xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ขัด! กทม.เก็บภาษี “โลโก้ ททบ.5 สนามเป้า” พ่วงจอ LED โฆษณา 2 นาที 3.9 แสน เหตุมุ่งประกอบการค้า ไม่เฉพาะประโยชน์ราชการทหาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มหาดไทย ไม่ขัด! กทม.จ่อเก็บภาษีป้าย โลโก้ ททบ.5 “ช่อง 5 สนามเป้า” พ่วง “จอ LED” ความสูง 10 เมตร ยาว 20 เมตร ที่เปิดให้เอกชนเก็บรายได้ค่าโฆษณา อาทิ 1 สินค้า ราคา 3.9 แสน / 2 นาที / ลูป หลัง ฝ่ายกฎหมาย มท./สถ./กทม. เห็นพ้อง “ป้าย ช่อง 5 สนามเป้า / จอ LED มุ่งใช้ประกอบการค้า กิจการอื่นเพื่อหารายได้ ไม่เฉพาะกับทางราชการ หรือเพื่อประโยชน์แก่ราชการทหาร ที่ได้ยกเว้นภาษี”

วันนี้ (6 ส.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายฯ คณะที่ 1 กระทรวงมหาดไทย ได้พิจารณาข้อหารือ “การจัดเก็บภาษีป้าย”

กรณีกรุงเทพมหานคร (กทม.) และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) มีความเห็นตรงกัน

เกี่ยวกับ “ป้ายสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (จอ LED)” ที่มีภาพฉายโฆษณาสินค้าต่างๆ ภาพลงประกาศสื่อ ให้ติดต่อลงโฆษณา สลับหมุนเวียนกับภาพกิจกรรมงานของกองทัพบก

และป้ายโลโก้ ททบ. 5 “สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ROYAL THAI ARMY RADIO AND TELEVISION STATION”

ขณะที่ สถ. เห็นว่า เนื่องจากประเด็นดังกล่าว ยังไม่เคยมีแนวทางปฏิบัติมาก่อน อีกทั้งเป็นประเด็นปัญหาข้อกฎหมาย ต้องมีความรอบคอบและถูกต้อง

จึงขอหารือคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายฯ คณะ ที่ 1 ว่า ป้าย ททบ.5 (จอ LED) ที่มีภาพฉายโฆษณาสินค้าต่างๆ ต้องเสียภาษีป้ายตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ภาษีป้าย พ.ศ. 2510 หรือไม่

กรณี กทม. และ สถ. เห็นสอดคล้องกันสรุปได้ว่า กองทัพบกจัดตั้งกิจการวิทยุโทรทัศน์ขึ้นตามคำสั่งกองทัพบก (เฉพาะ) ที่ 107 ลงวันที่ 25 ก.พ. 2500 เรื่อง ตั้งกรรมการดำเนินกิจการ วิทยุโทรทัศน์ของกองทัพบก

ซึ่งมีหน้าที่จัดทำโครงการจัดตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาการทางทหาร

สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกองทัพบก ซึ่งเป็นนิติบุคคล ตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการ กระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551

ป้ายที่สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกจัดทำขึ้น หากเป็นป้ายชื่อของส่วนราชการ หรือเป็นป้ายที่จัดทำขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์

ซึ่งเกี่ยวข้องกับทางราชการหรือเพื่อประโยชน์แก่ราชการ จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีป้าย ตามมาตรา 8(6) แห่ง พ.ร.บ.ภาษีป้าย พ.ศ. 2510

หากข้อเท็จจริง ปรากฏว่า ป้ายดังกล่าวมีภาพฉายโฆษณาสินค้าต่าง ๆ ภาพลงประกาศสื่อให้ติดต่อลงโฆษณา

“ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อใช้ในการประกอบการค้า หรือประกอบกิจการอื่น เพื่อหารายได้ จึงอยู่ในความหมายของคำว่า “ป้าย” ที่ต้องเสียภาษีป้ายตามมาตรา 6”

ซึ่งเจ้าของป้ายมีหน้าที่ต้องเสียภาษีป้ายตามมาตรา 7 และไม่ถือเป็นป้าย ของส่วนราชการที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีป้ายตามมาตรา 8(6) แห่ง พ.ร.บ.ภาษีป้าย พ.ศ. 2510

ส่วนกรณี ป้ายโลโก้ ททบ. 5 “สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ROYAL THAI ARMY RADIO AND TELEVISION STATION” ต้องเสียภาษีป้ายตาม พ.ร.บ.ภาษีป้าย พ.ศ. 2510 หรือไม่

กทม. และ สถ.มีความเห็นสอดคล้องกันสรุป ได้ว่า ททบ. 5 เป็นสถานีที่ดำเนินการโดยกองทัพบก

ซึ่งเป็นส่วนราชการ สังกัดกระทรวงกลาโหม โดยกองทัพบก ได้จัดทำป้ายชื่อสถานีดังกล่าวจึงเป็นป้ายชื่อและ เครื่องหมาย หรือตราสัญลักษณ์ ที่ส่วนราชการจัดทำขึ้น

หากข้อเท็จจริงปรากฏว่า เป็นป้ายที่จัดทำขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการประกอบการค้า หรือประกอบกิจการอื่นเพื่อหารายได้ หรือโฆษณาการค้า หรือกิจการอื่นเพื่อหารายได้อยู่ด้วย

ถือเป็นป้ายที่อยู่ในความหมายของคำว่า “ป้าย” ตามมาตรา 6 ที่เจ้าของป้ายต้องเสียภาษีป้าย ตามมาตรา 7 และไม่ถือเป็นป้ายของส่วนราชการ

ที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีป้าย ตามมาตรา 8(6) แห่ง พ.ร.บ.ภาษีป้าย พ.ศ. 2510

กทม. ได้พิจารณาเทียบเคียงกับ กรณี “ป้ายชื่ออาคารหนังสือพิมพ์ตงฮั้ว” ตามหนังสือกรมการปกครอง ที่ มท 0307/15975 ลงวันที่ 3 พ.ค. 2536

และ สถ. ได้พิจารณาประกอบข้อเท็จจริงว่า ททบ. 5 ได้มีการจัดตั้ง บริษัท ททบ. 5 จำกัด ขึ้น เพื่อเป็นกลไก ในการดำเนินธุรกิจ ให้ ททบ. 5

ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท อาร์ทีเอ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด (มหาชน) และให้บริษัท อาร์ทีเอฯ เช่าเวลา และทำการตลาดเป็นระยะเวลา 30 ปี รวมทั้งให้สิทธิต่ออายุสัญญา ได้คราวละ 10 ปี

โดยบริษัทดังกล่าว ใช้ประโยชน์ของ ททบ. 5 เพื่อการประกอบการค้าหรือ ประกอบกิจการอื่นเพื่อหารายได้

สำนักกฎหมาย สป. พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า มาตรา 6 วรรคหนึ่ง แห่งพ.ร.บ.ภาษีป้าย พ.ศ. 2510 กำหนดนิยามคำว่า “ป้าย”

หมายความว่า ป้ายแสดงชื่อ ยี่ห้อ หรือ เครื่องหมาย ที่ใช้ในการประกอบการค้า หรือประกอบกิจการอื่น เพื่อหารายไต้หรือโฆษณาการค้าหรือกิจการอื่น

เพื่อหารายได้ ไม่ว่าจะได้แสดง หรือโฆษณาไว้ที่วัตถุใดๆ ด้วยอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายที่เขียน แกะสลัก จารึกหรือทำให้ปรากฏด้วยวิธีอื่น

มาตรา 7 กำหนดให้เจ้าของป้ายต้องเสียภาษีป้าย... มาตรา 8 กำหนดให้ เจ้าของป้ายไม่ต้องเสียภาษีสำหรับป้ายดังต่อไปนี้

“(6) ป้ายของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค หรือราชการส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน”

เมื่อพิจารณาป้าย (จอ LED) ที่มีภาพฉายโฆษณาสินค้าต่างๆ และป้ายโลโก้ ททบ. 5 เห็นว่า เป็นป้าย ที่จัดทำขึ้นโดยกองทัพบก ซึ่งเป็นส่วนราชการ สังกัดกระทรวงกลาโหม

จึงเป็นป้ายชื่อและเครื่องหมาย หรือตราสัญลักษณ์ที่ส่วนราชการจัดทำขึ้น

“แต่ป้ายมีภาพฉายโฆษณาสินค้าต่างๆ ภาพลงประกาศสื่อ ให้ติดต่อลงโฆษณา นอกเหนือไปจากการฉายภาพกิจกรรมงานในราชการของกองทัพบก”

ส่วนป้ายที่มีการให้บริษัท อาร์ทีเอฯ ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล เข้ามาดำเนินธุรกิจ และใช้ประโยชน์ของ ททบ. 5 เพื่อการประกอบการค้าหรือ ประกอบกิจการอื่นเพื่อหารายได้

ดังนั้น แม้ป้ายดังกล่าว จะเป็นป้ายที่จัดทำขึ้นโดยส่วนราชการ แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการประกอบการค้า หรือประกอบกิจการอื่นหรือโฆษณาการค้าเพื่อหารายได้อยู่ด้วย

ดังนั้น ป้ายทั้ง 2 จึงอยู่ในความหมายของคำว่า “ป้าย” ตามมาตรา 6 ที่เจ้าของป้ายต้องเสีย ภาษีป้ายตามมาตรา 7

โดยไม่ถือเป็นป้ายของส่วนราชการที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีป้ายตาม มาตรา 8(6) แห่ง พ.ร.บ.ภาษีป้าย พ.ศ. 2510

เทียบเคียงความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะ ที่ 12) เรื่องเสร็จที่ 229/2553 และความเห็นคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย คณะที่ 1 ในคราวประชุม ครั้งที่ 17/2563 เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2563

จึงเห็นพ้องกับ ความเห็นของ กทม. และ สถ. ซึ่งมติที่ประชุมให้ สถ.รับความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายฯ ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

สำหรับข้อมูลราคาของการโฆษณาผ่านจอ Digital LED กรุงเทพฯ ถนนพหลโยธิน สนามเป้า บนสถานีวิทยุโทรทัศน์ทหารบก ช่อง 5 (ททบ. 5)

พบว่า อัตราค่าเช่า : 1 สินค้า : 390,000 / 1 สินค้า (2 นาที / ลูป) , 2 สินค้า : 450,000 / 2 สินค้า (4 นาที / ลูป) และ 3 สินค้า : 350,000 / 3 สินค้า (6 นาที / ลูป)

คุณสมบัติจอ LED : P10 Outdoor ขนาดจอ : สูง 10.00 เมตร x ยาว 20.00 เมตร ความละเอียดภาพ : สูง 1,440 px x กว้าง 2,560 px มีจำนวนผู้คน : 3,004,560 คน/เดือน

เวลาเปิด-ปิด : 06:00-22:00 น. (16 ชั่วโมง/วัน) การสลับภาพ : 2 นาที / 1 สินค้า / ลูป (มีสปอนเซอร์ทุกๆ 6 ลูป เป็นเวลา 2 นาที)


กำลังโหลดความคิดเห็น