นายก ฯ หนุนโครงการ “ที่พักใจให้เยาวชน” สธ.นำร่องดูแลสุขภาพจิตนักเรียนกว่า 4,000 คน ผ่านแอปฯ “อูก้า” (ooca) โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
วันนี้ (8 ส.ค.) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ให้ความสำคัญกับข้อเสนอของคณะสภาเด็กและเยาวชนฯ ที่ได้เสนอประเด็นปัญหาเร่งด่วนที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนไทย เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยประเด็นปัญหาสุขภาพจิต เป็นหนึ่งในข้อเสนอจากมติสมัชชาเด็กฯ ที่ยังขาดการเข้าถึงของหน่วยงานของรัฐในการให้คำปรึกษา ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อนำนโยบายการส่งเสริมสุขภาพจิตสู่การปฏิบัติในสถานศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการพัฒนาคุณภาพของครูและบุคลากรทางการศึกษาในการเป็นด่านแรกให้สามารถให้การช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษา ให้ได้รับการดูแลสุขภาพจิตได้ทันต่อสถานการณ์
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการ กรมสุขภาพจิต สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และมูลนิธิกำแพงพักใจ ประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญในโครงการ “ที่พักใจให้เยาวชน” เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยและดูแลสุขภาพจิต โดยนำร่องกลุ่มนักเรียน นักศึกษาที่มีอายุ 15-25 ปี มีภูมิลำเนาตามบัตรประชาชน หรือทำงานในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 4,000 ราย ให้สามารถรับการปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เพื่อเป็นทางเลือกให้เยาวชนในกรุงเทพมหานคร ที่มีภาวะเสี่ยงซึมเศร้า เข้าถึงบริการการประเมินสุขภาพจิตทางไกล (Tele-mental health) ผลักดันเยาวชนให้เข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตถ้วนหน้า ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ผ่านช่องทางออนไลน์แอปพลิเคชันอูก้า (ooca) โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ระยะเวลาให้บริการถึงเดือนมิถุนายน 2568
ขั้นตอนในการรับบริการปรึกษาสุขภาพจิตโครงการ “ที่พักใจให้เยาวชน” มี ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 : วิธีการลงทะเบียน : ดาวน์โหลดแอป ooca ผ่านทาง App Store หรือ Google Play ซึ่งการให้คำปรึกษาทั้งหมดจะดำเนินการผ่านแอป และลงทะเบียนใช้งานด้วยการกรอกเบอร์โทรและอีเมล
ขั้นตอนที่ 2 : เลือกสิทธิกำแพงพักใจเพื่อใช้งานฟรี หรือกลับมาเปลี่ยนสิทธิ์ได้ทุกเมื่อด้วยการเลือกสัญลักษณ์ ที่หน้า home มุมขวาบน กรอกข้อมูลลงทะเบียนหมายเลขบัตรประชาชน และรอการยืนยันนัดผ่านการแจ้งเตือนในแอป
ขั้นตอนที่ 3 : รายละเอียดเกี่ยวกับบริการ โดยมีการให้คำปรึกษาฟรีจากผู้เชี่ยวชาญ 4 ครั้งต่อคน โดยมีจิตแพทย์ นักจิตวิทยา บริการในสองครั้งแรก และ อาสาสมัครดูแลใจ ที่มีประสบการณ์เพื่อให้การช่วยเหลือและคำปรึกษา ในสองครั้งที่เหลือ
ขั้นตอนที่ 4 : เตรียมตัวสำหรับนัดหมายแรก ในการปรึกษาสุขภาพจิตทางไกล (Tele-mental health)
ขั้นตอนที่ 5 : ทำแบบประเมินหลังการนัดหมาย ในการนัดหมายครั้งต่อ ๆ ไปให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
“นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ห่วงใยเด็ก เยาวชนไทย ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ พร้อมรับฟังข้อเสนอของเยาวชนเสมอ ทุกช่องทาง รวมทั้งให้การสนับสนุนทุกโครงการที่ เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่ยั่งยืนแก่เด็กและเยาวชนไทย ได้ใช้ชีวิตและเติบโตอย่างมีความสุข” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว