชาติ นำต้นทุนทางวัฒนธรรมสร้างคุณค่าและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่น ร่วมยกระดับผ้าไทยสู่สายตาชาวโลก” นางรัดเกล้า กล่าว