xs
xsm
sm
md
lg

กรมชลฯทำแผนแก้ปัญหาน้ำ 3 ปี เน้นเป้าเกิดประโยชน์หลายมิติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมชลฯเดินหน้าทำแผนแก้ปัญหาน้ำเร่งด่วน 3 ปี เล็งเป้าหมายโครงการที่เกิดประโยชน์คุ้มค่าในหลายมิติ ให้ประชาชนมีส่วนรวมมากที่สุด ป้องกันกลุ่มเสียผลประโยชน์ใช้สื่อโซเชียลขวางการทำงาน

นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน เปิดเผยกรณีที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งทำแผนแก้ปัญหาน้ำเร่งด่วนใน 3 ปี เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในเดือนนี้ ว่า ภาพรวมประเทศไทยมี 22 ลุ่มน้ำ ต้องใช้คำว่า ยังมีการพัฒนา มากบ้างน้อยบ้าง เกือบทุกลุ่มน้ำ เช่น การพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสักเขื่อนป่าสัก ซึ่งเป็นโครงการสำคัญ เนื่องจากเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 และในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงรับเป็นโครงการต่อยอด จะเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นประจำ เพราะต้นน้ำจาก จ. เพชรบูรณ์ มี 5 ลุ่มน้ำ อาทิ ลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำโขง ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำน่าน แล้วจะไหลมารวมเป็นลุ่มน้ำป่าสัก เมื่อถึงฤดูหน้าฝน จึงมีน้ำหลากมาปริมาณมาก เพียง 5-7วัน น้ำก็เข้าเต็มเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์แล้วทำให้พระองค์ท่านทรงเห็นว่า ทำไมไม่เพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำเหนือเขื่อน จึงเกิดแผนโครงการพระราชดำริ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ เป็นระยะทั้งสองฝั่งลุ่มน้ำป่าสัก ตามแนวช่องเขาค้อ โดยสร้างอ่างเก็บน้ำ 8 แห่ง

“พระองค์ท่านทรงมองว่าเป็นโครงการที่สำคัญมาก อยู่ในแผนพัฒนาของเรา ที่ต้องเร่งดำเนินการเดินหน้าโครงการพระราชดำริ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เก็บน้ำได้ถึง 15 ล้านลูกบากศ์เมตร ก็มีแผนที่จะสร้างในปี 2569 จะคอยดักน้ำไม่ปะเดปะดังมาท่วม รวมทั้งทำคลองเลี่ยงเมืองขุดขยายคลองส่งน้ำฝั่งซ้ายแม่น้ำป่าสัก เพื่อเร่งระบายน้ำ หากทำได้ทุกแห่งรวมแล้ว 22~23 รายการ จะได้ความจุ 400-500 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยที่เขื่อนป่าสักฯเก็บน้ำได้ 980ล้านลูกบาศก์เมตร ก็มากกว่าครึ่ง อันนี้จะช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาได้ด้วย พอเข้าสู่ฤดูแล้งน้ำในอ่างเหล่านี้จะไปช่วยเกษตรกร”

ฉะนั้นการพัฒนาแต่ละลุ่มน้ำต้องวิเคราะห์ ปริมาณน้ำ พื้นที่ใช้น้ำ โดยดูศักยภาพของพื้นที่ ซึ่งมองถึงความคุ้มค่า โดยแหล่งกักเก็บน้ำต้องมีองค์ประกอบอเนกประสงค์ ผลิตกระแสไฟฟ้า ช่วยพื้นที่การเกษตร และช่วยภาคอุตสาหกรรมก็ได้ เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เป็นต้น นายกรัฐมนตรีสั่งเร่งรัดโครงการน้ำให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี โดยใช้งบประมาณ 5.4 แสนล้านบาท เป็นเรื่องที่ต้องทำให้ได้ แม้ว่าการขอใช้พื้นที่สร้างแหล่งน้ำ จะมีหลายขั้นตอนและเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ เช่น การขอพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่า กว่าจะประกาศเพิกถอนได้ ยังต้องมีการเวนคืนที่ดิน จนถึงการรับฟังความเห็นประชาชน ใช้ระยะเวลาเกือบ 3 ปี หากต้องเร่งรัดขั้นตอน เป็นไปได้หรือไม่ที่จะประกาศเป็นวาระแห่งชาติ ขอใช้พื้นที่ป่าทำประโยชน์สร้างแหล่งน้ำในภาพรวมทั้งโปรเจคเสนอทำเป็นแพ็คเก็ตใหญ่ต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี จะช่วยให้เดินหน้าได้เร็วขึ้น เพราะถ้าต้องทำพันจุดจะทำอย่างไร หากขอที่ละจุดใช้เวลาเท่าไหร่ ต้องช่วยหาช่องทางลัดให้ด้วย ถ้าบอกในด้านวิศวกรรม ด้านเทคโนโลยีก่อสร้าง ตอนนี้รวดเร็วขึ้นเยอะ ไปไกลแล้ว รถผสมปูนมาทีเดียวร้อยคันยังได้

รวมทั่วประเทศ 22 ลุ่มน้ำ คาดว่ามีโครงการเร่งด่วนกว่า 350โครงการ ก็จะเลือกทำโครงการที่มีความคุ้มค่า ได้พื้นที่รับประโยชน์มาก ในกรมชลประทาน มีคณะกรรมการพิจารณาเรื่องนี้ มีข้อมูลด้านเศรษฐศาสตร์  แผนน้ำเหล่านี้ช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้ง อุทกภัย แต่จะบอกว่าไม่ให้มีน้ำท่วมสักจุดคงไม่ได้ มองว่าปัจจุบันการบริหารจัดการน้ำดีมากขึ้น ใช้วิธีแจ้งเตือน กำหนดขอบเขตพื้นที่ และให้มีพื้นที่หน่วงน้ำ เช่น บางระกำโมเดล ซึ่งการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะขณะนี้กระแสข่าวในโซเซียลมีเดีย ทำให้เกิดความสับสน จริง ๆ ชาวบ้านเดือดร้อนต้องการน้ำเป็นร้อย ๆ คน แต่คนที่อยู่พื้นที่อื่น คนที่เข้ามารุกล้ำทางน้ำชลประทาน กลับขัดขวางและสร้างให้เป็นประเด็นร้อนขึ้นมา เป็นเรื่องต้องระมัดระวัง ต้องพยายามจัดการให้ประชาชนมีส่วนร่วมให้มากที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น